‘เงินบาทแข็งค่า’เปิดตลาดที่ 38.05 บาทต่อดอลลาร์
“กรุงไทย” ชี้เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็ว ท่ามกลางความหวังเฟดอาจชะลอเร่งขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปี หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ตลาดการเงินยังผันผวน จับตาประชุม BOJและ ECB ปลายสัปดาห์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 38.00-38.25 าทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 ต.ค.) ที่ระดับ 38.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.29 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ37.90-38.15 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าเร็วกว่าที่คาด หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ซึ่งหากตลาดยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อ ก็อาจเห็นการกลับเข้าซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง หนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซน 37.80-37.90 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่อาจเริ่มกลับมาอยู่ในโหมด Wait and See เพื่อรอจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางหลักสำคัญ ทั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) ท่ามกลางความหวังว่า เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ลดลงต่อเนื่องต่ำกว่าระดับ 50 จุด รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CB Consumer Confidence) เดือนตุลาคมที่ลดลงแย่กว่าคาด นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดยังได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +1.63% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +2.25% ตามแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.09% ตามการปรับลดมุมมองการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของผู้เล่นในตลาด
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.44% จากอานิสงส์ของรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Adyen +5.8%, ASML +3.8% เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังมีความเสี่ยงที่จะถูกกดดันจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อสูง ความเสี่ยงวิกฤตพลังงาน และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมECB ในวันพฤหัสฯ นี้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 110.95 จุด (-0.95%) ตามการเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันโดยการแข็งค่าขึ้นกว่า +1.2% ของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) สู่ระดับ 1.146 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า นายกฯ คนใหม่ของอังกฤษ นาย Rishi Sunak จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) รีบาวด์ขึ้น สู่ระดับ 1,655 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้างตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ โดยเฉพาะแรงขายจากผู้เล่นที่เข้าซื้อทองคำในจังหวะที่ย่อตัวใกล้โซนแนวรับ 1,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในสัปดาห์ก่อนหน้า
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด ก็จะสามารถช่วยหนุนบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินได้
ส่วนในฝั่งไทย รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ (Trade Data) โดย ตลาดประเมินว่า ผลกระทบของการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกจะกดดันให้ยอดการส่งออกของไทยโตเพียง +4.4%y/y ในขณะที่ยอดการนำเข้ายังคงอยู่ในระดับสูงและขยายตัวกว่า +20%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าในเดือนกันยายนจะยังคงขาดดุลราว -2.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหากดุลการค้าขาดดุลกว่าคาดและยังมีทิศทางขาดดุลต่อเนื่องก็อาจกดดันการฟื้นตัวของดุลบัญชีเดินสะพัด แม้จะเริ่มมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นก็ตาม ทำให้เงินบาทอาจไม่สามารถแข็งค่าขึ้นไปได้มากในปีนี้