‘ลานีญา’ มาแล้ว แต่ไม่รุนแรงอย่างที่คาด ‘ไทย’ เตรียมรับฝน - อากาศเย็น

‘ลานีญา’ มาแล้ว แต่ไม่รุนแรงอย่างที่คาด ‘ไทย’ เตรียมรับฝน - อากาศเย็น

ปรากฏการณ์ “ลานีญา” ก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาดไว้ และไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาสภาพอากาศมากนัก

KEY

POINTS

  • “ลานีญา” มาแล้วเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาด แม้จะมาช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
  • ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียมีฝนตกหนัก และอุณหภูมิจะลดลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า
  • นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ทำไมการพยากรณ์ในรอบนี้ถึงคลาดเคลื่อนไปมาก

หลังจากรอคอยมาตลอดปี 2024 ในที่สุดปรากฏการณ์ “ลานีญา” ก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาดไว้ และไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาสภาพอากาศมากนัก ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารบรรยากาศ และมหาสมุทรแห่งชาติสหรัฐ (NOAA)

ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ขั้วตรงข้ามของ “เอลนีโญ” ทำให้ผืนน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณเส้นศูนย์สูตรเคลื่อนตัวอย่างไม่สม่ำเสมอ และเย็นลงอย่างผิดปกติ ส่งผลให้รูปแบบสภาพอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป

ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งล่าสุดสิ้นสุดลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2024 และนักพยากรณ์อากาศทั่วโลกต่าง คาดว่าลานีญาจะเกิดขึ้นภายในปี 2024 แต่ลานีญาก็ไม่มาตามที่คาดไว้ เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลกอุ่นขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

จากข้อมูลตัวชี้วัด “NINO3.4”  ที่ใช้ในการกำหนดว่าในตอนนี้โลกกำลังอยู่ในปรากฏการณ์เอลนีโญหรือลานีญา หรืออยู่ในสภาวะเป็นกลาง ซึ่งพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.9 องศาเซลเซียส ซึ่งยังไม่ถึงกว่าเกณฑ์ลานีญาที่กำหนดไว้ที่ 0.8 องศาเซลเซียส 

โดยทั่วไปแล้วลานีญามักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว มีจุดสูงสุดในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นจะค่อยๆ เบาลงในช่วงฤดูร้อน แต่ในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากลานีญาในรอบนี้เกิดขึ้นช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 75 ปีที่เกิดขึ้นช้าขนาดนี้ (ครั้งแรกคือ ช่วงปี 2008-2009)

มิเชลล์ เลอโรซ์ หัวหน้าทีมสำรวจปรากฏการณ์เอลนีโญของ NOAA กล่าวว่า “ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมปรากฏการณ์ลานีโญจึงเกิดขึ้นช้ามาก ฉันไม่สงสัยเลยว่าทำไมลานีญาถึงกลายเป็นหัวข้อวิจัยจำนวนมาก”

การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศอันเกิดจากการเย็นตัวลงในมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้รูปแบบสภาพอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ แคลิฟอร์เนีย ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือมักจะเผชิญกับฤดูหนาวที่มีฝนตกชุกในช่วงปรากฏการณ์ลานีญา ขณะที่ทางตอนใต้ของรัฐจะแห้งแล้งกว่าปกติ 

สภาพอากาศสุดขั้ว” เหล่านี้ส่งผลอย่างมาก โดยแคลิฟอร์เนียตอนเหนือมีฝนตกหนัก ในขณะที่ทางตอนใต้แห้งแล้งมาก จนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิด “ไฟป่าลอสแอนเจลิส” ที่กำลังเกิดอยู่ในตอนนี้ นับเป็นไฟป่าครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ลานีญายังมักส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้นในแถบมิดเวสต์ โดยเมืองใหญ่ในแถบมิดเวสต์ เช่น เซนต์หลุยส์ อินเดียนาโพลิส และซินซินแนติ กำลังเจอกับฤดูหนาวที่มีฝนตกมากที่สุดครั้งหนึ่งตั้งแต่มีการบันทึกมา แต่ก็อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เสริมด้วยเช่นกัน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจทำให้พื้นที่เกษตรกรรมในอาร์เจนตินา และบราซิลมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะตรงกับช่วงเพาะปลูก ถ้าหากขาดแคลนน้ำก็อาจจะทำให้ผลผลิตหลายชนิด เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพด เสียหายล้มตาย จนเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยิ่งจะซ้ำเติมเกษตรกรที่กำลังดิ้นรนกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รวมถึงราคาผลผลิตต่ำ และสกุลเงินแข็งค่า ทำให้พวกเขามีกำไรต่ำสุดในรอบทศวรรษ

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย มีฝนตกหนักมากถึง 90% อีกทั้งอุณหภูมิจะลดลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากเมฆ และฝนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความเข้มของแสงแดดที่ส่องเข้ามาลดลง

ทั้งนี้คาดว่าปรากฏการณ์ลานีญาจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนเมษายน ก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่สภาวะที่เรียกว่าเป็นกลาง ที่ไม่ใช่ทั้งลานีญาหรือเอลนีโญอีกครั้ง แต่อาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนครั้งก่อนๆ 

เปโดร ดีเนซิโอ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ลานีญายังมีแนวโน้มที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกลดลงด้วย แม้ว่าผลกระทบของการเย็นลงนี้จะแปรผันตามความรุนแรงของเหตุการณ์ แต่อุณหภูมิในส่วนต่างๆ ของโลกก็ยังสูงค่าเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดขึ้นช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะในปีที่เกิดเอลนีโญที่รุนแรง แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นช้ากว่าที่นักพยากรณ์อากาศทำนายไว้หลายเดือน ถึงว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกิดบ่อยนัก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าทำไมการพยากรณ์ในรอบนี้ถึงคลาดเคลื่อนไปมาก และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีส่วนทำให้เหตุการณ์ล่าช้าหรือไม่

 

ที่มา: ABCAP NewsBloombergCNNThe Conversation

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์