‘นิวยอร์ก’ แล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี เตือนประชาชนประหยัดน้ำ
มหานครนิวยอร์กกำลังเผชิญกับภาวะภัยแล้งครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี น้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เตือนประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ
KEY
POINTS
- ตุลาคม 2024 มีฝนตกเพียง 0.01 นิ้ว ในเซ็นทรัลพาร์ค ทำให้เดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุดของนิวยอร์ก
- นิวยอร์กอาจจะต้องเผชิญภาวะฉุกเฉินจากภัยแล้งในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่เมืองอาจออกคำเตือนภัยแล้งภายในไม่กี่สัปดาห์
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โอกาสที่ภัยแล้งจะเลวร้ายลงเพิ่มขึ้น และทำให้ภัยแล้งยาวนานขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น
อ่างเก็บน้ำที่ส่งน้ำให้แก่ผู้อยู่อาศัยในนครนิวยอร์กกว่า 8 ล้านคน มีระดับน้ำอยู่ที่ 64% ของความจุ ซึ่งต่ำกว่าระดับปรกติในเดือนตุลาคมที่ 79% หลังจากปริมาณน้ำฝนลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเดือนตุลาคม 2024 มีฝนตกในอ่างเก็บน้ำเพียง 0.87 นิ้ว เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในประวัติศาสตร์ที่ 4.12 นิ้ว
เดือนตุลาคม 2024 มีฝนตกเพียง 0.01 นิ้ว ในเซ็นทรัลพาร์ค ทำให้เดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่แห้งแล้งที่สุด และเป็นเดือนที่ไม่มีฝนตกติดต่อกันนานเป็นอันดับสอง นับตั้งแต่ที่มีการบันทึกข้อมูลในปี 1869 นอกจากนี้อุณหภูมิในนครนิวยอร์กจะสูงถึง 21 องศาเซลเซียส
“เดือนตุลาคมเป็นเดือนตุลาคมที่แห้งแล้งที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเพียงเล็กน้อย ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประกาศเฝ้าระวังภัยแล้ง และตอนนี้เราต้องดำเนินการทันที พวกเราทุกคนที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำของเมือง รวมถึงผู้บริโภค 8.3 ล้านคนในเมืองและอีก 1.5 ล้านคนในเขตตอนเหนือ จะต้องพยายามร่วมกันอนุรักษ์น้ำ” โรหิต อักการ์วาลา กรรมาธิการกรมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งนครนิวยอร์กกล่าวในแถลงการณ์
เฝ้าระวังภัยแล้ง
นครนิวยอร์กใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 4,200 ล้านลิตร ซึ่งต่ำกว่าปี 1979 ที่เป็นช่วงที่มีการใช้น้ำมากที่สุด ประมาณ 35% เป็นผลมาจากเทคโนโลยีและการปรับปรุงการตรวจจับรอยรั่ว โดยปัจจุบันนิวยอร์กซิตี้มีแผนการรับมือภัยแล้ง 3 ระดับ ระดับแรกคือการเฝ้าระวังภัยแล้ง ตามด้วยคำเตือนภัยแล้ง และภาวะฉุกเฉินภัยแล้ง
การเฝ้าระวังภัยแล้งกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐเริ่มวางแผนหาวิธีลดการใช้น้ำ และเป็นเครื่องเตือนใจให้ประชาชนตระหนักว่าจะไม่ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง และต้องประกาศใช้แผนประหยัดน้ำ ส่วนภาวะฉุกเฉินภัยแล้งจะมีความเข้มข้นขึ้นอีกระดับ จำเป็นต้องจำกัดการใช้น้ำ ซึ่งอักการ์วาลาบอกกับนักข่าวว่า นิวยอร์กอาจจะต้องเผชิญภาวะฉุกเฉินจากภัยแล้งในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่เมืองอาจออกคำเตือนภัยแล้งภายในไม่กี่สัปดาห์
ครั้งสุดท้ายที่นิวยอร์กซิตี้อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังภัยแล้งคือ เดือนธันวาคม 2544 เมื่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่เพียง 44% ซึ่งกลายเป็นคำเตือนภัยแล้งในเดือนมกราคม 2545 และกลายเป็นภาวะฉุกเฉินภัยแล้งในเดือนเมษายน 2545
ไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีในขณะนั้น ประกาศห้ามล้างรถ ห้ามฉีดน้ำบนทางเท้าด้วยสายยาง ห้ามเปิดน้ำพุ นอกจากนี้ร้านอาหารยังถูกห้ามเสิร์ฟน้ำให้ลูกค้า ห้ามลูกค้าไม่ได้ขออีกด้วย ทั้งนี้ ภาวะฉุกเฉินถูกยกเลิกในเดือนตุลาคม 2545 แม้ว่าภัยแล้งจะยังไม่สิ้นสุด และลากยาวจนถึงเดือนมกราคม 2546
ภัยแล้งในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับสภาพแห้งแล้งในปัจจุบัน สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐ (EPA) เปิดเผยนี้ว่าผู้อยู่อาศัยในนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังภัยแล้ง ซึ่งสภาพแห้งแล้งดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้
แม้ว่าชาวนิวยอร์กจะยังไม่ได้รับคำสั่งให้อนุรักษ์น้ำ แต่พวกเขาสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อช่วยรักษาน้ำในอ่างเอาไว้ โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวอาจช่วยชะลอภัยแล้ง หรืออาจโชคดีไม่เกิดภัยแล้งขึ้นเลย
นายกเทศมนตรีเอริก อดัมส์กล่าวในแถลงการณ์ว่า “สามารถเริ่มประหยัดน้ำตั้งแต่ตอนนี้ หมายความว่าเรากำลังทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถรดน้ำสวนสาธารณะและเติมสระว่ายน้ำของเราได้ในช่วงฤดูร้อน และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฉุกเฉินจากภัยแล้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น”
พร้อมแนะนำให้ชาวนิวยอร์กควรรายงาน หากพบหัวดับเพลิงมีน้ำรั่ว ไม่กดชักโครกโดยไม่จำเป็น ใช้ระยะเวลาอาบน้ำให้สั้นลง ซ่อมแซมรอยรั่ว และเปิดเครื่องล้างจานหรือเครื่องซักผ้าเฉพาะเมื่อน้ำเต็มเท่านั้น ปิดก๊อกน้ำขณะแปรงฟัน และกวาดทางเท้าแทนที่จะฉีดน้ำ
ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ ตลอดเดือนพฤศจิกายน อุณหภูมิจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยและปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าปกติ แม้ว่าจะเริ่มมีฝนตกลงมาบ้างก็ตาม
แล้งทั่วสหรัฐ
นิวยอร์กซิตี้ไม่ใช่เมืองเดียวในสหรัฐเจอกับภัยแล้ง ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม มีเพียงสองรัฐในประเทศเท่านั้นที่ประสบกับภาวะแห้งแล้งอย่างน้อยปานกลาง แต่เมื่อเข้าเดือนพฤศจิกายน ภาวะแห้งแล้งกลับเลวร้ายลงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมิดแอตแลนติก
ภัยแล้งยังคงเกิดขึ้นในรัฐต่าง ๆ ทั่วภาคตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าในเดือนกันยายน 2024 พายุเฮอริเคน “เฮเลน” จะทำให้ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ก็ตาม นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โอกาสที่ภัยแล้งจะเลวร้ายลงเพิ่มขึ้น และทำให้ภัยแล้งยาวนานขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวจากภัยแล้งในแต่ละภูมิภาคใช้เวลานานขึ้น ตามการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม
เอมีลี วิลเลียมส์ หัวหน้าคณะผู้จัดทำการศึกษาวิจัยและนักวิจัยหลังปริญญาเอกจากสถาบันวิจัยเซียร์ราเนวาดา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมอร์เซด กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โอกาสในการฟื้นตัวจากภัยแล้งเปลี่ยนแปลงไป สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะความอบอุ่นในช่วงฤดูร้อน และส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์”
ที่มา: AP News, Fast Company, Gothamist