บันไดสู่ Net Zero : โอกาสและความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
บันไดสู่ Net Zero : โอกาสและความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ดีกว่า โดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
ในศตวรรษที่ 21 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก
รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1.45 องศาเซลเซียส และอาจเพิ่มมากกว่า 1.5-4.4 องศาเซลเซียส หากไม่ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ
อะไรจะเกิดขึ้นหากอุณหภูมิโลกทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส จำนวนผู้หิวโหยทั่วโลกอาจเพิ่มเป็น 870 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 1,059 ล้านคน เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าผู้หิวโหยทั่วโลกคงมากมายมหาศาลเมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส กระทบต่อพืชที่เป็นต้นกำเนิดแหล่งอาหารสำหรับคนทั่วโลกอย่าง ข้าวโพด และข้าวสาลี ที่จะสูญเสียอัตราการผลิต 3-20% และ 9-20% ตามลำดับ ปริมาณสัตว์ทะเลก็จะลดลงถึง 0.8-15%
สอดคล้องกับรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติปีนี้ ที่สภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็น 1 ใน 3 เรื่องร่วมกับ การยุติความหิวโหย และการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีความคืบหน้าถดถอยถึง 17%
ผลกระทบนี้อาจเป็นหายนะทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อลูกหลานของพวกเราทุกคนอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติ เป็นหมุดหมายอย่างเป็นรูปธรรมของการตอบโจทย์ความท้าทายนี้ ข้อตกลงเรียกร้องให้เป้าหมายการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็น “ภารกิจระดับประเทศ” ของ 196 ประเทศทั่วโลก (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) นำไปสู่การดำเนินการเพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้สหประชาชาติยังบรรจุให้หัวข้อสภาพภูมิอากาศเป็น 1 ใน 5 หัวข้อที่ “ทุกฝ่าย” ต้องเร่งผลักดันเป็นพิเศษ (Forward Faster) และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะถูกพูดถึงใน World Economic Forum 2025 คือ Climate Change แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ไม่ใช่แต่ระดับประเทศ แต่เป็นภารกิจสำคัญระดับโลก และความท้าทายก็คือการพบว่า เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถลดคาร์บอนได้เพียง 66% ของเป้าหมาย Net Zero เท่านั้น
การกำจัดคาร์บอน-Decarbonization หรือกระบวนการลดหรือกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ จึงกลายมาเป็นวาระสำคัญที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีทรัพยากร องค์กรความรู้ และบุคลากรจำเป็นต้องขับเคลื่อน
สำหรับการดำเนินการควรมี “เทคโนโลยี” เป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายภาคส่วนได้พัฒนาต่อยอดเพื่อตอบสนองต่อความท้าทาย โลกยุคใหม่จึงควรพัฒนาเทคโนโลยี 5 ด้าน เพื่อนำไปสู่การกำจัดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย
- Green Hydrogen – ไฮโดรเจนสีเขียว เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมในกระบวนการผลิต ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุด หรือไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย
- Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) หรือการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการจัดเก็บคาร์บอน คือกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ฟอสซิลในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น
- AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ในบริบทของเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การคำนวณเส้นทางที่ดีที่สุดในการขนส่งสินค้า (Route Optimization) และการเกษตรกรรมแบบแม่นยำ (Precision Farming)
- พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแตกต่างจากพลังงานฟอสซิลอื่นๆ ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้งยังทำให้การผลิตไฟฟ้าซึ่งจะเป็นที่ต้องการมากในอนาคต มีความเสถียร และไม่ผันผวน เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ พลังงานสะอาด
- Gene Modification หรือการปรับแต่งพันธุกรรม พัฒนาพืชที่ดูดซับคาร์บอน และไนโตรเจนในอากาศ เพื่อลดการใช้ปุ๋ย และสารเคมี ลดพื้นที่ปลูก พัฒนาพลังงานชีวมวลจากพืช และเพิ่มคุณค่าทางอาหาร
SBTi (Science Based Targets Initiative) เป็นกลไกที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ ตั้งเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งเป้าหมายที่มีพื้นฐาน “ทางวิทยาศาสตร์” (Science-based) เสริมข้อมูลด้านเทคโนโลยีว่า การบรรลุ Net Zero ต้องใช้ “พลังงานสะอาด” 3 เท่า และเพิ่ม “ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน” เป็น 2 เท่า
พลังงานนิวเคลียร์ และไฮโดรเจนสีเขียว 2 ใน 5 เทคโนโลยีที่ได้นำเสนอไปข้างต้น จึงเหมาะสมที่เป็นทางออก โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์ ที่เคยเป็นคำพูดที่เป็นตราบาป แต่ในวันนี้พลังงานนิวเคลียร์ที่เรากำลังพูดถึงเพื่อบรรลุ Net Zero นับเป็นพลังงานนิวเคลียร์เพื่อพลังงาน ไม่ใช่พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสงคราม จึงควรเป็นเทคโนโลยีที่ควรนำมาศึกษาต่อยอดต่อไป
ที่ผ่านมาบริษัทชั้นนำระดับโลกได้ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำพาองค์ไปสู่ Net Zero อาทิ Alphabet Google ตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี 2030 Amazon และ Walmart ตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี 2040 Bayer และ Nestle ตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 เป็นต้น โดยบริษัทชั้นนำมักมีแนวทางบรรลุ Net Zero แตกต่างกันไป อาทิ การซื้อไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ให้ผู้จัดหา หรือผู้จำหน่าย (Supplier) ใช้พลังงานสะอาด ตั้งเป้าใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% เป็นต้น
สำหรับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ที่ผ่านมาเครือฯ สามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 0.6 ล้านตัน ในปี 2023 หรือราว 5.82 ล้านตัน ต่ำกว่าปี 2021 หรือ 2 ปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 6.42 ล้านตัน
นี่เป็นหนึ่งในความสำเร็จของเครือซีพี ที่ยังคงมุ่งมั่นลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะธุรกิจยังคงเติบโต ผ่านการลดการปล่อย และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร (Scope 1) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2)
ตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง เป็นพันธกิจที่หน่วยธุรกิจในเครือทุกหน่วย จำต้องเดินหน้าร่วมกัน โดยนับจากปีนี้ ตัวเลขจะค่อยๆ ลดลงในทุกๆ ปีดังที่คาดการณ์ไว้ อาทิ ปี 2025 เป้าหมายอยู่ที่ 4.02 ล้านตัน ปี 2026 เป้าหมายลดลงเหลือ 3.41 ล้านตัน ปี 2027 เป้าหมายลดลงเหลือ 2.81 ล้านตัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยเป็น 1.0 ล้านตัน ในปี 2030
การเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จึงมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน และยั่งยืน
ที่ผ่านมาแนวทางบรรลุ Net Zero และ Carbon Neutral เครือซีพี ได้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 50 ของพลังงานทั้งหมด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อหน่วยรายได้เป็นร้อยละ 20
นอกจากนี้ ซีพี ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปิง-วัง-ยม-น่าน ในปี 2559 ถือเป็นตัวอย่างการร่วมรับมือต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายพันธมิตร (Third Party) โครงการสามารถฟื้นฟูป่าได้ 11,988 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3,648 ราย พร้อมกับสนับสนุนการเปลี่ยนป่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล สร้างรายได้ให้คนรักษาป่า
เช่นเดียวกับโครงการ SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน ที่ริเริ่มในปี 2560 ดำเนินงานเพาะฟัก และอนุบาลสัตว์น้ำ 7 จังหวัด มีสัตว์น้ำวัยอ่อนปล่อยสู่ทะเล 9,120 ล้านตัว ประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้เพิ่มร้อยละ 125 ส่งเสริมความยั่งยืนของระบบนิเวศทะเล และชายฝั่ง ให้ “คนอยู่ได้ ธรรมชาติอยู่ดี”
อย่างไรก็ตาม การเดินทางสู่ความยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายในปี 2573 ยังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะวาระการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3) ซึ่งเป็นสิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งใจมุ่งมั่น ผ่านเป้าหมายสำคัญดังนี้
- ลดคาร์บอนร่วมกับคู่ค้า 25% ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับคู่ค้า ในลักษณะสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchasing Agreement) เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับคู่ค้าลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ มีฉลากแสดงให้เห็นว่า การผลิตของผลิตภัณฑ์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเกณฑ์ที่กำหนด
- ลดการปล่อยก๊าซจากเกษตรกรรม 30% ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกนาข้าวเปียกสลับแห้ง เพื่อประหยัดการใช้น้ำภาคเกษตรกรรม มีน้ำเหลือไปปลูกพืชอื่นๆ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับพันธมิตร และภาคีเครือข่าย ลดคาร์บอนจากการปลูกพืชไร่ 3.5 ล้านไร่ (ข้าว ข้าวโพด และอื่นๆ)
- ลดคาร์บอนจากการขนส่ง 25% ปรับเปลี่ยนการใช้รถบรรทุกขนส่งเป็นรถไฟฟ้า (EV) หรือไฮโดรเจน พัฒนาระบบบริหารจัดส่งให้มีประสิทธิมากขึ้น (Logistic Management System)
สำหรับเป้าหมายระยะยาว เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังต้องขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ทั้ง Small Modular Reactor (SMR) หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กเพื่อสามารถผลิตพลังงานได้ตามความต้องการ ไฮโดรเจนสีเขียว และการดักจับ การใช้ประโยชน์และการจัดเก็บคาร์บอน
ท้ายที่สุด แม้เป้าหมาย Net Zero จะยังเป็นความท้าทาย แต่ทุกสิ่งที่เราร่วมกันทำ จะเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน และยืนอยู่บนพื้นฐานของ ความยั่งยืน เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับความรับผิดชอบของภาคเอกชน ที่จะเดินหน้าปกป้องสังคม และสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจึงกลายเป็นเนื้อเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราทุกคนในฐานะองค์กรควรลุกขึ้นเป็นแบบอย่างในการเดินหน้าสู่เส้นทางที่สร้างแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนความยั่งยืน ให้ลูกหลานของเราได้ก้าวไปสู่การมีชีวิตที่ดี และสังคมที่เปี่ยมด้วยความผาสุก โดยยึดมั่นในภูมิปัญญาแห่งความยั่งยืนเป็นหลัก