‘ไทย’ คว้าอันดับ 12 ประเทศที่มีการค้าอย่างยั่งยืนดีสุดในโลก 

‘ไทย’ คว้าอันดับ 12 ประเทศที่มีการค้าอย่างยั่งยืนดีสุดในโลก 

ดัชนี STI 2024 ตระหนักถึงความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งของความท้าทายระดับโลกที่หลากหลาย และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความยืดหยุ่นในทุนและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

KEY

POINTS

  • นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีดัชนีการค้าที่ยั่งยืนสูงสุดด้วยคะแนนเต็ม 100.0 คะแนน
  • ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด ทำให้มาอยู่ในอันดับ 12 กระโดดขึ้นมา 5 อันดับ จากปี 2023
  • ดัชนีการค้าที่ยั่งยืน หรือ STI (Sustainable Trade Index) ประเมินความสามารถของเศรษฐกิจการค้าโลก 30 ประเทศ ในการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนในการค้าโดยใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความปั่นป่วนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤติสาธารณสุข ความต้องการระบบการค้าที่มีความยืดหยุ่นจึงมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคย

Hinrich Foundation องค์กรที่ผลักดันการค้าโลกที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ร่วมกัน จัดทำดัชนีการค้าที่ยั่งยืน หรือ STI (Sustainable Trade Index) ประเมินความสามารถของเศรษฐกิจการค้าโลก 30 ประเทศ ในการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนในการค้าโดยใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 72 ตัว

สำหรับดัชนีของปี 2024 เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างความยืดหยุ่นในการค้า ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติท่ามกลางการแยกส่วนของการค้าโลก รวมถึงเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าที่สำคัญที่ประเทศการค้าบางประเทศได้ดำเนินการเพื่อการค้าที่ยั่งยืน พร้อมทั้งระบุพื้นที่ที่การปรับปรุงเป็นสิ่งจำเป็น

ผลสำรวจในครั้งนี้ พบว่า นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีดัชนีการค้าที่ยั่งยืนสูงสุดด้วยคะแนนเต็ม 100.0 คะแนน ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรในอันดับที่ 2 ด้วยคะแนน 97.7 คะแนน ซึ่งทั้งนิวซีแลนด์และสหราชอาณาจักรสลับกันครองอันดับ 1 และ 2 ในทุกตัวชี้วัด และได้อันดับคงที่จากปี 2023

ออสเตรเลียได้คะแนน 87.4 ทำให้แซงขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 จากปีที่แล้วอยู่ที่อันดับที่ 5 ขณะที่สิงคโปร์ตามมาติด ๆ ในอันดับที่ 4 ด้วยคะแนน 85.7 ส่วนอันดับที่ 5 เป็นของญี่ปุ่นด้วยคะแนน 81.5 

ส่วนเกาหลีใต้และฮ่องกงครองอันดับที่ 6 ร่วมกันด้วยคะแนน 81.4 อันดับที่ 8 เป็นของแคนาดา (80.0) ไต้หวันครองอันดับที่ 9 ด้วยคะแนน 72.3 และสหรัฐอยู่อันดับที่ 10 มี 72.2 คะแนน

ในปีนี้ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด ทำให้มาอยู่ในอันดับ 12 กระโดดขึ้นมา 5 อันดับ จากปี 2023 ที่ได้อันดับ 17 ด้วยคะแนนรวม 55.4 โดยในตัวชี้วัดด้านสังคมและเศรษฐกิจไทยอยู่ในอันดับที่ 12 ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่อันดับ 19

สำหรับเกณฑ์ชี้วัดในแต่ละด้านมีดังนี้ 1.เสาหลักเศรษฐกิจ วัดจากความสามารถของเศรษฐกิจในการรับประกันและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น หนี้สาธารณะต่อจีดีพี และอุปสรรคด้านภาษีศุลกากร

2.เสาหลักสังคม วัดจากการพัฒนาทุนมนุษย์ภายในเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุขัยของประชากรและการครอบคลุมด้านสุขภาพถ้วนหน้า โดยประเทศที่ร่ำรวยมักจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ดีกว่า

3.เสาหลักสิ่งแวดล้อม วัดจากความมุ่งมั่นของเศรษฐกิจในการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวและการทำลายป่าไม้

Hinrich Foundation มุ่งหวังว่าดัชนีนี้มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจโลกที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยส่งเสริมแนวทางการค้าที่โปร่งใสและยั่งยืน นอกจากนี้ ดัชนีการค้าที่ยั่งยืนประเมินได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังสร้างสมดุลระหว่างลำดับความสำคัญที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ดัชนีนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่มีค่าสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ธุรกิจ และสังคมพลเมืองในการทำความเข้าใจและนำทางความซับซ้อนของการค้าโลกในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อเอาชนะความท้าทายด้านการค้าโลก

ที่มา: Visual CapitalistHinrich Foundation