แบงก์ชาติ-คลัง มั่นใจเศรษฐกิจปีนี้โต3.3-3.4% นักท่องเที่ยวทะลัก10ล้านคน
“แบงก์ชาติ" ประเมินเศรษฐกิจไทยโตตามคาด ลุ้นไตรมาส 3 ขยายตัว 3% หลังท่องเที่ยว-การบริโภคเริ่มฟื้น มั่นใจโลกชะลอกระทบไทยน้อย ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าไม่กระทบเสถียรภาพ ด้าน "อาคม" เชื่อนักท่องเที่ยวปีนี้แตะ 10 ล้านคน
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Bloomberg Business Summit ช่วง Fireside Chat on Monetary Policy ว่า ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งในสัปดาห์หน้าทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ จะแถลง ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2565 เชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสดังกล่าวน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตโดยหลักยังมาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมาก
โดยไตรมาส 3 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 7-8 ล้านคน เทียบกับไตรมาส 2 ที่มีเพียงราวๆ 2 ล้านคนเท่านั้น
“เรายังมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ราว 3.3% และยังไม่เห็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสะดุดลง”
อย่างไรก็ตาม ในด้านการดำเนินนโยบายการเงินของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ทาง กนง. ยังคงทยอยลดการผ่อนคลายลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
โดยพยายามจะไม่เซอร์ไพรส์ตลาด และยืนยันว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ขึ้นช้า เพราะ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับในช่วงก่อนโควิดด้วยซ้ำ หากเทียบกับประเทศอื่นที่การขึ้นดอกเบี้ยเกิดขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว
ส่วนปัจจัยที่แตกต่างไปจากเดิมเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งล่าสุด คือ เรื่องเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มชะลอตัว โดยเฉพาะยุโรป แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมีไม่มาก เพราะแรงส่งของเศรษฐกิจไทย มาจากการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกมากนัก
ส่วนภาพเงินเฟ้อเดือนต.ค. ที่เริ่มลดลงต่ำกว่าระดับ 6% ถือว่าเป็นไปตามที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังอยู่ระดับสูง และคาดจะเห็นจุดสูงสุดได้ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
“เราไม่ได้เบาใจ ที่เงินเฟ้อต่ำลงมา แต่อย่างน้อยก็ไม่มีอะไรที่ผิดคาดมาก จนทำให้เราต้องทบทวนแนวนโบบายการเงินทุกอย่าง และไม่ได้เบาใจ เพราะเงินเฟ้อก็ยังสูง"
เงินบาทแข็งค่าไม่กระทบต่อเสถียรภาพ
ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เชื่อว่ายังไม่เป็นระดับที่กระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมมากนัก เพราะการเคลื่อนไหวของค่าเงินไม่ได้มีการกระตุก หรือเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมากนัก อีกทั้งการแข็งค่าของค่าเงินบาท มาจากเงินดอลลาร์เป็นหลัก ที่อ่อนค่ารวดเร็ว และสร้างผลกระทบต่อตลาด
อีกทั้งยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่เกี่ยวกับเงินทุนไหลเข้าไหลออก ทั้งนี้ที่ผ่านมา การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ มีทั้งการเข้ามาลงทุนระยะสั้น และระยะยาว ทั้งในหุ้นและบอนด์
. ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นต่างชาติ ต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาท ยังอ่อนค่าที่ระดับ 7%
“เราจับตาค่าเงินบาทตลอด ไม่ได้เบาใจ และนักลงทุนเริ่มคุ้นชินกับความผันผวนของค่าเงิน ที่ผันผวนมากขึ้น ดังนั้นการประกันความเสี่ยงเป็นวินัยที่ดีที่ควรทำ เราก็ สนับสนุนให้ทำ ไม่เฉพาะช่วงนี้ แต่ต้องทุกช่วง"
โลกถดถอยกระทบ 'เอเซีย-ไทย' น้อย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเดียวกันว่า ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC) 2022 ที่มีการพูดถึงกันมาก คือภาพของเศรษฐกิจถดถอย ของสองกลุ่มทั้งสหรัฐ และยุโรป จากการใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อลดความรุนแรงของเงินเฟ้อ และอีกกลุ่มคือภาพรวมเศรษฐกิจเอเชีย
โดยเฉพาะ ประเทศจีน ที่ยังมองว่าเป็นประเทศที่ Super power หรือประเทศมหาอำนาจ หากจีนมีการผ่อนคลายซีโร่โควิด-19 ปีหน้าเศรษฐกิจจีนจะกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกลง จาก3.2%มาสู่ 2.7% แต่ภาพเศรษฐกิจเอเชีย ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
มั่นใจเศรษฐกิจไทยโต 3.4% ปีนี้
โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เชื่อว่า ยังเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ที่ 3.4%ปีนี้ และ3.8% ปีหน้า ขณะที่จีน คาดปีนี้ 1.6%และปีหน้าขยายตัวขึ้นเป็น4% สะท้อนว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นขาขึ้นของการฟื้นตัว
ซึ่งประเทศไทย มีการฟื้นตัวชัดเจน จากส่งออกที่เติบโตในระดับที่ดี และท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดปีนี้เพิ่มเป็นระดับ 10ล้านคน หรือคิดเป็นการฟื้นตัว 1 ใน 4 หากเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งจะหนุนให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังมาจาก การลงทุนในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในEEC ที่เพิ่มขึ้นหากเทียบกับ 2ปีก่อน ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องในปีหน้า
“แม้วันนี้มีการพูดถึง Recession การเติบโตเศรษฐกิจโลกลดลง แต่เศรษฐกิจเอเชียยังสวนทาง และในเอเซียยังมีความร่วมมือทางการค้า และFTAต่างๆทำให้การค้าขายในภูมิภาคดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเราไม่ได้รับผลกระทบมากจากเศรษฐกิจโลก”
ส่วนภาพของเงินบาท ที่แข็งค่า ถือว่า ยังไม่เป็นระดับที่กระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และยังเป็นระดับที่อ่อนค่า หากเทียบกับปีก่อน ดังนั้นเงินบาทยังเป็นปัจจัยหนุนต่อภาคส่งออกได้
‘กรุงไทย’ คาดจีดีพีปี 66 ขยายตัว 3.6-3.8%
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ Smooth Takeoff มองจีดีพีขยายตัว 3.6-3.8%
ปัจจัยหลักสนับสนุนมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เริ่มกลับมาดีช่วงปลายปีนี้ ทั้งจากการใช้จ่ายในประเทศ ภาคท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงการประชุมเอเปคครั้งนี้ มีส่วนช่วยสร้างแรงส่งเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐยังให้ความช่วยเหลือประคับประคองในกลุ่มเปราะบางอยู่
อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้า มองว่า ยังมีความท้าทาย ทั้งการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงทุกกลุ่ม ส่งออกชะลอตัว และต้นทุนสูงขึ้นจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญยังมีความไม่แน่นอนสูง ปีหน้า จากปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและมีโอกาสสู่ภาวะถดถอย จากปัญหาเงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงในปีหน้า
ดังนั้นมองว่า ในปีหน้าที่เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆควรจะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรองรับในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กกร. โชว์ความสำเร็จการพัฒนาNDTP หรือ แฟลตฟอร์มการค้าดิจิทัลของไทย เฟสแรก ในการประชุมเอเปค และพร้อมดำเนินงานวางโร้ดแมพเฟสต่อไปจะเป็นการก่อตั้งสรรหาองค์กรและหน่วยงานที่จะพัฒนาและดำเนินการNDTPต่อไปเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงให้ได้ผลบรรลุตามจุดมุ่งหมายอย่างเป็นรูปธรรมใน1-2ปีข้างหน้า
เงินกองทุนธพ.ยังเสถียรภาพ
นอกจากนี้ทางด้านกองทุนของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ยังมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องระมัดระวังในเรื่องของต้นทุนดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้น และทางด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบยังทรงตัว จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังคงมีอยู่ถึงสิ้นปีหน้า
กรุงไทยคาดปล่อยสินเชื่อปีหน้า โต 1-1.5 เท่าของจีดีพี
ทางด้านแนวโน้มธุรกิจของธนาคารกรุงไทย นายผยง กล่าวว่าแนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 4 ปีนี้ ยังฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ และคาดว่าสิ้นปีนี้ยังสามารถปล่อยสินเชื่อโดยมีเป้าหมายเติบโต 3-4%ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้วเติบโตที่1.7% ไม่รวมสินเชื่อภาครัฐ
และธนาคารคาดว่าในปีหน้ายังปล่อยสินเชื่อ เติบโตที่1-1.5ของจีดีพี เป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้า โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐธนาคารพร้อมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง
พร้อมให้เงินหนุนกองทุนน้ำมัน
อย่างเช่น กองทุนน้ำมัน ธนาคารพร้อมสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเช่นกัน โดยไม่จำกัดวงเงินในการปล่อยกู้หากธนาคารชนะการประมูลเงินกู้ดังกล่าวในรอบประมูลครั้งต่อไป หลังจากที่ผ่านมานี้ ธนาคารเข้าร่วมประมูลดังกล่าวไปแล้ว 2 รอบ โดยธนาคารสามารถชนะการประมูลไป1 รอบ มูลค่า 5,000 ล้านบาท