'บีไอจี' ชี้ 4 ปัจจัยฉุดอุตสาหกรรม ชู Climate Technology หนุนธุรกิจโตยั่งยืน
"บีไอจี" ชี้ 4 ปัจจัยหลัก ตัวฉุดอุตสาหกรรมไทย ชู "Climate Technology" หนุนสร้างความเข้าใจภาคอุตสาหกรรม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
"กรุงเทพธุรกิจ" จัดงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ และประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน งานจะจัดขึ้นในวันที่ 3 - 4 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนซึ่งครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวใน Special Talk: Generating A Cleaner Future ว่า ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวติดลบ 3% ไม่ได้เป็นเฉพาะปีนี้แต่เป็นมา 4 - 5 ปีแล้ว นั่นจึงแปลว่าอุตสาหกรรมได้หดตัวตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่กำลังจะตามมาในอนาคตข้างหน้า หากจะหาปัจจัยช่วยก็จะไม่มีเลย แต่จะมีปัจจัยด้านการแข่งขัน การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ต้นทุนทางพลังงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะนำมาสู่การเก็บภาษีคาร์บอน เหล่านี้จะเป็นปัจจัยฉุดภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้น การที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ จะกลายเป็นภาระ และไม่มีทางที่จะ low carbon ได้ ดังนั้น คำตอบที่ยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องแข่งขันกันด้วยการลดต้นทุนให้ต่ำลง โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัท จะเข้าไปช่วยในอุตสาหกรรม ซึ่งประสบการณ์มากว่า 30 ปี ด้วยเฉพาะเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
"ไม่แปลกใจที่อุตสาหกรรมมองความยั่งยืนเป็นภาระ เพราะการสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนต้องใช้ทั้งทุน และผลักดันการเข้าถึงโอกาสของสังคม ชุมชนที่แตกต่างกันได้ ถือเป็นหัวใจของธุรกิจ และเป็นโอกาส แต่ต่อไปนี้โลกจะเกิดความท้าทายเรื่องสงครามทางการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ และเรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีที่จะมา และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดนี้มีพื้นฐานมาจากแหล่งพลังงาน"
ดังนั้น หากวันนี้ความท้าทายคือ โอกาส เราจะมองว่าจะทำอย่างไรให้การผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโดยการสร้างอนาคตให้สะอาดขึ้นจะเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรม จึงต้องนำนวัตกรรมมาช่วย ทั้งเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน เทคโนโลยีไฮโดรเจน และแพลตฟอร์มการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งวันนี้ไฮโดรเจนจะเข้ามาในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 30%
ทั้งนี้ บีไอจีมองทางเลือกก็คือ ไฮโดรเจน วันนี้บริษัทแม่ของบีไอจีคือ Air Products ที่สหรัฐ ได้ลงทุนเทคโนโลยีไฮโดรเจนกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ตัวเองใหญ่พอที่จะเข้ามาช่วยกลุ่มอุตสาหกรรม จึงมองว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเปิดบลูไฮโดรเจนที่สหรัฐ ในปี 2028 จะเป็นคาร์บอนแคปเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในการกักเก็บคาร์บอน ต่อมาคือ ที่ซาอุดีอาระเบีย จะเป็นกรีนไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจะนำเข้ามาในประเทศไทยในอีกไม่ช้านี้
นอกจากนี้ บีไอจี ยังสร้างโอกาสในการลงทุนของธุรกิจที่ต้องการลดคาร์บอน โดยสิ่งที่ต้องทำคือ การวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางผ่าน Climate Technology โดยที่ผ่านมา บีไอจีได้ใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เช่น กรมสรรพสามิต โดยช่วยวางโรดแมปการปลดปล่อย และการเก็บคาร์บอน รวมถึงร่วมกับกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ toyota นำไฮโดรเจนมาใช้ในรถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แต่เป้าหมายคือ ต้องการใช้ในรถโดยสารหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ถือเป็นจุดเด่นของไฮโดรเจนตอนนี้
"เราร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย (จำกัด) แปลงรถขนส่งมาเป็นรถเชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงร่วมกับบิ๊กซี นำรถเชื้อเพลิงไฮโดรเจนไปใช้ในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม รวมถึงต่อยอดกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทดลองนำเอาไฮโดรเจนไปผสมการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น"
อย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่ความยั่งยืนโดยมุ่งลดต้นทุนจะเหนื่อยมาก และจะพังทั้งซัพพลายเชน วันนี้ทั้งอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนมาสร้างอีโคซิสเต็มโดยใส่เป้าหมายลดคาร์บอน เพื่อเกิดนวัตกรรมใหม่ สร้างความได้เปรียบ ดังนั้น หากเราสร้างสเกลของพลังงานหมุนเวียนได้ กำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างอนาคตที่สะอาดในการใช้ Climate Technology มาช่วยสร้างความเข้าใจการให้กับอุตสาหกรรมจะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์