กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ น่าจะรีบาวนด์ต่อ แต่ให้ระวังความผันผวน / คาดฟื้นไม่ไกล

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ น่าจะรีบาวนด์ต่อ แต่ให้ระวังความผันผวน / คาดฟื้นไม่ไกล

เรามองว่าตลาดยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะสั้น ในสัปดาห์ที่แล้ว (5 – 9 มิถุนายน) ตลาดหุ้นไทยพักฐานในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นมาในช่วงปลายสัปดาห์

ทั้งนี้ นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก (อย่างน้อยในระยะสั้น) หลังจากที่ธนาคารโลก และ OECD ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับการที่ซาอุดิ อาระเบียประกาศลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจลงเหนือความคาดหมาย ช่วยให้กลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมีฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ กระแสเงินทุนจากต่างชาติก็ดีขึ้น เนื่องจากดัชนี US dollar index ลดลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนภาวะตลาดหุ้นเอเชีย อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งชี้ว่านักลงทุนยังเป็นกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของปัจจัยการเมืองไทย

สำหรับในสัปดาห์นี้ (12-16 มิถุนายน) เราคาดว่าดัชนี SET น่าจะยังขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะในช่วงต้นสัปดาห์ จากความคาดหวังในเชิงบวกว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC สัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดจะรักษาโมเมนตัมเอาไว้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ i) ถ้อยแถลงของ FOMC และประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ และ ii) ระดับความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทย ต่อความเสี่ยงที่จะเกิดการชุมนุมประท้วงหากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิ์จากกรณีการถือหุ้น ITV
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากทุกปัจจัยแล้ว เรามองว่าดัชนี SET น่าจะขึ้นต่อจากระดับปัจจุบันไปได้ไม่ไกลและหุ้น cyclical ที่ outperform ก่อนหน้านี้ อาจจะกลับลงมาได้หากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐกลับคืนมา

 

 

ติดตามผลการประชุม FOMC, การตัดสินใจของ ECB และความคืบหน้าสถานการณ์การเมืองไทย
 

ปัจจัยต่างประเทศ: สัปดาห์นี้จะมีหลายเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก เหตุการณ์แรกจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งคาดว่า FOMC จะคงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 5.25% และน่าจะมีการประกาศประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐชุดใหม่ออกมา แต่ก่อนที่จะมีการประกาศผลการประชุม สหรัฐจะรายงานตัวเลข CPI เดือนพฤษภาคม ซึ่ง consensus คาดว่า headline CPI จะชะลอตัวลงเหลือ 4.1% YoY (จาก 4.9% YoY ในเดือนเมษายน) และ core CPI จะชะลอตัวลงเหลือ 5.3% YoY (จาก 5.5% YoY ในเดือนเมษายน) เหตุการณ์ที่สอง คือ การประชุม ECB ในวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย refinancing rate เป็น 4.00% (จากปัจจุบันที่ 3.75%)

ปัจจัยในประเทศ: ในขณะที่ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนของสถานการณ์การเมืองไทยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนน่าจะเป็นกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดการชุมนุมประท้วงในระยะต่อไป โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 กรณีผู้สมัครทราบอยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งตามกระแสข่าวในประเทศ กลุ่มผู้สนับสนุนนายพิธาอาจจะไม่พอใจ และจัดชุมนุมประท้วงหากมีคำตัดสินออกมาว่านายพิธามีความผิด

 

 

ตลาดน่าจะขึ้นต่อได้ แต่ต้องระวังความผันผวนของราคาหุ้น

เช่นเดียวกับในสัปดาห์ที่แล้ว เรายังคงเลือกหุ้นหลักในกลุ่มธนาคาร และพพลังงาน ซึ่งได้แก่ BBL*, KBANK*, TTB*, TOP* และ PTTGC* อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่สหรัฐจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน 2H66 และความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะกลับมากดดันตลาดการเงินอย่างรวดเร็วหลังจากที่ตลาดตอบรับการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปแล้ว ดังนั้น นักลงทุนจึงควรต้องระวังความผันผวนของตลาดด้วย สำหรับหุ้นกลุ่ม mid-cap เรายังคงชอบหุ้นไฟแนนซ์ประเภท non-bank finance และหุ้นอาหารแปรรูป อย่างเช่น SAWAD*, TIDLOR*, GFPT และ SUN