ASIFMA เผย 'ไทย' รองบ๊วยในเอเชีย ผลจัดอันดับประเทศทำธุรกิจง่าย
ASIFMA เผยไทยอยู่ในอันดับ 12 "รองสุดท้าย" ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ของผลสำรวจ Ease of doing business ด้านตลาดเงินตลาดทุน
สมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ และตลาดการเงินแห่งเอเชีย (ASIFMA) เปิดเผยรายงานผลสำรวจความเห็นการทำธุรกิจใน 13 เขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ปี 2566 พบว่า ในหมวดมุมมองต่อเรื่อง "ความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจ" (Ease of doing business) "ประเทศไทย" อยู่ในอันดับที่ 12 หรือในกลุ่มท้ายตารางโดยเป็นรองเพียงแค่เวียดนามเท่านั้น และผลการจัดอันดับของไทยยัง "ลดลงต่อเนื่องทุกปี" จากอันดับ 9 ในปี 2565 และอันดับ 5 ในปี 2564 ซึ่งเป็นการสำรวจปีแรกของ ASIFMA
ผลสำรวจระบุว่า ประเทศไทยร่วงลง 3 อันดับจากปีก่อนหน้า และยังเป็นประเทศเดียวในกลุ่มที่มีผลการจัดอันดับด้านนี้ลดลงทุกปี ส่วน "เวียดนาม" อยู่ในอันดับสุดท้ายของตารางมา 3 ปีติดต่อกันไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่แชมป์สามอันดับแรกได้แก่ "สิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย"
ฮ่องกงนั้นขยับขึ้นมาทวงที่ 2 ได้อีกครั้ง ส่วน "ญี่ปุ่น" หลุดจากท็อป 3 ไปเป็นที่ 5 ในขณะที่ "เกาหลีใต้" ร่วงลง 3 อันดับเป็นที่ 8 หลังจากออกมาตรการห้ามการขายชอร์ตเซลเมื่อเดือนพ.ย.2566 ซึ่งส่งผลกระทบหุ้นทั้งหมดในประเทศ และยังเป็นผลเชิงลบต่อมุมมองเรื่องกฎระเบียบ
จากการประเมินใน 3 ด้านหลักๆ คือ การขยายตลาดด้วยผลิตภัณฑ์เดิม (market development), บรรยากาศในการทำธุรกิจ (operating environment) และกฎระเบียบ (regulatory) พบว่า ประเทศไทยได้คะแนนรวม 5.38 โดยมีคะแนนน้อยที่สุดในเรื่องบรรยากาศการทำธุรกิจ
สำหรับการสำรวจมุมมองตลาดเรื่องจุดเด่นที่ดึงดูดนักลงทุนใน 3 ด้านดังกล่าวนั้น พบว่าในหมวด Market development ไทยมีจุดเด่นในด้าน "โครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน" โดยเปลี่ยนจากปี 2565 ที่เป็นเรื่องความมั่งคั่ง และฐานลูกค้าที่เติบโต
ส่วนจุดเด่นในด้านบรรยากาศการทำธุรกิจคือ "ความเข้าใจคู่แข่ง และมีต้นทุนการทำธุรกิจที่ถูก" ซึ่งต่างจากของสิงคโปร์ที่มีจุดเด่นเรื่องสกิลภาษา หรือของจีนที่เด่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
ส่วนในหมวดสุดท้ายเรื่องกฎระเบียบนั้น ไทยมีจุดเด่นเรื่อง "ข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ที่น้อย และการบริการ" ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์มีจุดเด่นเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบต่อต้านการให้สินบน และการคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจบริษัทที่เป็นสมาชิกของ ASIFMA ใน 13 เขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ระหว่างเดือนก.ย.- ธ.ค. 2566 ซึ่ง ASIFMA ระบุว่าเป็นปีที่มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น แต่กลับมีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางในอนาคตลดลง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 40% เท่านั้นที่ตั้งใจจะขยายธุรกิจในตลาดเอเชียแปซิฟิก ซึ่งลดลงถึง 24% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในปีก่อนหน้า โดยขอบเขตธุรกิจที่จะขยายยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ การจัดการสินทรัพย์ และตราสารหนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์