ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ จากความกังวลศก.สหรัฐ
กรุงไทย ชี้เงินบาทแข็งค่าตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จากความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ-ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารขนาดเล็ก-กลาง และแรงขายทองทำกำไร และแรงเทขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติชะลอตัวลง มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.00-34.30บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 เม.ย.) ที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์มอง กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ34.00-34.30 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน
ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่า แม้เงินบาทอาจยังมีโมเมนตัมการแข็งค่าอยู่บ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลง โดยเราประเมินโซนแนวรับสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงวันก่อนหน้า หลังข้อมูลยอดการส่งออกของไทยและดุลการค้าในเดือนมีนาคมออกมาดีเกินคาดไปมาก
นอกจากนี้ เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า อาทิ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติและโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนของผู้นำเข้าก็ยังคงมีอยู่บ้าง
อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าได้บ้างจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราเริ่มเห็นการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์ในสัปดาห์นี้ แม้ว่ายอดฟันด์โฟลว์อาจไม่ได้สูงมาก แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่า นักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการเทขายสินทรัพย์ไทย
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้บ้าง (แต่โซนแนวต้านของดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ก็อาจอยู่ในช่วง 101.8-102 จุด)
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของบริษัท Microsoft +7.2% โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจ Cloud ได้ช่วยหนุนให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Cloud อื่นๆ ต่างปรับตัวสูงขึ้น เช่น Nvidia +2.7%, Amazon +2.4% ทำให้โดยรวมหุ้นกลุ่มเทคฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นได้ดีและทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.47% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องของธนาคารขนาดเล็ก-กลาง รวมถึง ความวุ่นวายการเมืองสหรัฐฯ จากการเจรจาต่อรองปรับเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยลดความเสี่ยงลง กดดันให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.38%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.83% กดดันโดยการปรับตัวลดลงแรงของหุ้นกลุ่มHealthcare (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทยารายใหญ่ของโลก) อาทิ Novo Nordisk -3.8%, AstraZeneca -3.7% หลังสหภาพยุโรปได้เปิดเผยร่างข้อเสนอในการปฏิรูปอุตสาหกรรมยาของยุโรป นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มแบรนด์เนม (Dior -2.5%, Hermes -1.6%) หลังผู้เล่นในตลาดยังคงไม่มั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน (สอดคล้องกับภาพการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงในระยะนี้)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดผันผวน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวแถวระดับ101.4 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าจะได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด จนราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถปรับตัวขึ้นทดสอบสู่โซนแนวต้านแถว 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง แต่ทว่า ราคาทองคำก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนดังกล่าวได้และเผชิญแรงขายทำกำไร รวมถึงการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงกลับสู่โซนแนวรับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าราคาทองคำจะแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปจนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้าถึงจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น คือ รายงาน GDP ไตรมาสแรกในปีนี้ของสหรัฐฯและยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ทำให้การบริโภค โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการยังคงขยายตัวได้ดี ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้อาจโต +2.0% จากไตรมาสก่อนหน้าเมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งก็เป็นการชะลอลงบ้าง ตามแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดและภาวะเงินเฟ้อสูง (เศรษฐกิจโตกว่า+2.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาคการบริการและการบริโภคอาจเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้นได้ สะท้อนผ่าน ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอลง ชี้จากยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ที่อาจทยอยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Amazon และ Intel