‘บิทคับ’ ฝากรัฐบาลใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
หลังจากที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 “เศรษฐกิจ” คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ ซึ่งทั่วโลกกำลังมุ่งไปยังจุดหมายของ “Digital Economy” ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรม“ฟินเทค” แสดงมุมมองทิศทางในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด หรือ “Bitkub” หนึ่งในสตาร์ตอัปผู้นำตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เผย 4 หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจดิจิทัลไทย”และผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น “ศูนย์กลางของฟินเทค” หรือ Fintech Hub
4 หัวใจสำคัญสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล
1.มีการพัฒนา Human Capital เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่สกิลเซ็ทที่ผูกติดกับระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ทำให้วันนี้ต้องมองย้อนกลับไปว่าฮาร์ดแวร์พร้อม คือ เศรษฐกิจ แต่ซอฟต์แวร์คือ กำลังคนยังไม่พร้อม ทำให้ต้องเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อรับเม็ดเงินที่จะเข้ามาในอาเซียน ซึ่งถ้าไม่มีการพัฒนาคน ก็จะไม่มีกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
2.ออกนโยบายหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ที่ต้องสามารถปรับเปลี่ยน และปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบของเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลมีการขับเคลื่อนเร็วมาก และไม่ใช่ธุรกิจที่คาดเดาอนาคตได้อย่างชัดเจน ดังนั้นถ้านโยบายไม่รองรับ เปลี่ยนแปลงช้า และไม่เหมาะสม จะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนประเทศได้เร็วมาก
3.เพิ่มการลงทุน ถ้าหากประเทศไทยได้ติดกระดุม 2 เม็ดแรกคือ มีการพัฒนา Human Capital และออกนโยบายหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยแล้วนั้น การลงทุนจะหลั่งไหลเข้ามายังในประเทศ เป็นการลงทุนระยะยาวในอุตสาหกรรมใหม่ ถ้าหากว่านักลงทุนต่างประเทศไม่เข้ามาลงทุนตามที่คาดไว้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการวางแผนจัดการให้เงินทุนในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ “กล้า” และ “เริ่ม”สร้างรูปแบบบริการให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
4.แก้ปัญหากำแพงทางเศรษฐกิจ ให้การทำธุรกิจในประเทศไทยให้ Freeflow กล่าวคือ ทำให้มีความลื่นไหลมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ข้อกำหนดของทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ต่อชาวต่างชาติ 1 คน หรือ สร้าง “อีโคโนมิกฟรีดอม” มีการทำธุรกรรมที่รวดเร็วขึ้น การเปิดบัญชีที่ไวขึ้น สำหรับชาวต่างชาติ เนื่องจากจะเป็นข้อสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตคนที่มีความรู้ ความสามารถ ตอบโจทย์ตลาดได้
ดังนั้นการแก้ปัญหากำแพงทางเศรษฐกิจได้ จะทำให้คนเก่งไหลเข้าประเทศ ทั้งด้านเทคทาเลนท์ หรือผู้มีความรู้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งมีภูมิศาสตร์ที่สวยงาม และภาคการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
เพราะในปี 2567 จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ที่เม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามา เพราะนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจตลาดใน “ภูมิภาคเอเชีย” เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยเองจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งในด้าน ทรัพยากรมนุษย์ นโยบาย และความมั่นคงของรัฐบาล
ทั้งนี้จิรายุส ได้กล่าวถึง “มุมมองเศรษฐกิจไทย” ที่มีความคลี่คลายมากขึ้นหลังจากผลเลือกตั้งออกมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างเดียวเท่านั้น อาจทำให้นักลงทุนมองข้ามประเทศไทย เพราะนักลงทุนต้องการประเทศที่มีเสถียรภาพ ในระยะสั้นส่งผลกระทบต่อนักลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงิน ในธุรกิจที่มีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินไหลเข้าและออก อาจจะยังไม่เข้ามามาก
ส่วนการลงทุนในระยะยาวมีผลกระทบทำให้นักลงทุน “ชะลอลงทุน” เพราะนักลงทุนต้อง wait and see เพื่อรอความชัดเจนของเศรษฐกิจไทย ถ้าหากประเทศไทยเกิดสุญญากาศนานเกินไป ทำให้นักลงทุนมองข้ามประเทศไทยไป และย้ายลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการที่ไร้คำตอบ มีสุญญากาศนานเกินไป หรือมีการเปลี่ยนทิศทางบ่อยๆ ทำให้นักลงทุนไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้
ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่
“จิรายุส” ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญทั้งระยะสั้น และระยะยาว ในระยะสั้น คือ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนในประเทศ ที่สูงถึง 90% ต่อ GDP
และการเปลี่ยนแลง “โซเชียลคอนแทค” ตามบริบทโลกที่มองเห็นความสำคัญของสตรี เทคโนโลยี การศึกษา ส่วนในระยะยาวจิรายุส กล่าวสั้นๆ ถึงสิ่งที่จะเป็นทิศทางของการชูโรงเศรษฐกิจสู่โลกในอนาคต “ดิจิทัล กรีนรีโวลูชั่น” และยังคงโอบอุ้มรูปแบบเศรษฐกิจเดิม และหว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้เติบโตเป็น “new s curve”
รวมทั้งมองว่าในอนาคตกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็น 2 กระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม"คนต่อไป ต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องของ “Digital Economy” ว่าขณะนี้เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยเป็นอย่างไร และกำลังเดินไปในทิศทางไหนที่สำคัญต้องรู้ว่า “โอกาส” อยู่ตรงไหนเพื่อพาประเทศไทยไปคว้าโอกาสให้ทัน
เมื่อเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน นายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องมี “AI Power” จากการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา มีผู้นำหลายคนใช้กลยุทย์การหาเสียง ในยุคก่อน การชนะเลือกตั้งอาจมาจากการติดป้ายประกาศ สู่การใช้โซเชียลมีเดีย เมื่อเร็วๆ นี้ เกือบมีนายกฯ ที่มาจากการเล่นเฟซบุ๊ก และติ๊กต็อกเป็น ในยุคถัดไปคือ ความสามารถในการใช้ AI ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายธุรกิจ นั่นแปลว่าถ้าหากนายกฯ คนต่อไป มีความสามารถในการใช้ AI จะสามารถขึ้นเป็นนายกฯ ได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์