'บาทดิจิทัล'ปลดล็อกนโยบายการเงิน ลดปัญหาเงินเฟ้อ เพิ่มความโปร่งใส่
วิวัฒนาการของฟินเทคและพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “CBDC” หรือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งพัฒนาการทางการเงินกลายเป็น“ยุทธศาสตร์”ที่สำคัญ ในการกำหนดนโยบายของเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลก
โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ที่มีการพัฒนา “บาทดิจิทัล” ก้าวหน้า ทั้งแบบ Wholesale ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน และ Retail CBDC ในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ปรีชา ไพรภัทรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจ ถึงมุมมองถึง “บาทดิจิทัล” หรือ CBDC สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทย สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหานโยบายทาง "การเงินและการคลัง" ของประเทศไทยได้ และลดปัญหา“เงินเฟ้อ”
จากประโยชน์ของการใช้สกุลเงินดิจิทัล 4 ประการด้วยกัน คือ 1.การสะท้อนความเคลื่อนไหวของ“เงิน”ในระบบทั้งหมด 2.นำข้อมูลความจริงไปใช้สำหรับการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายได้แม่นยำมากขึ้น และ 3.สามารถเรียกเก็บภาษีได้ตรงตามความเป็นจริง รวมทั้ง 4.ลดการธุรจริตคอรรัปชั่นในการยักยอกเงินให้หายไปจากระบบเศรษฐกิจ
ปัจจุบันสามารถวัดมูลค่าคงเหลือของเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของแต่ประเทศได้จาก 3 ก้อนใหญ่ ๆ คือ การลงทุน เงินฝาก และปริมาณการบริโภค ซึ่ง 2 ก้อนแรก คือ การลงทุนและเงินฝาก ไม่มีวิธีในการวัดมูลค่าได้อย่างแม่นยำ
เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีธนาคารแห่งชาติใดเปิดเผยว่าเงินในระบบของประเทศนั้นๆคงเหลือเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเงินที่พิมพ์ออกมาไม่รู้ว่าถูกใช้เท่าไหร่ ปริมาณเงินที่ถูกทำลายหายไปเท่าไหร่
ดังนั้นเมื่อการสิ่งที่เรียกว่า “CBDC” เกิดขึ้นจะสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างชัดเจน นั่นทำให้ไม่มีธนาคารกลางแห่งชาติใดต้องการยกสกุลเงินแห่งชาติให้กับองค์กรสาธารณะควบคุม
โดยสกุลเงินดิจิทัลสามารถวางรูปแบบการควบคุมออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ 1.การสร้างโหนด (Node) ของตัวเองมีการกระจายศูนย์ (Decentralization) ผ่านบล็อกเชนและ 2.ใช้ระบบการเงินที่มีตัวกลาง (Centralized)
ปรีชา เห็นถึงมุมมองเชิงบวกของอนาคต CBDC ที่ไม่ว่าจะใช้ระบบการควบคุมแบบใด ผลลัพท์ที่ได้คือ “ความโปร่งใส” ของระบบการเงิน เหมือนกับประเทศจีนที่รูปแบบการใช้ “หยวนดิจิทัล”(E-CNY) สะท้อนออกมาได้ชัดเจนคือ เป็นเครื่องมือและการเปลี่ยนแปลงที่ล้างบางธุรกิจสีเทา ซึ่งในอนาคตจะสามารถขจัดปัญหาเงินที่หายไปจากระบบได้
"ผลพลอยได้ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดคือ การสะท้อนรายได้และรายจ่ายของประเทศ ต่อการเรียกเก็บภาษีจะตรงตามความจริง ที่มีผลต่อนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลัง ในการบริหารเงินและทราบปริมาณเงินที่ใช้ในระบบสู่การกำหนดกลไกลดอกเบี้ย เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ"
ถ้าในอนาคตประเทศไทยเลือกใช้บาทดิจิทัลเป็นรูปแบบการเงินหลัก จะต้องมีขั้นตอนการแลกเปลี่ยนเงินที่ปัจจุบันเป็นเหรียญและธนบัตรมาสู่บาทดิจิทัล ซึ่งขั้นตอนนี้“ไม่ง่าย” ทำให้เราต้องถอดบทเรียนจากประเทศจีน ผู้นำการพัฒนาหยวยดิจิทัลที่ล้ำหน้าประเทศอื่นไปมาก
อี้ แกงค์ ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน เปิดเผยยอดการทำธุรกรรมโดยใช้เงินหยวนดิจิทัลของจีนแตะ 1.8 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 2.49 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกว่า 100 พันล้านหยวน ณ เดือนส.ค.ปี 2565 โดยมีการเปิดกระเป๋าเงิน 120 ล้านใบ ซึ่งเงินหมุนเวียนจากหยวนดิจิทัล คิดเป็นเพียง 0.16% ของปริมาณเงินสดหมุนเวียนในประเทศทั้งหมด
ตัวเลขดังกล่าวตอกย้ำบทบาทของจีนในฐานะผู้นำในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) แม้ว่าการยอมรับจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เงินหยวนดิจิทัลได้ถูกใช้เพื่อการชำระเงินค้าปลีกในประเทศเป็นหลัก
ประเทศใดที่สามารถพัฒนา CBDC ได้สำเร็จและใช้อย่างแพร่หลายเป็นประเทศแรกจะมีความได้เปรียบเชิงการกำหนดทิศทางตลาดและแนวโน้มธุรกิจในอนาคต (first-mover advantage) โดยจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบในการเชื่อมโยง CBDC ระหว่างประเทศ ซึ่งจีนมีการพัฒนาที่ก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญคือ การเชื่อมโยงระหว่างระบบ CBDC ของแต่ละประเทศ และกลุ่มความร่วมมือที่มีการกำหนดกฎระเบียบที่แตกต่างกัน รวมถึงประเด็นความห่วงกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยการใช้ CBDC อยู่บนพื้นฐานของระบบบล็อกเชนและการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง