รู้หรือไม่ “เงินสด” ในมือสร้างต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านบาท!

รู้หรือไม่ “เงินสด” ในมือสร้างต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านบาท!

รู้หรือไม่ "เงินสด" ในมือสร้างต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจราว 5 หมื่นล้านบาท นำไปสู่การเร่งปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เพื่อลดต้นทุนจัดการเงินสด และเพิ่มประสิทธิภาพธุรกรรมทางการเงิน

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เทคโนโลยีโมบายแบงก์กิ้ง พร้อมเพย์ คิวอาร์โคด ได้ทำให้การใช้จ่ายของเราทุกคนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยเพียงไม่กี่คลิ๊ก ซึ่งความสะดวกตรงนี้ได้ทำให้การทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัลนั้นเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลการโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้งของประเทศไทยที่สูงขึ้นถึง 18 เท่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 

นอกจากการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลจะช่วยให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการจัดการเงินสด ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินสดนั้นได้สร้างต้นทุนต่อสถาบันการเงินของประเทศรวมแล้ว 46,000 กว่าล้านบาทต่อปี 

ทางฝั่งผู้ใช้เองก็มีต้นทุนธุรกรรมที่ลดลง จากการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือเสียต่ำลงมาก และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำธุรกรรมกับสาขาธนาคาร เพียงแค่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถทำธุรกรรมได้ไม่ว่าจะอยู่ทีบ้านหรือที่ทำงานก็ตาม 

จากที่กล่าวไปในข้างต้น จะเห็นว่าการใช้จ่ายในระบบดิจิทัลนั้นทั้งให้ความสะดวกสบายและลดต้นทุนได้มากกว่า จึงทำให้เกิดแรงจูงใจในการจ่ายในรูปแบบนี้มากยิ่งขึ้น เป็นผลให้สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง (Less-cash society) และกลายเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ในอนาคต


 

  •   เศรษฐกิจไทยมีต้นทุนมากขนาดไหนต่อธุรกรรมเงินสด?   

รู้หรือไม่ การผลิตและจัดการเงินสดในประเทศไทยนั้นมีต้นทุนสูงถึง 50,000 ล้านบาท

ต้นทุนจำนวนดังกล่าว แบ่งออกเป็นส่วนของธปท. 4,000 กว่าล้านบาท และที่เหลืออีกประมาณ 46,000 ล้านบาท นั้นตกเป็นของธนาคารพาณิชย์ โดยต้นทุนที่เกิดขึ้นจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพิมพ์ธนบัตร และขนส่งพันธบัตรไปยังศูนย์จัดการธนบัตร 10 แห่งทั่วประเทศ เมื่อทางธนาคารพาณิชย์เบิกเงินสด ก็จะมีการขนย้ายธนบัตรไปยังศูนย์เงินสดของธนาคารต่างๆ กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ หลังจากนั้นจึงส่งไปยังตู้เอทีเอ็มและสาขาในแต่ละพื้นที่ต่างๆ เพื่อเตรียมเงินสดไว้สำหรับการถอนเงินของผู้ต้องการใช้เงินสด 

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนของการใช้เงินสดที่สร้างต้นทุนยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เนื่องจากมีการขนส่งเงินย้อนกลับไปยังธปท. เพื่อทำลายธนบัตรที่เสื่อมสภาพ และนำเงินเข้าฝากไว้กับธปท. เพื่อลดต้นทุนการจัดการเงินสดของธนาคารเอง 

จากที่กล่าวไปทั้งหมดจะเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจต้องสูญเสียมูลค่าไปกับการผลิตและจัดการเงินสด โดยการพิมพ์ธนบัตรของธปท. มีต้นทุนเฉลี่ยต่อใบที่ 0.34 บาท และต้นทุนการจัดการเงินสดของธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ ต้นทุนที่กล่าวไปยังเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นเพียงแค่ธปท.และธนาคารพาณิชย์ ยังไม่นับรวมกับต้นทุนที่เกิดกับผู้ใช้เงินสดแต่อย่างใด 

ต้นทุนที่ธนาคารพาณิชย์ต้องแบกรับได้ถูกส่งต่อไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ที่ประชาชนและภาคธุรกิจต้องเผชิญ เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยได้รับเอาค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการเข้าไปด้วย ทำให้แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินฝากของไทยจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ผู้กู้ก็อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้เท่าที่ควร 

การใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนของธนาคารเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ธนาคารมีฐานข้อมูลลูกค้าจากการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารเอง ซึ่งจะช่วยให้สามารถคิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือรูปแบบของสินเชื่อที่เหมาะสมกับผู้กู้ เป็นผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงต่อการแบกรับหนี้เสีย (NPLs) ที่ต่ำลง และช่วยให้ผู้กู้มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง และมีความสะดวกต่อการขอกู้จากหลักฐานการทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเช่นในอดีต 

ตัวอย่างจาก Alipay ที่ใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big data) มาวิเคราะห์ให้คะแนนเครดิต (Credit scoring) เพื่อปล่อยสินเชื่อ ลักษณะเช่นนี้เป็นการให้สินเชื่อบนฐานของข้อมูล (Information base) อาทิ ข้อมูลการใช้จ่าย หรือข้อมูลทางการค้า เป็นต้น ซึ่งผลประกอบการที่ออกมาพบว่า ขนาดหนี้เสียต่ำกว่า 1% จากการให้สินเชื่อทั้งหมด ประโยชน์ตรงนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนจากลดเงินสำรองในกองทุนหนี้เสีย

อีกประเด็นหนึ่ง การใช้จ่ายเงินสดที่มีมูลค่าสูงจะยิ่งสร้างต้นทุนที่สูงตามไปด้วย อย่างที่เข้าใจกันว่า ต้นทุนของเงินสดส่วนใหญ่แล้วเป็นต้นทุนแปรผันที่เกิดขึ้นจากการขนส่งและต้นทุนที่เกิดผ่านการให้บริการต่างๆ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลจะกำจัดต้นทุนดังกล่าว ทำให้มูลค่าของธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นไม่มีผลต่อให้ต้นทุนนั้นสูงขึ้นตามไปด้วย 

นอกจากนั้น ต้นทุนของการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัล ยังอยู่ในรูปของต้นทุนคงที่มาจากโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เมื่อมีการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น จะยิ่งทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดต่ำลงไปอีก 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการนำไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดจะทำให้เศรษฐกิจไทยลดการสูญเสียมูลค่าจากธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินสดลงไป และทำให้การหมุนเวียนของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

  •   ความพร้อมของไทยต่อการเป็นสังคมไร้เงินสด   

จากรายงาน Digital 2021 Global Overview พบว่า คนไทยใช้โมบายแบงก์กิ้งมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีการโอนและชำระเงินผ่านเน็ตเวิร์ก หรือ Real-time payment มากเป็นอันดับ 4 ของโลก จากการจัดดับโดย ACI worldwide 

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า คนไทยมีทักษะในการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลที่ดีมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก สอดคล้องกับข้อมูลของธปท. ที่ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีปริมาณการโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้งสูงขึ้น 18 เท่า จาก 800 ล้านรายการเป็น 14,400 ล้านรายการต่อปี 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้งจะถูกใช้อย่างแพร่หลายแล้วในปัจจุบัน แต่ไม่อาจบอกได้ว่าคนทุกกลุ่มในสังคมจะสามารถเข้าถึงได้ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตคิดเป็นสัดส่วน 77.8% หรือราว 49.7 ล้านคน 

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงคนบางกลุ่มในสังคมที่ยังไม่สามารถใช้จ่ายบนระบบดิจิทัลได้ ทำให้เกิดความจำเป็นที่ยังต้องให้บริการธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินสด ต้นทุนการผลิตและจัดการเงินจึงยังคงมีอยู่ ฉะนั้น การจะเป็นสังคมไร้เงินสดของไทย ยังคงมีพันธกิจที่ต้องเพิ่มการกระจายโครงสร้างพื้นฐานทางระบบดิจิทัลให้เข้าถึงทุกกลุ่มคน มิเช่นนั้นอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาทางโครงสร้างของประเทศไทย และลดขนาดของประโยชน์ที่เศรษฐกิจไทยควรจะได้รับไม่มากก็น้อย

-----------------------------------------

อ้างอิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย , ลงทุนแมน , สำนักงานสถิติแห่งชาติ , Brand inside , BOT Symposium 2018