ก.ล.ต.ยกระดับ’กรีนโทเคนไนซ์’ สร้างอีโคซิสเตม 'ธุรกิจสีเขียว'
สำนักงานก.ล.ต เล็งเห็นถึงความสำคัญของ”กรีนโทเคนไนซ์” (Green Tokenized) ซึ่งเป็นหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่จะอยู่ในเกณฑ์ Thai ESG เพื่อสร้างการลงทุนระยะยาวด้วยอีโคซิสเตม 'ธุรกิจสีเขียว' เป็นแนวทางที่ก.ล.ต.ต้องการโปรโมตในปีหน้า เพื่อให้มีบริษัทและธุรกิจเข้ามามากขึ้น
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของ “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการในประเทศที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
โดยใช้กองทุนรวมในตลาดทุนเป็นกลไกที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านความยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการออมระยะยาวผ่านการลงทุนในตลาดทุน โดยให้ ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมดังกล่าวต่อไป
”พรอนงค์ บุษราตระกูล“ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า นอกจากการจัดตั้ง “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” (Thailand ESG Fund:Thai ESG) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการในประเทศและเป็นรูปแบบการลงทุนระยะยาวเพื่อความยั่งยืนแล้ว สำนักงานก.ล.ต ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของ”กรีนโทเคนไนซ์” (Green Tokenized) ซึ่งเป็นหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่จะอยู่ในเกณฑ์ Thai ESG ด้วย
แม้ว่าในปัจจุบัน อินเวสเมนต์โทเคน (investment token) จาก “ธุรกิจสีเขียว” จะยังไม่มี ทำให้สำนักงานก.ล.ต.เร่งยกระดับให้กับ “กรีน โทเคนไนซ์” ซึ่งในปีนี้จะยังไม่สามารถลงทุนได้ เพราะรูปแบบจัดตั้งตลาดการลงทุนยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่มีการระดมทุนเกิดขึ้น แต่เป็นแนวทางที่ทางสำนักงานก.ล.ต.ต้องการโปรโมตในปีหน้า เพื่อให้มีบริษัทและธุรกิจเข้ามา เพื่อให้มียูสเคสหรือตัวอย่างเรื่องกรีนโทเคนไนซ์ เพราะเมื่อมีรูปแบบธุรกิจสีเขียวเข้ามาระดมทุนด้วยจะเป็นการผลักดันเรื่องกรีนโทเคนไนซ์
“สำนักงานก.ล.ต.พร้อมผลักดันให้เกิดยูสเคส โดยมี Thailand ESG เป็นผู้กลั่นกรองว่ารูปแบบธุรกิจว่ามีความเหมาะสม และสามารถทำได้หรือไม่ คาดว่าเร็วๆนี้จะเปิดให้ธุรกิจส่งร่างเอกสารจัดตั้งกรีนโทเคน ซึ่งก.ล.ต.อยากโปรโมตเรื่องธุรกิจสีเขียว ที่ไม่เพียงแค่ธุรกิจใหญ่ๆเท่านั้นที่สามารถทำได้เท่านั้น ธุรกิจเล็กๆ ทั้ง SME สตาร์ตอัปก็ทำสามารถทำได้”
พรอนงค์ มองว่า การสร้าง Green Ecosystem เพื่อเป็นอีโคซิสเตมให้กับธุรกิจสีเขียวและสังคมสีเขียว ดังนั้นธุรกิจเล็กๆ เช่น ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า รถเช่าอีวี ก็สามารถทำได้ นอกเหนือจากการปลูกป่าดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และไม่ได้จำกัดเพียงแค่บริษัทใหญ่ๆที่สามารถทำได้เท่านั้น โดยคาดว่าสำนักงานก.ล.ต.สามารถพิจารณาได้ภายใน 2 อาทิตย์
รวมทั้ง ก.ล.ต. เปิดให้ บลจ. สามารถส่งร่างเอกสารจัดตั้ง Thai ESG ให้ ก.ล.ต. พิจารณาได้ล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ บลจ. และเตรียมพร้อมที่จะเสนอขายกองทุนรวมดังกล่าว โดยธุรกิจจะต้องเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) และโทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืนที่มีมาตรฐานในทำนองเดียวกันกับตราสารหนี้ดังกล่าว โดย Thai ESG จะได้รับสิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งและแก้ไขโครงการจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับ SRI Fund ด้วย
เพื่อให้นักลงทุนไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนใน Thai ESG ในทุกรูปแบบการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงกรีนโทเคนไนซ์ด้วย จากภาครัฐเห็นความสำคัญที่ประชาชนจำเป็นต้องมีการออมการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว จึงได้สนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ลงทุนใน Thai ESG โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุน มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน
รวมทั้งเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ถ้าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนใน Thai ESG ไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
วรางคณา อัครสถาพร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนดิจิทัล ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันรูปแบบการระดมทุนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้รูปแบบการระดมทุนผ่านการ “โทเคนไนเซชั่น” ด้วยการออกโทเคนดิจิทัล ถือเป็นรูปแบบการระดมทุนที่เข้ามาแก้ปัญหาให้กับธุรกิจพลังงานและธุรกิจสีเขียว ให้สามารถหาเงินทุนมาพัฒนาธุรกิจต่อได้
จากรูปแบบธุรกิจที่ไม่สามารถหาหลักประกันของสินทรัพย์ได้ ทำให้เป็นข้อจำกัดให้กับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ธุรกิจโซลาร์รูฟ การปลูกป่าดูดซับคาร์บอน ที่ธนาคารมองว่าเมื่อจะต้องยึดหลักประกันธนาคารไม่สามารถประเมินมูลค่าสินทรัพย์เหล่านี้ได้ ธุรกิจสีเขียวและธุรกิจพลังงาน จึงมองหาการระดมทุนใหม่ๆ
โดยการออกโทเคนดิจิทัลเป็นการระดมทุนที่มีความคล้ายคลึงกับ”ตราสารหนี้”เพียงแต่เอื้อต่อธุรกิจที่ประสบปัญหาต่อการหาเงินทุน และอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีความน่าสนใจมากกว่า
ในปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่ง ทั้งธุรกิจสีเขียวและธุรกิจพลังงานมีความสนใจออกโทเคนดิจิทัลเพื่อระดมทุน แต่อย่างไรก็ตามหลายแห่งรอความชัดเจนจากการกำกับดูแลของสำนักงานก.ล.ต.ในการออกโทเคน และระยะเวลาที่พร้อมในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล แม้ว่าจะเป็นรูปแบบการลงทุนที่มีคล้ายคลึงกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น คริปโทเคอร์เรนซีแต่”โทเคนดิจิทัลไม่ใช่คริปโทฯ” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านักลงทุนในตลาดยังมีการมองภาพการลงทุนที่คล้ายกัน จึงมองว่าต้องอาศัยช่วงเวลาที่เหมาะสมร่วมด้วย