Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 14 November 2022
ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับที่ต่ำลง ท่ามกลางความกังวลนโยบาย zero-covid ในจีน ขณะที่ตลาดจับตาผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 83 - 93 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 90 - 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 – 18 พ.ย. 65)
ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับที่ต่ำลง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในประเทศจีนที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดจับตาการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่อาจเกิดการสูญเสียที่นั่งของพรรคเดโมแดรตในสภาล่าง และส่งผลให้การผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เผชิญความยากลำบากมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม FED มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายลงหลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ประกอบกับอุปสงค์มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากอินเดียและจีนที่ปรับเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ยังคงกดดันตลาด หลังจีนประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์ และเร่งตรวจหาเชื้อประชากรในเขตเฉาหยาง เขตกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ ขณะที่มาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมืองกวางโจวและเมืองต่าง ๆ ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
- การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเผยพรรครีพับลิกัน (Republican) สามารถกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้อีกครั้ง ขณะที่ผลการเลือกตั้งในสภาสูง ผลการเลือกตั้งออกมาค่อนข้างสูสี โดยคาดว่าจะสามารถรู้ผลได้ในช่วงต้นปีหน้า หลังรัฐจอร์เจีย (Georgia) ซึ่งเป็นรัฐสมรภูมิเลือกตั้ง (Swing state) ไม่มีผู้สมัครจากพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งรอบตัดเชือก (Run-off election) การที่พรรครีพับลิกันกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ ส่งผลให้การผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารเผชิญความยากลำบากมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
- ตัวเลขการจ้างานภาคนอกการเกษตร (Non-farm payrolls) ปรับเพิ่มขึ้น 261,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. มากกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มองว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ตลาดคาดว่าเฟดอาจจะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75 % สู่ระดับ 4.50 – 4.75 % ในการประชุมคณะกรรมการกลางนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 13 – 14 ธ.ค. 65 นี้
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 7.7 % Y-o-Y ต่ำกว่าคาดที่ระดับ 7.9 % เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 0.3 % M-o-M ต่ำกว่าคาดที่ระดับ 0.5 % ส่งผลให้ตลาดคาดว่าเฟดอาจจะมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5 % สู่ระดับ 4.25 – 4.50 % ในการประชุมคณะกรรมการกลางนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือนหน้า จากล่าสุดที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.75% เมื่อ 1-2 พ.ย. ที่ผ่านมา
- ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของคาซัคสถานของเดือน ต.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 % จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังแหล่งขุดเจาะน้ำมัน Kashagan ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ระดับ 0.32 ล้านบาร์เรล เริ่มกลับมาดำเนินการบางส่วนหลังเกิดเหตุก๊าซรั่วไหลเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา
- หน่วยงานศุลกากรของจีน รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ต.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.7% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 10.16 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 65 ขณะที่ Kpler คาดการณ์อินเดียจะนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 65 เพิ่มขึ้น 76,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 เดือน
- ตลาดคาดว่าอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านจะยังไม่กลับเข้าสู่ตลาดในเร็วๆนี้ หลังพรรคของฝ่ายขวาของนายเนทันยาฮู ที่เคยต่อต้านการเจรจานิวเคลียร์อิหร่าน ได้รับชัยชนะและกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลอีกครั้ง ส่งผลให้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านครั้งใหม่เผชิญกับความไม่แน่นอนในประเด็นใหม่ หลังกลุ่มประเทศ E3 อันประกอบด้วยเยอรมนี ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ออกมาแสดงความกังวลต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านในช่วงปลายเดือน ก.ย.
- เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 65 และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษ เดือน ต.ค. 65 โดยตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 10.0% จากเดือนหน้าที่ระดับ 10.1%
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 พ.ย. - 11 พ.ย. 65)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 91.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 88.96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 97.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 95.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังรายงานสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ย. 65 ปรับเพิ่มขึ้น 3.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่ตลาดยังคงกังวลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด - 19 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลอุปทานตึงตัวหลังเข้าใกล้เส้นตายการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 5 ธ.ค. 65