ADB เผย "ไทยเทค สตาร์ตอัป" กำลังโตเร็ว ชี้รัฐเปิดกว้างนำเทคโนโลยี มาช่วยแก้ปัญหา
เอดีบี เปิดรายงาน เทค สตาร์ตอัปในไทย เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าบริษัทที่มีศักยภาพสูงเหล่านั้น จะส่งผลต่อการพัฒนาในระดับเริ่มต้นเท่านั้น ชี้ รัฐต้องเปิดกว้างในการนำเทคโนโลยีที่เสนอโดยสตาร์ตอัปมาใช้แก้ปัญหา โดยเฉพาะการศึกษา และดูแลสุขภาพ
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผย รายงานเรื่อง Thailand's Evolving Ecosystem Support for Technology Startups ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (15 ก.ย.2565 ) ระบุว่า การรวมกันของผู้ประกอบการในประเทศ นโยบายที่สนับสนุนระบบนิเวศน์ และผู้เล่นต่างๆ ได้ช่วยผลักดันสตาร์ตอัปในเวทีประเทศไทยให้เติบโต
ในปัจจุบันกลุ่มเทคโนโลยีสตาร์ตอัปทางด้านการเงิน และการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซครองพื้นที่ตลาดอยู่ ในขณะที่บริษัทเกิดใหม่ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาสูง เช่น สตาร์ตอัปที่มุ่งเน้นไปเรื่องการศึกษา (edtech) สุขภาพ (healthtech) เกษตรกรรม (agritech) และสิ่งแวดล้อม (greentech) นั้น ได้เริ่มมีการพัฒนาขึ้นบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา
สตาร์ตอัปถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากมีศักยภาพในการสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ ผลผลิตทางการเกษตร และการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านั้นอาจดึงดูดเงินร่วมลงทุน และการสนับสนุนได้น้อยด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น สตาร์ตอัปมักจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ซึ่งต้องใช้เวลาในการผลิต และต้องการความสามารถในการผลิตขั้นสูงมากกว่าการให้บริการด้านต่างๆ ในขณะที่ผู้ที่ให้เงินร่วมทุนนั้นต้องการระยะเวลาในการดำเนินการสั้น และได้ผลตอบแทนที่รวดเร็ว
รายงานยังระบุว่า ความต้องการที่มีน้อยสามารถจำกัดการเพิ่มสตาร์ตอัปใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาได้ อย่างไรก็ตาม การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้กระตุ้นความต้องการอย่างมากในหลากหลายด้าน เช่น การศึกษา และการดูแลสุขภาพ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเป็นทางออกจำเป็นอย่างมากต่อการแก้ปัญหาให้กับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล
นายพอล แวนเด็นเบิร์ก นักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า การใช้ดิจิทัลโซลูชันมีความก้าวหน้าอย่างมากก่อนการระบาดใหญ่ แต่ผลกระทบจากโรคระบาด ได้เพิ่มความต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆ ในเรื่องที่มีความสำคัญ ในด้านสุขภาพ และการศึกษานั้น รัฐบาลเป็นลูกค้ารายสำคัญ ซึ่งการเปิดกว้างในการนำเทคโนโลยีที่เสนอโดยสตาร์ตอัปมาใช้แก้ปัญหานับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
นายศักดิพล จั้วศรีกุล จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย และเสนอโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัป สำหรับประเทศไทย ปี 2559 ถือว่าเป็นปีบุกเบิก โดยรัฐบาลได้ผลักดันให้มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ในขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติได้จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างแนวคิดในการปรับปรุงระบบนิเวศน์ของสตาร์ตอัป อีกหนึ่งปีต่อมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งใหม่ก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ โดยมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนสตาร์ตอัป
นอกจากนั้น ผู้ให้คำปรึกษา (incubator) และโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัป รวมทั้งสถาบันทางการเงินและธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) ต่างๆ ได้ผุดขึ้นมาเพื่อรองรับสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์