‘นิวยอร์ก’ เพาะเลี้ยง ‘หอยนางรม’ 1,000 ล้านตัว ป้องกันน้ำกัดเซาะชายฝั่ง
นิวยอร์กตั้งเป้าหมายที่จะแพร่พันธุ์ 1,000 ล้านตัวในแหล่งน้ำของเมืองภายในปี 2035 เพื่อฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยริมชายฝั่งของเมือง ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และให้ความรู้แก่ประชาชน
KEY
POINTS
- นิวยอร์กตั้งเป้าหมายที่จะแพร่พันธุ์ 1,000 ล้านตัวในแหล่งน้ำของเมืองภายในปี 2035 เพื่อฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยริมชายฝั่งของเมือง ปรับปรุงคุณภาพน้ำ
- แนวหอยนางรม สามารถป้องกันผลกระทบจากคลื่นพายุและการกัดเซาะชายฝั่งได้
- หอยนางรมกรองน้ำจะช่วยดูดซับมลพิษ โดยหอยนางรมโตเต็มวัย 1 ตัวสามารถกรองน้ำได้ 50 แกลลอนต่อวัน
เป็นเวลานานอย่างน้อย 6,000 ปีแล้วที่ “หอยนางรม” เติบโตได้ดีในปากแม่น้ำฮัดสัน ของรัฐนิวยอร์ก แต่ด้วยมลพิษในน้ำ และมนุษย์เก็บหอยไปกินจนทำให้หอยนางรมในบริเวณนี้หายไปเกือบหมด ทำให้ในช่วงสิบปีที่ผ่าน นิวยอร์กเพาะพันธุ์ตัวอ่อนหอยนางรม 150 ล้านตัว โดยมีเป้าหมายที่จะแพร่พันธุ์ 1,000 ล้านตัวในแหล่งน้ำของเมืองภายในปี 2035 เพื่อฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยริมชายฝั่งของเมือง ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และให้ความรู้แก่ประชาชน
ใครจะเชื่อว่า แต่เดิมมหานครนิวยอร์กเคยเป็นสถานที่ที่มีหอยนางรมขึ้นชื่อมานับพันปี โดยหอยนางรมเคยเป็นอาหารหลักของชาวเลนาเป ชนพื้นเมืองของรัฐนิวยอร์ก และเมื่อชาวยุโรปได้ลิ้มลองรสชาติของหอยก็เกิดความประทับใจจนกลายเป็นของเด็ดประจำเมือง จนกลายเป็นอุตสาหกรรมหลัก
แต่การบริโภคมากเกินไปและการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและทิ้งของเสียลงในน้ำ จากการระบาดของโรคอหิวาตกโรคในปี 1849 ทำให้จำนวนหอยนางรมลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากการระบาดของโรคอหิวาตกโรคไม่นาน ก็พบว่าการกินหอยนางรมอาจทำให้ป่วยเป็นโรคไทฟอยด์ กรมอนามัยได้ปิดแหล่งเพาะพันธุ์หอยนางรมทั้งหมด โดยแหล่งเพาะพันธุ์หอยนางรมแห่งสุดท้ายในนครนิวยอร์กปิดในปี 1927
เมื่อปี 2012 นิวยอร์กเจอกับพายุเฮอริเคนแซนดี้พัดถล่มนิวยอร์กและชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า จะดูแลชุมชนและชายฝั่งได้อย่างไร และคำตอบหนึ่งที่ได้ก็คือ “หอยนางรม” ช่วยแก้ปัญหานี้ได้
การทดลองทางการศึกษาในปี 2003 พีท มาลีโนวสกี อาจารย์และนักเรียนกลุ่มหนึ่งได้เพาะพันธุ์ตัวอ่อนหอยนางรมประมาณ 30,000 ตัว ลงในบริเวณท่าเรือ เมื่อหอยนางรมรวมตัวกันและเติบโตบนพื้นผิวแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำ เช่น หินหรือเศษซากจากทะเล จะกลายเป็นแนวหอยนางรม ซึ่งสามารถป้องกันผลกระทบจากคลื่นพายุและการกัดเซาะชายฝั่งได้เพราะช่วงดังกล่าวมีพลังงานคลื่นจะเร่งขึ้นเหนือพื้นแม่น้ำ แต่แนวหอยนางรมจะสร้าง “วิฟเฟิลบอลเอฟเฟกต์” ซึ่งดูดซับโมเมนตัมส่วนใหญ่ไว้ได้
นอกจากนี้ เมื่อหอยนางรมกรองน้ำจะช่วยดูดซับมลพิษ โดยหอยนางรมโตเต็มวัย 1 ตัวสามารถกรองน้ำได้ 50 แกลลอนต่อวัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์อย่างกุ้งและหอยทากเติบโตบนเปลือกซึ่งเป็นอาหารของปลา และยังเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้วย หอยนางรมจึงเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำท่วม
หลังจากนั้น มาลีโนวสกีและนักเรียนของเขาได้ขยายขนาดและสร้างระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดเล็ก จนสามารถเลี้ยงหอยนางรมได้ 2 ล้านตัวบนท่าเทียบเรือแห่งหนึ่ง จากนั้นโครงการนี้ก็กลายเป็นโครงการริเริ่มระดับเมืองในชื่อ “Billion Oyster Project” ที่ปัจจุบันได้จับมือกับสถาบันต่าง ๆ หลายแห่ง โรงเรียนกว่าร้อยแห่ง และร้านอาหาร 75 แห่ง ช่วยได้รีไซเคิลเปลือกหอยนางรม
ตั้งแต่ปี 2021 นิวยอร์กมีหอยนางรมเพิ่มเป็น 35 ล้านตัวในแหล่งน้ำของนิวยอร์ก และเกิดโครงการริเริ่มหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ โครงการปกป้องชายฝั่งที่ชื่อว่า Living Breakwaters โดยสตูดิโอสถาปัตยกรรมภูมิทัศน์ Scape Landscape Architecture กำลังสร้างแนวหอยนางรมนอกชายฝั่งทางใต้ของเกาะสแตเทนขึ้นมาใหม่
ตามรายงานของ Scape เขื่อนกันคลื่นนี้จะมีความยาว 2,400 ฟุต ซึ่งจะช่วยกันคลื่น ลดการกัดเซาะชายหาด และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับหอยนางรม ปลาและสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ โดยคาดว่าการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนปี 2024 และติดตั้งหอยนางรมบนเขื่อนเสร็จภายในปี 2027
พิปปา บราเชียร์ สถาปนิกของโครงการกล่าวว่า “โครงการนี้ไม่ใช่แค่ลดความเสี่ยงเท่านั้น แต่พื้นที่เขื่อนทั้งช่องว่างและรอยแยกพื้นผิวที่ซับซ้อนนี้ ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และเป็นที่สำหรับให้สัตว์ตัวเล็ก ๆ และสถานที่อนุบาลสัตว์แรกเกิดได้หลบซ่อนตัวจากนักล่า
พื้นที่บางส่วนตามแนวชายฝั่งของซานดิเอโกก็ได้รับการปรับปรุงดัดแปลงใหม่ โดยเฉพาะส่วนของแอ่งน้ำขัง (Tidepool) ที่อยู่ตามแนวโขดหิน ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลุค มิลเลอร์ นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานดิเอโกกล่าวว่า “เมื่อน้ำลง คุณจะพบสาหร่ายชนิดต่าง ๆ มากมายและสัตว์ต่าง ๆ มากมายอาศัยอยู่ ทั้งในแอ่งน้ำขังและตามขอบเหล่านั้นด้วย”
บราเชียร์ กล่าวว่าชุมชนชายฝั่งอื่น ๆ ในสหรัฐที่เผชิญกับคลื่น ความเสียหาย และการกัดเซาะอาจใช้กลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐวอชิงตัน และฟลอริดาได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว แม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าก็ตาม
นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซาดิก ข่าน ยังบินลัดฟ้ามาศึกษาโครงการนี้ และมุ่งมั่นที่จะสำรวจบทบาทของหอยนางรมในแม่น้ำ ซึ่งอาจจะนำไปช่วยทำความสะอาดแม่น้ำเทมส์ ซึ่งเดิมทีเคยมีแนวหอยนางรมเคยทอดยาวเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรของปากแม่น้ำเทมส์เช่นกัน
นอกจากนี้ในบังกลาเทศ ออสเตรเลีย และฮ่องกง กำลังดำเนินการฟื้นฟูหอยนางรมด้วยเช่นกัน โดยแต่ละโครงการมีขนาดและลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการชะลอการกัดเซาะชายฝั่ง การป้องกันคลื่นพายุ หรือการปรับปรุงคุณภาพน้ำ
ที่มา: BBC, CBC, Fast Company, The Week