วางแผนการออม รับมือสังคม “เกิดน้อย อายุยืน”

วางแผนการออม รับมือสังคม “เกิดน้อย อายุยืน”

ในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์พัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้อายุขัยของคนเพิ่มขึ้น โดยเห็นได้จากอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณ 77 ปี จากที่เคยอยู่ที่ประมาณ 70 ปีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว (ข้อมูลจาก Worldbank)

ประกอบกับแนวคิดทางสังคมที่คนรุ่นใหม่มักจะไม่มีบุตร หรือมีจำนวนบุตรน้อยกว่าในอดีต รวมทั้งยังมักจะแยกครัวเรือนหลังจากแต่งงานแล้ว มาอยู่เป็น Single Family ทำให้ขนาดสมาชิกต่อครัวเรือนของคนไทยลดลง จากอดีตที่มักอยู่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีจำนวนสมาชิกต่อครัวเรือนประมาณ 4 คนต่อครัวเรือนเมื่อ 20 ปีก่อน มาอยู่ที่เฉลี่ยที่ 3.16 คนต่อครัวเรือนในปี 2561 (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

ภายใต้ภาวะที่คาดว่าเราจะมีอายุยืนขึ้น ในขณะที่ความคิดจะมีบุตรหลานกลับน้อยลง สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคต เราจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลตนเองหลังวัยเกษียณที่อาจจะไม่สามารถหารายได้แล้วหรือหารายได้ได้น้อยลง ซึ่งทำให้หลายท่านเริ่มหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมของคนไทยในปัจจุบัน จะพบว่าการเตรียมพร้อมในส่วนนี้ยังอาจทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากในปัจจุบันมีคนไทยเพียง 20% ที่มีการวางแผนการออมอย่างจริงจัง คือมีการแยกเงินที่จะออมออกจากรายได้ที่รับ ก่อนจะนำเงินส่วนที่เหลือมาจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่อีก 25% ยังไม่มีการออมในรูปแบบใดๆ เลย (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

หลายๆท่าน แม้ว่าจะตระหนักถึงความสำคัญในออมมากขึ้น แต่ยังคงอาจมีคำถามที่สำคัญ คือ เราจะต้องออมเงินให้ได้เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอกับการใช้เงินวัยเกษียณ โดยยังคงมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับในช่วงวัยทำงาน ในส่วนนี้ มีตัวเลขที่น่าสนใจที่เรียกกันว่า Replacement Ratio หรือตัวเลขที่บอกว่าในช่วงวัยเกษียณ เราจะต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายคิดเป็นกี่ % ของรายได้ช่วงวัยทำงาน เพื่อที่จะสามารถมีคุณภาพชีวิตได้ใกล้เคียงกับในช่วงวัยทำงาน ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศมักจะแนะนำตัวเลข Replacement Ratio ที่เหมาะสมอยู่ที่ 70-85%

 

ดังนั้นในการตั้งเป้าหมายการออมอาจจะเริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยสมมุติว่าในช่วงที่ทำงาน เราสามารถหาเงินได้เฉลี่ยเดือนละ 27,000 บาท (สำนักงานสถิติแห่งชาติ: รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนไทยในปี 2564 อยู่ที่ 27,352 บาทต่อเดือน) ในช่วงวัยเกษียณ เงินที่จะทำให้เราเพียงพอใช้จ่าย ก็จะอยู่ที่ประมาณ 18,900 บาทต่อเดือน (ใช้ Replacement Ratio ที่ 70% ของ 27,000 บาท) ซึ่งหากเราใช้ตัวเลขเฉลี่ยอายุขัยของคนไทยในปัจจุบันที่ประมาณ 77 ปี หรือช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณประมาณ 17 ปี ก็มีความหมายว่า เราจะต้องออมเงินให้ได้ประมาณ 3.9 ล้านบาทเพื่อที่จะทำให้เราสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับในช่วงที่ยังทำงานอยู่นั่นเอง (18,900 บาทต่อเดือน x 12 เดือน x 17 ปี)

เป้าหมายการออมที่หลายท่านทดลองคำนวณออกมาตามรายได้ของตนเองนั้น อาจจะสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ยิ่งภายใต้ภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ก็จะยิ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้น ในขณะที่มูลค่าเงินออมของเราจะด้อยค่าลง ดังนั้น การที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการออมเพื่อวัยเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว ค่อยไปเริ่มออมตอนอายุ 40 ปีก็ยังไม่สาย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การออมเพื่อการเกษียณนั้นควรเริ่มตั้งแต่เรายังอยู่ในวัยทำงาน หรือเรียกว่ายิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี และที่สำคัญจะต้องนำเงินออมนั้นมาลงทุนให้เหมาะสมเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้วย พูดง่ายๆ ลงทุนก่อน ลงทุนยาว ออมทีละน้อย ช่วยสะสมผลตอบแทนได้ดีกว่า

ในการที่เราอาจจะมีเงินจำนวนเงินออมที่ไม่มากในแต่ละเดือน ในอดีตอาจจะมีข้อจำกัดหรือทางเลือกในการลงทุนที่ไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินหลายประเภทที่เปิดโอกาสให้สามารถลงทุนได้ด้วยเงินจำนวนไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลผ่านช่องทาง Digital ที่เริ่มต้นขั้นต่ำที่ 100 บาท 

กองทุนรวมทั่วไปที่บางกองทุนสามารถลงทุนขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป หรือการลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทยด้วย DRx หรือ Fractional DR ซึ่งก็คือสิทธิในหุ้นต่างประเทศในเวอร์ชั่น Extra Small ที่สามารถซื้อโดยระบุเป็นจำนวนเงินที่ต้องการลงทุน หรือ ระบุเป็นจำนวนหน่วยก็ได้ โดยสามารถเริ่มซื้อขายขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 0.0001 หน่วยขึ้นไป เครื่องมือทางการเงินต่างๆ เหล่านี้ ช่วยส่งเสริมให้ผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่มากนัก สามารถเลือกลงทุนในรูปแบบที่เหมาะกับตนเองได้

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มออมเงิน และลงทุนเตรียมรับวัยเกษียณ อาจจะเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายด้านจำนวนเงินที่ต้องเก็บและลงทุนในแต่ละเดือนก่อน โดยหากท่านไม่ต้องการคำนวณเองให้ยุ่งยาก ก็สามารถเลือกใช้เครื่องมือช่วยคำนวณเงินออมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดเตรียมไว้ให้บนเว็บไซต์ ที่  https://www.setinvestnow.com/th/tool โดยเครื่องมือนี้ จะสามารถช่วยแนะนำเป้าหมายการออมจากข้อมูลเบื้องต้นที่ท่านกรอก รวมทั้งยังสามารถแนะนำแนวทางการออมและลงทุนที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายทางการเงินตามที่ตั้งใจไว้