เกิดอะไรขึ้น! ทำไมเงินบาทพลิก ’อ่อนค่า’ เร็วทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์
บล.ซีจีเอส - ซีไอเอ็มบี จับทิศทางค่าเงินบาท หลังเงินอ่อนค่าเร็วทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ ชี้หากไม่เลยระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ ยังไม่อ่อนค่าผิดปกติ และสอดคล้องสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ยังมองจุดกลับทิศทาง เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย คงมุมมองค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ ที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์
หลังจากวานนี้ (22 มิ.ย.2566) เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นการอ่อนค่าแรงที่สุดในรอบกว่า3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.2566 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่างทำให้ เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าเร็ว และในรอบ 3 วัน เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในภูมิภาค
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ให้มุมมองว่า หากเทียบกับเงินสำรองต่างประเทศ ( Foreign Reserve ) ช่วงปีที่ผ่านมา เราไม่ได้แทรกแซงเชิง direction เป็นแค่ volatiltiy absorbtion มองจากระดับทุนสำรอง ถ้าค่าเงินบาทไม่เลย ระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ อาจไม่ถือว่า ‘อ่อนผิดปกติ’
ถัดมา ระดับค่าเงินบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) เงินบาทอยู่กลางตารางในภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางแนวโน้มสกุลเงินเอเชียอ่อนค่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะยังไม่กลับทิศทาง ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ มาให้กลับทิศทาง ( reverse)
และในช่วง 1-3 เดือน ตลาดเงินดอลลาร์ในเอเชีย( Asian Dollar) ปรับตัวลงมากกว่าตลาด (underperformed) โดย ดัชนีค่าเงินดอลลาร์(DXY) หนัก 5-6% เหตุผลหลักมาจากนโยบายการเงินที่แตกต่างกันชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่าง สหรัฐ กับจีน และญี่ปุ่น รวมถึงประเด็นการเมือง ลดทุนไหลเข้า
ขณะเดียวกัน แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่าได้ มองว่า มีโอกาสอ่อนต่อเนื่องไปถึงระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ ภายใต้สมมติฐานคือ เงินเฟ้อสหรัฐต้องไม่ปรับลดลง, ราคาน้ำมันปรับขึ้นหรือเศรษฐกิจจีนชะลอลง
หรือพลิกกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ภายใต้สมมติฐาน ที่ต้องมีจังหวะเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว , เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย สัญญาณแรก รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน ( Initial Jobless Claims ) เหนือ 300,000 ราย
อย่างไรก็ดี เรามองจุดกลับตัวอยู่ที่เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย และยังคงมุมมองค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์