“อาคม”เร่งธ.ก.ส.แก้หนี้เสียตั้งเป้าลดเหลือ3%
“อาคม”สั่งธ.ก.ส.เร่งแก้หนี้เสีย ตั้งเป้าลดเหลือ 3% จาก 7% ในปัจจุบัน ยอมรับหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดกับกลุ่มเกษตรกรและเป็นลูกค้าธ.ก.ส.จึงมอบนโยบายเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้พร้อมกับการเติมสินเชื่อใหม่สร้างอาชีพ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของคนไทย เป็นหนี้ครัวเรือนที่เกิดกลุ่มเกษตรกร ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของธ.ก.ส. ดังนั้น จึงอยู่ในความรับผิดชอบของธ.ก.ส.ที่จะดำเนินการแก้ไข โดยตนได้มอบหมายให้ธ.ก.ส.เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรพร้อมกับ การให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องของการบริหารจัดการเงิน
“เกษตรกรรายใดมีหนี้ ต้องเข้าเจรจากับธ.ก.ส. เพื่อขยายงวดการชำระ ถ้ามีเงินน้อย ก็ขอชำระน้อย วิธีการดังกล่าวจะต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้การบริหารจัดการเงินของเกษตรกร เพื่อทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนทยอยลดลง”
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งส่งผลให้ปัญหาหนี้เสียได้ทยอยลดลงโดยจากเมื่อต้นปี 2565 สัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 12% ของสินเชื่อโดยรวม แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือประมาณ7% และในปี2566 ตั้งเป้าหมายว่า ธ.ก.ส.จะมีสัดส่วนหนี้เสียเพียง 3-4% ซึ่งเรามั่นใจว่า หนี้เสียจะลดลงได้อย่างแน่นอน ด้วยการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่สาขาทั่วประเทศ ติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด
นายอาคมกล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องทำควบคู่กันไประหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และหารายได้เพิ่ม ซึ่งต้องทำต่อเนื่อง เช่น การปลูกทุเรียน มะม่วง ลำไย กาแฟ กล้วยหอม เป็นต้น แต่สามารถปลูกพืชระยะสั้นได้ เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งโรงพยาบาลเกือบทั่วประเทศต้องการ โดยการปลูกพืชระยะสั้นสามารถสร้ายรายได้ และสามารถกู้สินเชื่อกับธ.ก.ส.ได้ เพราะธ.ก.ส.มีโครงการเติมสินเชื่อให้เกษตรกรรายละ 1-2 แสนบาท
ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน หลังจากมีรายได้จากอาชีพเสริม โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ 50% ชำระหนี้ อีก 40% เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และ 10% สมทบทุนวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นตัวแทนในการช่วยเหลือด้านการตลาดสำหรับจำหน่ายสินค้าเกษตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ และสามารถลดภาระหนี้สินได้ด้วย