IRPC ยกระดับพลังงาน ลดคาร์บอน 20% เกิดขึ้นจริง 2030

IRPC ยกระดับพลังงาน ลดคาร์บอน 20% เกิดขึ้นจริง 2030

"ธุรกิจพลังงาน" เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกมองว่าเป็นตัวการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกันก็เป็นความหวังในการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศ ผ่านการดำเนินธุรกิจ โครงการ และกิจกรรมต่างๆ

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีทั้งโรงงานปิโตรเลียม และโรงงานปิโตรเคมี พร้อมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจทั้งท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน และโรงไฟฟ้า ซึ่ง IRPC ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการความยั่งยืน มุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเชิงนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลยุทธ์ความยั่งยืน 3Cs Strategy

นายจักรวาล เพิ่มญาณวรรธนะ ผู้ชำนาญการ แผนกลยุทธ์และความยั่งยืน IRPC กล่าวว่า เนื่องจากเราเป็น บริษัทพลังงาน ซึ่งประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 378 ล้านตัน เราเป็นเพียงร้อยละ 1 ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ต้องโฟกัสเพราะถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

"ตั้งแต่ปี 2564 IRPC เริ่มมีการจัดทำแผนกลยุทธ์และความยั่งยืน รวมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะ ทำให้มีการกำหนดกลยุทธ์ความยั่งยืน 3 กลุ่ม หรือ 3Cs Strategy ได้แก่ Climate Change, Circular Economy และ Creating Shared Value" นายจักรวาล กล่าว

IRPC ยกระดับพลังงาน ลดคาร์บอน 20% เกิดขึ้นจริง 2030

ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20

นายจักรวาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ Climate Change Strategy นั้น IRPC ได้กำหนดเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20 ภายในปี 2573 ว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยจะต้องมีการคํานึงถึงเจตนารมณ์ในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และบริษัทในกลุ่มของอุตสาหกรรม ศักยภาพทางเทคโนโลยี และความสามารถในการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2603 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดําเนินธุรกิจของบริษัทฯ

เป้าหมายของ IRPC แบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว เป้าหมายระยะสั้นคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Greenhouse Gas 20% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ปี 2603 (ค.ศ.2060)

"การมุ่งสู่ความยั่งยืนคือ กระบวนการของ Decarbonization Pathway ผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน 3C ประกอบด้วย Climate Change, Circular Economy และ Creating Shared Value โดยบริษัทมีเวลาอีก 6 ปี ที่จะได้ดําเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสั้นภายในปี 2030 หรือประมาณ 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แบ่งตามสัดส่วนวิธีการ ดังนี้ 1.) การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน Energy Efficiency 10% 2.) พลังงานไฮโดรเจน Blue/Green H2 20% 3.) กระบวนการกักเก็บพลังงาน CCUS หรือ Carbon Capture Utilization and Storage 30% 4.) การใช้พลังงานสะอาด Renewables 20% 5.) มุ่งนวัตกรรมใหม่ที่ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนต่ำ และเศรษฐกิจหมุนเวียน New stream product & Circular economy 10% และ 6.) โครงการปลูกป่า Forestation 10%" นายจักรวาล กล่าว

IRPC ยกระดับพลังงาน ลดคาร์บอน 20% เกิดขึ้นจริง 2030

ธุรกิจดีกับคนดีต้องไปด้วยกัน

นายจักรวาล กล่าวเพิ่มอีกว่า เมื่อก่อนธุรกิจดีกับคนดีหรือความยั่งยืนนั้นแยกกัน แต่ปัจจุบันต้องเดินไปพร้อมกัน ซึ่งการขับเคลื่อนความยั่งยืนต้องมีแผนการลงทุนและบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นโจทย์จะทำอย่างไรให้เรื่องของ Decarbonization ไปอยู่ในกลยุทธ์ เป้าหมายการลงทุน เพราะธุรกิจจะลงทุนเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องทำเรื่องของสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย นี่คือโจทย์สำคัญของ ธุรกิจพลังงาน และปิโตรเคมีที่ลงทุนแล้วต้องได้กำไรและ ลดคาร์บอน ด้วย

อย่างไรก็ตาม IRPC ได้กำหนดลดคาร์บอนร้อยละ 20 หรือ 800,000 – 1,000,000 ล้านตัน ให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งสามารถเป็นไปได้ เพราะยังมีการลงทุนด้วยกิจกรรมประหยัดพลังงาน เช่น การปลูกป่า ซึ่งอยู่ในวิสัยที่บริษัทฯ ลงทุนได้ แต่หลังจากนี้คงต้องใช้เวลาเพื่อรอให้เทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น และต้นทุนต่ำลง

ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เร็ว ให้ได้ 

นายจักรวาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางบริบทของบริษัทที่ผลประกอบการไม่ค่อยดี เนื่องจากธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีมีการขาดทุนพอสมควร ซึ่งเป็นโจทย์ของธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีที่จะต้องคำนึงถึงธุรกิจ และต้องทำเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยส่วนตัวเชื่อว่าอนาคตโลกจะเลือกธุรกิจที่อยู่ได้ต่อไป บริษัทที่ไม่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืน เช่น บริษัทที่ผลิตน้ำมันจะลดลง IRPC ถ้าจะอยู่ต่อไปต้องทรานส์ฟอร์มไปสู่องค์กรสีเขียว และลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ หากทรานส์ฟอร์มไม่ได้ก็จะอยู่ไม่ได้

"Net Zero จะเกิดเร็วขึ้น ซึ่งดูได้จากสภาพอากาศ และประเทศไทยเปราะบางในเรื่องเหล่านี้ และอนาคตจะส่งผลมากขึ้นต่อภาคธุรกิจ และทุกคนจะโฟกัสพลังงาน เพราะเป็นแหล่งใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น จำเป็นที่ IRPC ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เร็ว ให้ได้ โดยต้องมองอนาคตร่วมด้วย หากอยากให้บริษัทอยู่ต่อไปได้" นายจักรวาล กล่าว

ทั้งนี้ จากการทำงานเรื่องนี้มาแล้ว 3 ปี IRPC พบว่า ปีแรก (2566) ที่ดำเนินการเราลดได้ 1% ปีที่สอง (2567) คือปีนี้เราลดได้อีก 3% หรือ 130,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมที่ลดได้สะสมราว ๆ 4% ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นหลัก ส่วนปีที่ 3 (2568) เราตั้งเป้าลดไว้ที่ 4% และจะมีการลดลงจากมีนัยสำคัญจากการปรับปรุงประสิทธิภาพในช่วงที่โรงงานมีการซ่อมบำรุงใหญ่ในปี 2570 พูดถึง 10% แรกไม่ยาก แต่หลังจากนั้นมันจะยากเป็นทวีคูณ แต่เรายังมีความมั่นใจว่าทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

IRPC ยกระดับพลังงาน ลดคาร์บอน 20% เกิดขึ้นจริง 2030

คิดนวัตกรรม สร้างผลกระทบเชิงบวก

ในส่วนของ Circular Economy Strategy ทางบริษัทฯ นั้น คิดค้นวัตกรรมเพื่อการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและนําของเสียกลับมาเพิ่มมูลค่า (Turning Waste into Value) โดยได้ตั้งเป้าระยะสั้นในการรักษานโยบายการฝังกลบของเสียอันตรายเป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ สร้างมูลค่าเพิ่มจากของเสีย ทั้งของเสียอุตสาหกรรม (PIR) และของเสียจากการบริโภค (PCR) เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล มากกว่าร้อยละ 95 ในปี 2583

สุดท้าย Creating Shared Value Strategy การสร้างผลกระทบทางบวกต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ผ่านผลิตภัณฑ์ที่เน้นสุขอนามัยปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายว่าชุมชนและสังคมจะได้รับการพัฒนาโครงการที่สร้างคุณค่าร่วม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยบริษัทฯ วัดมูลค่าทางสังคมที่เกิดจากการดําเนินกิจกรรมของบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังมีการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) เพื่อใช้ตัดสินใจการดําเนินโครงการด้านสังคมในอนาคต เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่ IRPC กําลังดําเนินการนั้นสร้างคุณค่าต่อชุมชน สังคม ควบคู่กับการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงลดคาร์บอน

นายจักรวาล กล่าวเพิ่มอีกว่า การทำเรื่องของคาร์บอน ความยั่งยืน ต้องมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ IRPC ได้ศึกษาปรับปรุงเครื่องมือ เครื่องจักร โดยจะเปลี่ยนแปลงในปี 2027 นอกจากนั้น ยังจัดทำ ESG แพลตฟอร์มเป็นรายแรกในประเทศไทย ESG เพื่อรวบรวมข้อมูลเข้าระบบ มีการประมวลผล ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานของบริษัท อย่างเป็นระบบ ครบถ้วน และรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ได้พัฒนาผลิตเม็ดพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดการกลบฝัง ในปี 2566 ได้พยายามนำเม็ดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้ร้อยละ 10 และเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2030 หรือการผลิตเม็ดพลาสติก POLIMAXX PP Spunbond และ PP Meltblown (พีพี สปันปอนด์ และพีพี เมลต์โบลน) สำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย เช่น หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่างๆ ที่มีความปลอดภัยสูงเพราะไม่มีสารทาเลต (Phthalate free) โครงการ Solar Rooftop และโครงการ Solar Farm เพื่อใช้สําหรับกระบวนการผลิตในโรงงานต่อไปในอนาคต

IRPC ยกระดับพลังงาน ลดคาร์บอน 20% เกิดขึ้นจริง 2030

ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนต่ำ

IRPC ยังแสวงหานวัตกรรมที่ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนตํ่า ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนตํ่า โดยในปี 2566 บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมต่อยอดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต กับบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Returnable Equipment) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเดินหน้าโครงการนําร่องรีไซเคิลพลาสติกผ่านผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างลังนํ้าและโซดาขวดเปลี่ยน ผลิตจาก rPET และ rHDPE พาเลท (Pallet) ผลิตจาก rHDPE และกากมอลต์

รวมถึงการสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาด อาทิ ธุรกิจท่อและโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เม็ดพลาสติก POLIMAXX HDPE 100 RC ใช้ในการผลิตท่อทนต่อแรงดันและรับแรงกระแทกสูง ตามมาตรฐาน EN1555-2021 อายุใช้งานยาวนานถึง 50 ปี สามารถติดตั้งท่อแบบเจาะลอดใต้ผิวดิน ช่วยลดปัญหาการขุดเจาะและเปิดหน้าดิน ลดการใช้พลังงานและ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการติดตั้ง และผลิตเม็ดพลาสติก POLIMAXX PPR ใช้ในการผลิตท่อที่ทนต่อแรงขีดข่วนและแรงดัน ทนต่อสารเคมีได้มากกว่าท่อนํ้าประปาทั่วไป เป็นต้น

ทุกคนร่วมสร้างความยั่งยืน

"IRPC" มีความมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และความยั่งยืน เรื่องของความยั่งยืนถือเป็นโอกาสของธุรกิจ โดยธุรกิจต้องพยายามปรับเปลี่ยนให้สอดคล้อง และมีการสร้างความร่วมมือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

"ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกได้ โดยต้องเริ่มจากการเปลี่ยน Mindset ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่รอคอยไม่ได้ เป็นภารกิจของทุกคนร่วมกัน และต้องเริ่มจากตัวเราเอง ถ้าทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนจะเกิดขึ้นจริงได้" นายจักรวาล กล่าวทิ้งท้าย

IRPC ยกระดับพลังงาน ลดคาร์บอน 20% เกิดขึ้นจริง 2030 IRPC ยกระดับพลังงาน ลดคาร์บอน 20% เกิดขึ้นจริง 2030