‘เมฆ’ หายจากท้องฟ้า เพราะอุณหภูมิสูงผิดปรกติ ‘โลกร้อน’ รุนแรงกว่าเดิม
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบคำอธิบายที่น่าประหลาดใจว่า สาเหตุที่ “เมฆ” หายไปเป็นเพราะ อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันอย่างผิดปรกติ
KEY
POINTS
- ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเมฆชั้นต่ำบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเกือบทั้งหมดลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน
- เมื่อไม่มีเมฆก็จะยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น เพราะเมฆทำหน้าที่เป็นครีมกันแดดของโลก
- อัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์เริ่มลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการละลายของหิมะและน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ทำให้โลกของเรามีพื้นที่สีขาวบนโลก ที่สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์กลับคืนสู่อวกาศได้น้อยลง
เข้าสู่ “ฤดูหนาว” ท้องฟ้ามักจะมีสีฟ้าใส ไร้เมฆบดบัง แต่บางทีปรากฏการณ์นี้อาจไม่ได้เป็นเพราะฤดูหนาว เพราะล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสามารถทำให้เมฆหายไปได้เช่นกัน
วิกฤติสภาพอากาศสร้างสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดและเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ระดับน้ำทะเล ธารน้ำแข็งละลาย และคลื่นความร้อนในทะเลแตะระดับสูงสุดในช่วงไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่าทำไมอุณหภูมิจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้
นักวิทยาศาสตร์ใช้การคำนวณผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก ปรากฏการณ์สภาพอากาศ และเหตุการณ์ทางธรรมชาติ เช่น การปะทุของภูเขาไฟ แต่ก็ไม่สามารถอธิบายอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ทั้งหมด ยังเหลืออีกประมาณ 0.2 องศาเซลเซียสที่ไม่สามารถหาคำตอบได้
แต่ปริศนานี้อาจจะถูกแก้ไขแล้ว โดยทีมนักวิจัยจาก Alfred Wegener Institute Helmholtz Centre for Polar and Marine Research (AWI) ในเยอรมนี ที่ระบุสาเหตุอื่นของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน นั่นคือโลกสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์น้อยลง เนื่องจากเมฆบางประเภทกำลังหายไป
“ปัจจุบันช่องว่างที่หายไป 0.2 องศาเซลเซียส ของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในปี 2023 เป็นหนึ่งในคำถามที่ถูกถกเถียงกันอย่างเข้มข้นที่สุดในงานวิจัยด้านสภาพอากาศ” ดร.เฮลเก โกสลิง หัวหน้าคณะผู้จัดทำการศึกษากล่าว
ทีมวิจัยจาก AWI ร่วมมือกับศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (ECMWF) สร้างแบบจำลองสภาพอากาศ โดยตรวจสอบข้อมูลซึ่งย้อนกลับไปถึงช่วงทศวรรษปี 1940 พร้อมกับข้อมูลสถิติของนาซ่า พวกเขาสังเกตเห็นบางสิ่งที่ผิดปรกติ ทำให้ปี 2023 เป็นปีที่มีอัตราส่วนสะท้อน (แอลบีโด - albedo) ของดาวเคราะห์ต่ำที่สุด
“อัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์” (Planetary Albedo) เป็นศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงเปอร์เซ็นต์ของรังสีดวงอาทิตย์ที่สะท้อนกลับไปสู่อวกาศ ซึ่งหากมีอัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์ต่ำ จะทำให้โลกร้อนขึ้น และอาจอธิบายได้ว่าอุณหภูมิ 0.2 องศาเซลเซียสนั้นมาจากไหน
ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา อัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์เริ่มลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการละลายของหิมะและน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ทำให้โลกของเรามีพื้นที่สีขาวบนโลก ที่สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์กลับคืนสู่อวกาศได้น้อยลง เมื่อถึงปี 2016 ค่าดังกล่าวก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกาน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก
“การลดลงของค่าสะท้อนแสงบนพื้นผิวในบริเวณขั้วโลกคิดเป็นเพียงประมาณ 15% ของอัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์ที่ลดลงในปี 2023” ดร.โกสลิงกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ค่าสะท้อนแสงยังลดลงนอกบริเวณขั้วโลกด้วยเช่นกัน
เมื่อนักวิจัยคำนวณผลกระทบของอัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์ที่ลดลงโดยใช้แบบจำลองสภาพอากาศที่ซับซ้อน พบว่าหากไม่มีค่าสะท้อนแสงที่ลดลง อุณหภูมิเฉลี่ยในปี 2023 จะลดลงประมาณ 0.23 องศาเซลเซียส
ทีมวิจัย AWI ได้ระบุว่าผลกระทบสำคัญที่เกิดจากอัตราส่วนสะท้อนของดาวเคราะห์ คือ เมฆชั้นต่ำที่อยู่ทางเหนือและเขตร้อนลดลง เห็นได้จากในมหาสมุทรแอตแลนติกมีเมฆประเภทนี้น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการบันทึกอุณหภูมิที่ผิดปรกติมากที่สุดในปี 2023
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเมฆชั้นต่ำบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเกือบทั้งหมดลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณแอตแลนติกเหนือฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น” ดร.โกสลิงกล่าว
สอดคล้องกับข้อมูลจาก NASA และ ECMWF ที่พบว่าปริมาณเมฆชั้นต่ำลดลง แต่ปริมาณเมฆชั้นกลางและเมฆชั้นสูงแทบจะไม่ลดลงเลย
เมฆทุกชนิดมีส่วนช่วยให้โลกเย็นลง เนื่องจากสามารถสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ออกไปจากโลก แต่เมฆชั้นสูงที่ก่อตัวในชั้นบรรยากาศที่เย็น จะทำหน้าที่เหมือนผ้าห่ม กักเก็บความอบอุ่นจากด้านล่างไว้ ส่วนเมฆชั้นต่ำ ซึ่งก่อตัวภายในระยะ 2 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก จะทำหน้าที่สะท้อนรังสี แต่ไม่ได้กักเก็บความร้อนมากนัก
ดร.โกสลิงเชื่อว่า การที่เมฆชั้นต่ำลดลงมีผลมาจากหลายปัจจัยรวมกัน อันดับแรกคือ ปริมาณละอองลอยในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric aerosol) ลดลง จนไม่สามารถดูดซับความชื้นในบรรยากาศก่อตัวเป็นเมฆได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการลดมลพิษจากการขนส่ง ที่มุ่งลดการปล่อยซัลเฟอร์อันเป็นอันตรายของอุตสาหกรรม แม้ว่านี่จะเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่มลพิษประเภทนี้ยังช่วยทำให้โลกเย็นลง โดยทำให้เมฆมีสีสว่างขึ้น
“เนื่องจากอนุภาคกำมะถันเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสของการควบแน่นของเมฆ จึงทำให้เมฆมีความสว่างขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้นด้วย” กอสลิงอธิบายถึงอนุภาคกำมะถัน
นอกจากนี้ความแปรปรวนตามธรรมชาติในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ รวมไปถึงรูปแบบของมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไปอาจมีส่วนทำให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน อีกทั้งภาวะโลกร้อนอาจเปลี่ยนแปลงการก่อตัวของเมฆระดับต่ำได้เช่นกัน
เมฆชั้นต่ำมักจะก่อตัวได้ดีในชั้นบรรยากาศที่เย็นและชื้น เมื่อพื้นผิวของโลกร้อนขึ้น อาจทำให้เมฆบางลงหรือสลายตัวไปโดยสิ้นเชิง ส่งผลให้เกิดวงจรป้อนกลับที่ซับซ้อน เมฆระดับต่ำจะหายไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน และเมื่อไม่มีเมฆก็จะยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น เพราะเมฆทำหน้าที่เป็นครีมกันแดดของโลก