มลพิษจาก ‘เตาแก๊ส’ คร่าชีวิตปีละ 40,000 ราย เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ-ปอด

มลพิษจาก ‘เตาแก๊ส’ คร่าชีวิตปีละ 40,000 ราย เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ-ปอด

มลพิษจากเตาแก๊สคร่าชีวิตชาวยุโรปปีละ 40,000 ราย การศึกษาพบว่า “ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์” ในเตาแก๊สเชื่อมโยงกับโรคหัวใจและปอดทำให้อายุสั้นลงเกือบสองปี

KEY

POINTS

  • เตาแก๊สเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 36,031 รายต่อปีในสหภาพยุโรป และอีก 3,928 รายในสหราชอาณาจักร  จากการสูดดม “ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์” อีกทั้งประมาณว่าเตาแก๊สทำให้เกิดโรคหอบหืดประมาณ 367,000 รายในเด็ก และ 726,000 รายในทุกกลุ่มอายุ
  • นอกจากนี้ยังปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง รั่วซึมออกมาได้อีกด้วย แม้ว่าจะปิดเครื่องอยู่ก็ตาม อีกทั้งยังมีสารมลพิษอันตรายอื่น ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ก๊าซ
  • มลพิษจะเลวร้ายที่สุดในบ้านที่มีการระบายอากาศไม่ดีและบ้านที่ใช้เวลาทำอาหารนาน

มลพิษจากเตาแก๊สคร่าชีวิตชาวยุโรปปีละ 40,000 ราย การศึกษาพบว่า “ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์” ในเตาแก๊สเชื่อมโยงกับโรคหัวใจและปอดทำให้อายุสั้นลงเกือบสองปี

จากการศึกษาครัวเรือนในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พบว่า “เตาแก๊สคร่าชีวิตชาวยุโรป 40,000 รายต่อปี ด้วยการสูดสารมลพิษเข้าไปในปอด ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงสองเท่า เนื่องจากเตาแก๊สปล่อยก๊าซอันตรายที่เชื่อมโยงกับโรคหัวใจและปอด โดยเฉลี่ยแล้วการใช้เตาแก๊สจะทำให้อายุสั้นลงเกือบสองปี แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายดังกล่าว 

“ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นร้ายแรงกว่าที่เราคิดมาก เพราะเตาทำอาหารจะเผาแก๊สหุงต้ม และขับสารอันตรายที่ทำให้ทางเดินหายใจอักเสบออกมา” ฮวนนา มาเรีย เดลกาโด-ซาโบริต หัวหน้าคณะผู้วิจัยซึ่งดูแลห้องปฏิบัติการวิจัยด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัย Jaume I กล่าว

นักวิจัยระบุว่า เตาแก๊สเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 36,031 รายต่อปีในสหภาพยุโรป และอีก 3,928 รายในสหราชอาณาจักร  อีกทั้งประมาณว่าเตาแก๊สทำให้เกิดโรคหอบหืดประมาณ 367,000 รายในเด็ก และ 726,000 รายในทุกกลุ่มอายุ

ทั้งนี้นักวิจัยประเมินเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เท่านั้น และไม่ได้พิจารณาถึงก๊าซอื่น ๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์และเบนซิน

“ย้อนกลับไปในปี 1978 เราเพิ่งรู้ว่ามลพิษ NO2 ในครัวที่ใช้แก๊สมีมากกว่าเตาไฟฟ้าหลายเท่า ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่รู้ว่าเตาแก๊สทำคนเสียชีวิตไปมากเท่าใดในแต่ละปี” เดลกาโด-ซาโบริตกล่าว 

ในปัจจุบัน มีครัวเรือนหนึ่งในสามของสหภาพยุโรปทำอาหารโดยใช้แก๊ส แต่บางประเทศก็มีสัดส่วนการใช้เตาแก๊สมากกว่านั้น เช่นในสหราชอาณาจักรสูงถึง 54% และมากกว่า 60% ในอิตาลี เนเธอร์แลนด์ โรมาเนีย และฮังการี ซึ่งทำให้บ้านเหล่านี้มักมีระดับ NO2 สูงที่สุด

อิตาลี โปแลนด์ โรมาเนีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร จึงเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากเตาแก๊สสูงที่สุด โดยมลพิษจะเลวร้ายที่สุดในบ้านที่มีการระบายอากาศไม่ดีและบ้านที่ใช้เวลาทำอาหารนาน

คุณภาพอากาศภายในอาคารเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง เนื่องจากชาวยุโรปใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน และในปัจจุบันบ้านเรือนของชาวยุโรปถูกออกแบบให้ปิดสนิทมากขึ้น ทำให้ถ่ายเทอากาศไม่ดี รับอากาศบริสุทธิ์ได้น้อยลง 

นอกจากนี้ เตาแก๊สยังปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง รั่วซึมออกมาได้อีกด้วย แม้ว่าจะปิดเครื่องอยู่ก็ตาม อีกทั้งยังมีสารมลพิษอันตรายอื่น ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ก๊าซ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ เบนซิน ฟอร์มาลดีไฮด์ และอนุภาคขนาดเล็ก

สำหรับมลพิษภายนอกอาคาร นาซาระบุว่ามลพิษ NO2 ในเมืองต่าง ๆ ในยุโรปลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากสหภาพยุโรปออกกฎการปล่อยไอเสียจากยานพาหนะและเทคโนโลยียานยนต์ แต่ NO2 ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับอันตรายที่พบในการศึกษาใหม่นี้

รายงานดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสภาพอากาศยุโรป เป็นการต่อยอดงานวิจัยเมื่อปี 2023 ที่วัดคุณภาพอากาศในบ้าน เพื่อค้นหาว่าการปรุงอาหารด้วยแก๊สทำให้มลพิษทางอากาศภายในบ้านเพิ่มขึ้นมากเพียงใด 

โดยรายงานนี้สามารถคำนวณอัตราส่วนระหว่างมลพิษทางอากาศภายในและภายนอกอาคารเมื่อปรุงอาหารด้วยแก๊ส และทำแผนที่การสัมผัสกับ NO2 ภายในบ้านได้ จากนั้นนำอัตราความเสี่ยงของโรคที่ได้จากการศึกษามาใช้ในการคำนวณจำนวนชีวิตที่สูญเสียไป

“ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นร้ายแรงกว่าที่เราคิดมาก โดยแบบจำลองของเราแสดงให้เห็นว่า บ้านทั่วไปในครึ่งหนึ่งของยุโรปละเมิดข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก มลภาวะทางอากาศภายนอกเป็นรากฐานของการละเมิดดังกล่าว แต่เตาแก๊สต่างหากที่ทำให้บ้านเรือนตกอยู่ในเขตอันตราย” เดลกาโด-ซาโบริตกล่าว 

ผลลัพธ์สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งพบว่าเตาแก๊สและโพรเพนมีส่วนทำให้ผู้ใหญ่เสียชีวิตมากถึง 19,000 รายต่อปี

สหภาพยุโรปเข้มงวดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับคุณภาพอากาศภายนอกอาคาร แต่ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศภายในอาคาร สมาพันธ์พันธมิตรสาธารณสุขยุโรป หรือ EPHA เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายเลิกใช้เตาแก๊ส โดยกำหนดขีดจำกัดการปล่อยมลพิษ เสนอให้มอบเงินสำหรับการเปลี่ยนไปใช้เตาแก๊สที่สะอาดกว่า และบังคับให้ผู้ผลิตติดฉลากความเสี่ยงต่อมลพิษบนเตาแก๊ส

“เป็นเวลานานเกินไปแล้วที่การมองข้ามอันตรายจากการใช้เตาแก๊ส เช่นเดียวกับบุหรี่ที่ผู้คนมักมองข้ามผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งที่เตาแก๊สก็ทำให้บ้านของเราเต็มไปด้วยมลพิษ” ซาร่า เบอร์ทุชชี จาก EPHA กล่าว

ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันตัวเองจากควันพิษได้บางส่วนขณะทำอาหาร โดยเปิดหน้าต่างขณะทำอาหารและเปิดพัดลมดูดอากาศ ขณะที่เดลกาโด-ซาโบริตแนะนำให้เปลี่ยนมาทำอาหารโดยใช้เตาไฟฟ้า ซึ่งสะอาดกว่า ปลอดภัยกว่า และดีต่อสุขภาพกว่า

 

ที่มา: EPHAEuro NewsThe GuardianThe New York Times