สรรพสามิตชี้กรมฯไม่มีข้อจำกัดเปิดเสรีสุรา
สรรพสามิตชี้นโยบายสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลสอดคล้องกับทิศทางของกรมฯ ซึ่งปัจจุบันได้ปลดล็อกเงื่อนไขให้ผู้ผลิตทุกขนาดแล้ว ขณะที่ มูลค่าการตลาดที่คงที่ในระดับ 4 แสนล้านบาทมานาน อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ผลิตรายใหญ่ที่อาจแข่งขันได้ยาก
นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิตระบุ นโยบายสุราก้าวหน้า (เปิดเสรีสุรา) ของพรรคก้าวไกล ที่มีสาระสำคัญที่ต้องการปลดล็อกเงื่อนไขให้มีผู้ผลิตรายย่อยและรายใหญ่ให้มากขึ้นนั้น ถือเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของกรมฯอยู่แล้ว ดังนั้น หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลและเดินหน้านโยบายดังกล่าว ทางกรมฯก็ไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้ผลิตสุรา จะแบ่งเป็น ผู้ผลิตในระดับชุมชน และ รายใหญ่ แต่ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.2565 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติปลดล็อกให้มีผู้ผลิตตั้งแต่รายกลางขึ้นไปได้ ดังนั้น ปัจจุบัน เราจึงมีผู้ผลิตในทุกขนาด คือ ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และ ขนาดใหญ่ โดยรายเล็ก หรือ ในระดับชุมชนนั้น มีผู้ผลิตอยู่แล้วนับพันราย ส่วนรายกลางนั้น ตั้งแต่เราเปิดเงื่อนไข ขณะนี้ ยังไม่มีผู้ผลิตรายกลางยื่นจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเข้ามามากนัก ส่วนรายใหญ่นั้น ในปัจจุบันก็มีจำนวนไม่มากนักเช่นกัน
“เรื่องสุรานั้น เดิมเรามีเจ้าใหญ่ และก็มีพวกสุราชุมชนเป็นพันราย แต่เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 เราได้ปลดล็อกเงื่อนไขผู้ผลิตรายกลางขึ้นไป ก็ทำให้เรามีทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ โดยเราเพิ่มรายกลางมาให้ ซึ่งเดิมขนาดเล็กแค่ 5 แรงม้า ถ้ามากกว่านั้น จะเป็นโรงใหญ่ไปเลย เราก็เพิ่มขนาดกลางมาให้ตั้งแต่ 5 แรงม้า ถึง 50 แรงม้า ฉะนั้น ถ้ามองอย่างนี้ นโยบายเราก็สอดรับกับพรรค ซึ่งเราเพิ่มให้แล้วทั้งนี้ เมื่อเราเปิดให้รายกลาง แต่ก็ยังมีคนมาขอไม่เยอะ อาจมีเรื่องเงื่อนไขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาด้วย แต่คิดว่า ขณะนี้ ก็ไม่น่าจะติดเงื่อนไขอะไร”
สำหรับผู้ผลิตสุรารายใหญ่นั้น แม้ว่า เราจะไม่มีข้อจำกัด แต่มองว่า ผู้ผลิตรายใหญ่อาจจะเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจาก มูลค่าการตลาดสุรานั้น อยู่ในระดับที่คงที่มานานราว 4 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน สาเหตุเพราะเราห้ามการโฆษณา เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ อย่างไรก็ดี หากมีผู้ผลิตรายใหญ่เกิดขึ้น ก็ถือว่า เป็นผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ
“เรื่องผู้ผลิตรายใหญ่นั้น ถ้าจะให้คนอื่นมาเปิดก็ได้ ไม่ได้ปิดกั้นอะไร แต่กรมฯมองว่า เนื่องจาก มูลค่าตลาดที่ทรงมานานมากที่ระดับ 4 แสนล้านบาทต่อปี ก็ไม่น่าจะมากกว่านี้ ฉะนั้น ก็มองว่า ไม่น่าจะมีรายใหญ่รายอื่นเข้ามาแข่ง เพราะอาจจะเหนื่อย ทั้งนี้ เรื่องสุรานั้น ต้องดูเรื่องการบริโภคเป็นหลัก ถ้าคนบริโภคเยอะ เราก็แฮปปี้ แต่ฝั่งหมอไม่แฮปปี้ ถ้าเปิดเสรี เราไม่กลัวเรื่องรายใหญ่ เพราะมั่นใจในระบบ มีการควบคุมที่ดี รายเล็กนั้น เราจะกังวลเรื่องคุณภาพ และการลักลอบ ถ้าเป็นญี่ปุ่น มีวินัย ถ้าเราจะทำแบบเขา รายเล็กจะต้องมีคุณภาพ ฉะนั้น อาจจะต้องมีการควบคุม”
ส่วนผู้ผลิตเบียร์นั้น ปัจจุบันมีเพียงผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตเฉพาะสถานที่ ถือว่า ยังมีข้อจำกัด เพราะการผลิตเบียร์นั้น วิธีการผลิตไม่เหมือนสุรา เพราะจะมีปัญหาเรื่องของน้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม หากจะเปิดเสรีแบบทำเองกินเอง อาจต้องดูผลกระทบว่า เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องเงื่อนไขนั้น จะมีเงื่อนไขของกรมโรงงานกระทรวงอุตสาหกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น กรณีโรงงานเบียร์ ถูกจัดผู้ในจำพวกที่ 3 ซึ่งต้องมีเกณฑ์เรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้ามาด้วย ขณะที่ สุราไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย หรือ สิ่งแวดล้อม
เขายังกล่าวถึงการจัดเก็บรายได้สุราและเบียร์รอบ 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 ด้วยว่า ในส่วนของสุราจัดเก็บได้จำนวน 4.03 หมื่นล้านบาท หรือ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุที่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากในปีที่แล้วยังปิดประเทศ สถานบันเทิงยังไม่เปิด ทำให้ยอดขายสุราตก ส่วนการจัดเก็บรายได้ของเบียร์นั้น อยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 3%เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก ฐานปีที่แล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เพราะเบียร์สามารถหาซื้อได้ในร้านค้าทั่วไป