จับสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดจากประธานเฟด
อาทิตย์ที่แล้วธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ตรงกับการคาดการณ์ของตลาด แต่ที่นักลงทุนสนใจมากกว่าคือ เฟดจะส่งสัญญาณอะไรหรือไม่เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไป
เพราะหลายอย่างดูดีขึ้นทั้งเศรษฐกิจโลก และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง จดจ้องคําแถลง และการตอบคำถามของประธานเฟดช่วงแถลงข่าวเป็นพิเศษ เพื่ออ่านสัญญาณเฟดจะปรับดอกเบี้ยต่อไปอย่างไร ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินอาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกของปีนี้ เฟดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีที่แล้วขยายตัวตํ่ากว่าร้อยละ 1 จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอ
ไม่ว่าจะเป็น การบริโภค การลงทุน หรือภาคที่อยู่อาศัย เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ทําให้เศรษฐกิจชะลอ และอัตราเงินเฟ้อปรับลดลง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดหวังมีเสถียรภาพทั้งระยะสั้น และระยะยาว แต่ตลาดแรงงานสหรัฐยังตึงตัว อุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน สะท้อนความไม่สมดุลคือ ความต้องการแรงงานมีมากกว่ากําลังแรงงานที่พร้อมทำงาน กดดันให้อัตราค่าจ้างปรับสูงขึ้น
เฟดมองว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ยังสูงกว่าเป้าที่ร้อยละ 2 และแม้อัตราเพิ่มของเงินเฟ้อเดือนต่อเดือนจะลดลง แต่ไม่มั่นใจว่าทิศทางเงินเฟ้อจะเป็นขาลงต่อเนื่องเพราะความไม่แน่นอนมีอยู่มาก
ทําให้คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีต่อไปเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงสู่เป้าหมาย ยํ้าว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงมีผลมากต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นหน้าที่ของเฟดในฐานะธนาคารกลางของประเทศที่ต้องรักษาเสถียรภาพของราคา
หลังการชี้แจงข้างต้น ประธานเฟดคือ นายเจอโรม พาวเวล ต้องตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่มีมาก โดยเฉพาะทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ความเห็นของเฟดเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย
เพราะผู้สื่อข่าวต้องการทราบแนวคิดของเฟดเพื่อประเมินปัจจัย และเงื่อนไข ที่จะนําไปสู่การตัดสินใจของเฟดเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งประธานเฟดก็ตอบได้ดี เน้นย้ำคําตอบ และการอธิบายในแนวที่เคยให้ไว้เดิม สะท้อนความคิดที่คงเส้นคงวา
จากคําตอบของประธานเฟด ผมคิดว่าถ้าอ่านระหว่างบรรทัด มีคําตอบในสองสามคำถามที่น่าสนใจ และให้ความรู้เราว่าเฟดมองปัญหาเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อขณะนี้อย่างไร จึงขอแชร์ข้อสังเกตเหล่านี้
หนึ่ง ต่อคําถามว่าเฟดมองการอ่อนตัวของเงินเฟ้อขณะนี้อย่างไร มีคําใหม่คําหนึ่งที่เฟดใช้ในการตอบคำถามคราวนี้ คือ Disinflation Process หมายถึง กระบวนการที่อัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวลง ทําให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
เป็นคําใหม่ที่เฟดใช้อธิบายทิศทางเงินเฟ้อในอนาคต โดยให้ความเห็นว่า กระบวนการดังกล่าวคือ Disinflation กําลังเกิดขึ้น ทําให้เงินเฟ้อลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
แต่ขณะนี้ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นของกระบวนการดังกล่าว ยังจะต้องมีต่อไป หมายถึงเงินเฟ้อที่ลดลงเหลือร้อยละ 6.5 เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เงินเฟ้อจะต้องลดลงอีก
เฟดอธิบายว่าอัตราเงินเฟ้อที่เห็นลดลงสะท้อนราคาสินค้าที่ลดลงเป็นหลักจากข้อจำกัดด้านอุปทานที่คลี่คลาย ที่จะลดลงต่อไปคือ ราคาบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย แต่ที่ยังเพิ่มขึ้น และไม่ลดลงคือ ราคาบริการอื่นๆ ที่ยังเป็นขาขึ้น
เพราะค่าจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนหลักของสาขาบริการยังปรับสูงขึ้น จากความไม่สมดุลในตลาดแรงงานที่มีอยู่
นี่คือ สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงช้าเพราะการลดความไม่สมดุลในตลาดแรงงานเป็นเรื่องที่ใช้เวลา ทําให้นโยบายการเงินไม่ควรผ่อนคลายเร็วเกินไป ควรตั้งการด์สูงต่อไปจนกว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในตลาดแรงงานจะหมดไป นี่คือคําอธิบาย
สอง ต่อคําถามว่าเฟดมองการลดอัตราเงินเฟ้อจากร้อยละ 6.5 ปัจจุบันกลับสู่เป้าร้อยละ 2 อย่างไร
เฟดย้ำว่าเป็นเรื่องที่ทําได้แต่ไม่ง่าย เพราะความไม่แน่นอนมีมาก และวัฏจักรเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต การปรับลดเงินเฟ้อสู่ร้อยละ 2
หมายถึงสองสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐต้องตํ่ากว่าระดับแนวโน้ม และตลาดแรงงานต้องอ่อนกว่าปัจจุบันคือ มีการว่างงานมากขึ้น
คําตอบนี้ชี้ว่าเฟดตระหนักดีว่าเงินเฟ้อที่ตํ่าจะมีต้นทุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และตระหนักดีถึงความเสี่ยงที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
จึงยํ้าว่าสิ่งที่อยากเห็นคือ เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายพร้อมเศรษฐกิจที่ชะลอ และการว่างงานไม่เพิ่มสูงมาก ซึ่งก็คือ อยากเห็นเศรษฐกิจมี Soft landing
สาม ต่อคําถามว่าอัตราดอกเบี้ยต้องปรับขึ้นอีกกี่ครั้ง
ประธานเฟดไม่ตอบตรงไปตรงมา แต่ถ้าอ่านระหว่างบรรทัด ประเมินได้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยคงมีต่อไปและอย่างน้อยคงอีกครั้งสองครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะปรับขึ้นมากหรือน้อยคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ
ท้ายสุดต่อคําถามว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร ก็ไม่มีคําตอบตรงไปตรงมาเช่นกัน
แต่ที่พอจะจับประเด็นได้คือ เฟดให้ความสำคัญกับอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่เป็นบวกในทุกช่วงของเส้นอัตราผลตอบแทนหรือ Yield Curve ซึ่งถ้าพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นชัดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีพื้นที่ ที่ต้องไปต่ออีก
ดังนั้นจึงไม่ผิดหวังที่เฟดสามารถสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้ดี โดยไม่ต้องตอบคําถามที่ทุกคนอยากรู้
ทัศนะ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์