'การผสมผสาน' ของ 'A.I.' และ 'Blockchain'
โลกของเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นพัฒนาการในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น A.I. หรือบล็อกเชน (Blockchain) ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่กว้างแม้ว่าทั้งคู่เป็นเทคโนโลยีที่ได้กำเนิดมาสักพักแล้วก็ตาม
A.I. (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีฟังก์ชันในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและอัตโนมัติผ่านกระบวนการ Machine Learning
โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา A.I. ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นพิเศษด้วยการเปิดตัวของ ChatGPT จากบริษัท OpenAI เป็นโมเดลภาษาในรูปแบบของแชตบอต สามารถตอบโต้และช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านการสนทนา
ด้วยความที่เป็นเบราว์เซอร์และง่ายต่อการใช้งาน ทำให้ ChatGPT ดึงดูดผู้ใช้งานได้มากกว่า 100 ล้านคนภายใน 2 เดือนหลังจากการเปิดตัว ถือว่าเป็นอัตราการยอมรับการใช้งาน (Adoption Rate) ที่รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ เช่น Instagram ซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 ปี หรือ Spotify ที่ใช้เวลาถึง 4 ปีครึ่งจนกว่ามีผู้ใช้งานถึง 100 ล้านราย
กระแส A.I. ดังกล่าวทำให้บริษัทต่าง ๆ รวมถึง Venture Capital (VC) ในอุตสาหกรรมคริปโทฯ หันมาให้ความสนใจและทุ่มเทเม็ดเงินในการศึกษาหาวิธีในการประยุกต์ A.I. มาใช้ร่วมกับบล็อกเชน และแม้จะยังเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการผสมผสานของ A.I. และบล็อกเชน แต่ในช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือนเราก็ได้เห็นทั้งคอนเซปต์และการนำเทคโนโลยีทั้งคู่ไปใช้ในชีวิตจริง
การพิสูจน์ความถูกต้องหรือการเป็นเจ้าของ (Authenticity Verification)
การที่บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีระบบการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระ ทำให้เหมาะสมกับการเป็นวิธีในการตรวจสอบความถูกต้องหรือแท้จริงของข้อมูล
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่านอาจจะได้เห็นผลงานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นด้วยโปรแกรม A.I. ต่าง ๆ เช่น DALL-E หรือ Midjourney ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะในสไตล์ของศิลปินโด่งดัง จนไปถึงเทคโนโลยี Deepfake ที่ใช้ A.I. ในการสร้างสื่อสังเคราะห์เพื่อปลอมแปลงลักษณะของบุคคลต่าง ๆ ผ่านสื่อวิดีโอและภาพถ่าย ความเสมือนจริงและการถูกตรวจสอบว่าเป็นของปลอมได้ยากอาจก่อให้เกิดผลเสียถ้าถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
การแยกแยะระหว่างเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นด้วย A.I. และเนื้อหาที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์จะเป็นสิ่งที่สำคัญในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถช่วยได้ผ่านการประทับเวลา (Timestamp) และวิทยาการเข้ารหัสลับ (Cryptography) ที่จะบันทึกข้อมูลลงไปบนบล็อกเชนอย่างถาวร สามารถใช้แยกแยะเนื้อหาจริงจากเนื้อหาเท็จได้ นอกเหนือจากนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัวและไม่สามารถทดแทนได้ หรือ NFTs (Non-Fungible Tokens) ยังสามารถใช้ในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของของผลงานต่าง ๆ อีกได้ด้วย
กรณีการใช้ A.I. ใน Smart Contract
อีกหนึ่งวิธีคือการใช้ A.I. เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือการเรียนรู้และพัฒนา smart contract หรือสัญญาอัจฉริยะ โดยจะช่วยลดเวลาและขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านกระบวนการและวิธีการตรวจสอบอัตโนมัติ A.I. จะช่วยให้ธุรกิจและบุคคลทั่วไปสามารถพัฒนาและดำเนินการ smart contract ได้เร็วขึ้นและประหยัดต้นทุนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ทาง Etherscan ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ค้นหาและตรวจสอบข้อมูลบล็อกเชนบนเครือข่าย Ethereum ได้เปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่ใช้ระบบ A.I. นามว่า ‘Code Reader’
‘Code Reader’ ใช้โมเดลภาษา A.I. ของบริษัท OpenAI ผ่านการเชื่อมต่อ API Key โดยผู้ใช้งานสามารถใช้ Code Reader ในการช่วยวิเคราะห์ซอร์สโค้ดของ Smart Contract เพื่อเรียนรู้ถึงการทำงานของฟังก์ชันและโค้ดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลภาพรวมหรือข้อมูลในเชิงลึก รวมถึงวิธีการเชื่อมต่อ Smart Contract กับ dApps หรือแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์อีกด้วย ผู้ใช้งานยังสามารถปรับเปลี่ยนโค้ดและทดสอบผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ทำให้การเรียนรู้ผ่าน Code Reader เปรียบเสมือนกับการพูดคุยกับผู้ปรึกษาส่วนตัว อย่างไรก็ตามตัวโปรแกรมยังอยู่ในการทดสอบเบต้า ดังนั้นผู้ใช้งานจึงควรตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับกับแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ด้วยเพื่อความถูกต้อง
ปัจจุบันโมเดล A.I. ส่วนใหญ่ทำงานในรูปแบบ Closed Source โดยจะไม่เปิดเผย Source Code ให้กับบุคคลภายนอก ทำให้ยากต่อการตรวจสอบวิธีการทำงานและแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการฝึกระบบ A.I. การพัฒนา A.I. บนบล็อกเชนจะเพิ่มความโปร่งใสต่อระบบ เนื่องจากข้อมูลและโมเดลทั้งหมดถูกบันทึกในรูปแบบที่ตรวจสอบได้ง่าย และในเวลาเดียวกันยังสนับสนุนการพัฒนาร่วมกันจากสังคมโดยรวมอีกด้วย
ทั้งปัญญาประดิษฐ์และบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมและวิธีการทำงานโดยจะเพิ่มความโปร่งใส และทำให้ขั้นตอนการทำงานเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น การผสมผสานของปัญญาประดิษฐ์และบล็อกเชนจะช่วยสร้างนวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมมากมาย รวมถึงก่อให้เกิดโมเดลธรุกิจรูปแบบใหม่ในอนาคต