MONEY AND STOCK MARKET 29 สิงหาคม-2 กันยายน 2565

MONEY AND STOCK MARKET 29 สิงหาคม-2 กันยายน 2565

เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน   เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน สอดคล้องกับทิศทางอ่อนค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ  

•    หุ้นไทยปรับตัวลง ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด 
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 36.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าลงตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินเยนและเงินหยวน สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งในเดือนก.ย. เฟดมีกำหนดที่จะเพิ่มขนาดการปรับลดงบดุลและมีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 75 bps. ในการประชุม FOMC 20-21 ก.ย. นี้  นอกจากนี้ท่าทีคุมเข้มจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาด และการขยับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็หนุนทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน  

นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงกดดันด้านอ่อนค่าเพิ่มเติมจากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยลบจากข้อมูลล่าสุดที่สะท้อนว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยบันทึกยอดขาดดุลเพิ่มขึ้นในเดือนก.ค. อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ

MONEY AND STOCK MARKET 29 สิงหาคม-2 กันยายน 2565

ในวันศุกร์ที่ 2 ก.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจากระดับ 36.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ส.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-2 ก.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 315 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 3,974 ล้านบาท (แม้ซื้อสุทธิพันธบัตร 458 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 4,432 ล้านบาท)
 

สัปดาห์ถัดไป (5-9 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 36.20-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนส.ค. ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนก.ค. รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์  นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนส.ค. อาทิ ข้อมูลการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต   

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวน แต่ปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ SET Index ร่วงลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังประธานเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และเจ้าหน้าที่เฟดบางรายสนับสนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่เหนือระดับ 4% ในปีหน้า อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ตามแรงซื้อคืนของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์มีประเด็นลบเพิ่มเติมจากข่าวการเปิดเฮียริ่งคุมธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งของธปท. ส่วนราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานด้วยเช่นกัน

MONEY AND STOCK MARKET 29 สิงหาคม-2 กันยายน 2565

 

ในวันศุกร์ (2 ก.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,622.15 จุด ลดลง 1.38% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 76,080.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.48% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.38% มาปิดที่ 634.11 จุด    

 

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,570 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,665 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. ของไทย การประชุมโอเปกพลัส (5 ก.ย.) รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลนำเข้า/ส่งออกเดือนก.ค. และดัชนี ISM/PMI ภาคการบริการเดือนส.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนี PMI ภาคการบริการ เดือนส.ค.ของยูโรโซน จีนและญี่ปุ่น ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/65 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือนส.ค. ของจีน