5 เหตุการณ์ บ่งชี้ ‘ดอลลาร์’ กำลังเสื่อมถอย?

5 เหตุการณ์ บ่งชี้ ‘ดอลลาร์’ กำลังเสื่อมถอย?

ในปี 2566 มีหลายประเทศเริ่มลดการพึ่งพา "เงินดอลลาร์" สะท้อนถึงความนิยมในเงินดอลลาร์ที่เสื่อมลง ไม่ว่าจะเป็นกรณีของซาอุดีอาระเบียที่พิจารณาซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินหยวน หรือกรณีบราซิลใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการเงิน

แม้ "เงินดอลลาร์" จะยังเป็นสกุลเงินหลักของโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นที่มีต่อเงินดอลลาร์ดูจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ โดยในช่วงหลายปีมานี้ เราเห็นข่าวที่สะท้อนความพยายามของหลายๆ ประเทศที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ลง ยิ่งเฉพาะในปี 2566 เราเห็นข่าวทำนองนี้เด่นชัดมากขึ้น สะท้อนถึงความนิยมในเงินดอลลาร์ที่กำลังเสื่อมลงอย่างชัดเจน

 

5 เหตุการณ์สำคัญ เงินดอลลาร์ กำลังเสื่อมถอย

เราขอยก ‘5 เหตุการณ์สำคัญ’ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งบ่งบอกถึงความพยายามในการลดใช้เงินดอลลาร์ลงอย่างเห็นได้ชัด

1. รายงานข่าวจาก วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ที่ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังพิจารณาที่ซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินหยวน โดยนักวิเคราะห์ฟันธงว่า หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง อาจดันให้เงินหยวนขึ้นเป็นสกุลเงินหลักของโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเงินดอลลาร์ในช่วงทศวรรษ 70

2. จีนและบราซิล ได้เซ็นข้อตกลงการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรง แบบไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลางอีกต่อไป

3. การที่นายอาลี ชัมคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงสูงสุดแห่งชาติของอิหร่าน (SNSC) ออกมาแสดงความเห็นว่า การทำให้สกุลเงินดอลลาร์มีบทบาทน้อยลงในการค้าระหว่างประเทศและในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น จะช่วยลดอิทธิพลของสหรัฐที่มีต่อเศรษฐกิจโลกลงได้

4. “CNOOC” บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนบรรลุข้อตกลงการขายแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ให้กับ “TotalEnergies” ของฝรั่งเศสด้วยสกุลเงินหยวน โดยสำนักข่าวโกลบอล ไทมส์ (Global Times) สื่อของรัฐบาลจีนระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำธุรกรรมด้านน้ำมันข้ามชาติที่ชำระเป็นสกุลเงินหยวนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสที่เพิ่งเดินทางกลับจากเยือนจีน ก็ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า ยุโรปจำเป็นต้องลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ลง เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐ  

5. การประชุมกระทรวงการคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่จบไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2566 เห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายและลงทุนข้ามพรมแดน พร้อมกับลดการพึ่งพาสกุลเงินหลักของต่างชาติ เช่น เงินดอลลาร์ลง

 

จะเห็นว่าทั้ง 5 เหตุการณ์นี้ สะท้อนชัดถึงความเสื่อมถอยที่มีต่อเงินดอลลาร์ลงอย่างชัดเจน ในทางกลับกันดูเหมือนว่า เงินหยวน กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ณ จุดนี้ เราเพียงแต่อยากจะบอกว่า การทะลายกำแพงความเชื่อมั่นที่มีต่อเงินดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินหลักของโลกยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย!