‘ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล’จ่อคึกคัก รายใหญ่ 'KBANK-GULF’รุกตลาด
นับว่าธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจจาก “สถาบันการเงิน” หรือ “แหล่งเงินทุน” ที่เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนี้ ทำให้ผู้ประกอบการเข้ามายื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ,นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล ฯลฯ
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต. ) เปิดเผยว่าในปัจจุบันมีการอนุมัติใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายฯ ทั้งหมด 10 ราย แบ่งเป็นดำเนินธุรกิจแล้ว 8 ราย คือ
1.บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น (SATANG PRO) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto & Token) ซึ่งหลังจากนี้เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท ออร์บิกซ์ เทรด จํากัด" จากเมื่อไม่นานมานี้ “ธนาคารกสิกรไทย” ประกาศรุกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเต็มสูบ
โดยจัดตั้งบริษัทย่อย ชื่อว่ายูนิต้า แคปิทัล (Unita Capital) ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 3,705 ล้านบาท ประกาศลุยทั้งธุรกิจบริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงเข้าซื้อหุ้นกว่า 97% ของ Satang Pro ด้วย และคาดว่าจะเป็นแห่งแรกที่ได้ใบอนุญาตผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (custodial wallet provider) จาก ก.ล.ต. ภายใต้ “ออร์บิกซ์ คัสโทเดียน”
2.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ (BITKUB) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto & Token) ที่ในขณะนี้เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในแง่ของส่วนแบ่งตลาดที่มีผู้เปิดบัญชีมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงมีบล็อกเชนเป็นของตัวเองได้แก่ “บิทคับเชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในบริย่อยจาก 7 บริษัทในเครือ
3.บริษัท อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด(INVX) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto & Token) และนายหน้า (Crypto & Token) อีกหนึ่งสถาบันการเงินที่เข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หลังการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ มุ่งให้บริการ “สินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร” ผ่านซูเปอร์แอป ต่อยอดการให้บริการด้านการลงทุนแบบดั้งเดิม และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร
4.บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Token) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้บริการซื้อขาย Investment Token และ Utility Token ด้วยแพลตฟอร์มแบบเปิด
5. บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ZIPMEX) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto & Token) และนายหน้า (Crypto & Token) ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
6.บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย)(UPBIT) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto & Token) และนายหน้า (Crypto & Token) ผู้ให้บริการที่ครองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี 4 ใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทุกประเทศทั้ง ไทย เกาหลี อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
7.บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย)(Z.COMEX) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto & Token) และนายหน้า (Crypto & Token) 8.บริษัทอีอาร์เอ็กซ์(ERX) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Token) และบริษัทน้องใหม่ที่เพิ่งได้ใบอนุญาตเมื่อเดือน ต.ค.2566 ที่ผ่านมา
9.บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด(GULF BINANCE) มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto & Token) และนายหน้า (Crypto & Token) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด (Gulf Innova)กับ Binance Capital Managementซึ่งถือเป็นผู้เล่ยรายใหญ่ที่สุดในโลกแต่ยังไม่ได้เปิดดำเนินการหลังจากที่มีกำหนดการณ์จะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566
10.บริษัท วาฬ เอ็กเชนจ์ จำกัด มีใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Crypto & Token) และนายหน้า (Crypto & Token) โดยมีทีมผู้บริหารต่างคร่ำหวอดในวงการการเงิน และสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่างยาวนาน นำโดยชวัล เจียรวนนท์
'เงินทุน' แต้มต่อขยายธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ปรีชาไพร ภัทรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจ ในฐานะหนึ่งในผู้เล่นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลประเทศไทยว่า ปัจจุบันธุรกิจคริปโทต้องใช้“เงินทุน”มากขึ้นในการขับเคลื่อนธุรกิจ ทำให้ธุรกิจรายเล็กที่ไม่แข็งแรงจะต้องหาทางออกให้กับธุรกิจ
เพราะเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมตารฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยภายใต้เทคโนโลยีที่มีสเถียรภาพ ซึ่งมีต้นทุนที่สูง คือ 1.การพัฒนาระบบซื้อขายให้มีสเถียรภาพ 2.การเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้ปลอดภัย ซึ่งภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดนั้นสินทรัพย์ดจิทัลของลูกค้าต้องถูกเก็บไว้ใน custodial wallet บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีความปลอภัย ซึ่ง 2 ส่วนนี้เป็นการรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญและทำให้ธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯมีความน่าเชื่อถือ ถือเป็น“แต้มต่อ”ในธุรกิจ
ทั้งนี้การที่สถาบันการเงิน ผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทำให้ตลาดมีความน่าสนใจมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ผ่านมาธนาคารทำธุรกิจที่อยู่ในอีโคซิสเต็มของระบบการเงิน ทั้งธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ธุรกิจประกันภัย ซึ่งการที่ธนาคารพาณิชย์ก้าวเข้ามาเล่นในตลาดใหม่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้