จากดอกเบี้ยนโยบายสู่ 'ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์' ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม

จากดอกเบี้ยนโยบายสู่ 'ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์' ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม

ตั้งแต่เริ่มวิกฤตโควิด19 ไทยนับเป็นประเทศแรก ๆ ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินและบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน

นับเป็นเวลากว่า 2 ปีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้องเผชิญความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากขึ้น นโยบายการเงินจึงควรทยอยปรับเข้าสู่ภาวะปกติให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป

  คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง 6 ครั้ง ตั้งแต่สิงหาคม 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปัจจุบัน บทความนี้จะเล่าถึงพฤติกรรมการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นรอบปัจจุบันว่าต่างไปจากอดีตหรือไม่

โดยปกติแล้ว เมื่อธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธพ. จะปรับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้สอดคล้องกัน ซึ่งการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านช่องทางดอกเบี้ยของ ธพ. นับเป็นช่องทางส่งผ่านหลักไปสู่ระบบเศรษฐกิจ

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาระบบธนาคารเป็นแหล่งระดมทุนและการออมที่สำคัญ โดยการกู้ยืมผ่านสินเชื่อคิดเป็นร้อยละ 89 ของการกู้ยืมของภาคเอกชนทั้งหมด

ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธพ. จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการออม การลงทุน และการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน

การศึกษาพฤติกรรมการปรับดอกเบี้ยของ ธพ. สำหรับวัฏจักรขาขึ้นรอบปัจจุบัน พบประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประการ ได้แก่

จากดอกเบี้ยนโยบายสู่ \'ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์\' ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม

ประการแรก การปรับดอกเบี้ยของ ธพ. ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ต่างจากอดีต คือ

(1) ธพ. ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้แต่ละประเภทต่างกัน โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้กู้รายใหญ่ (Minimum loan rate: MLR)       เร็วและมากกว่าผู้กู้รายย่อย (Minimum retail rate: MRR) (ตาราง 1) ต่างจากในอดีตที่ ธพ. ปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อแต่ละประเภทในขนาดที่ใกล้เคียงกัน

การทยอยปรับขึ้น MRR สะท้อนความพยายามของ ธพ. ในการช่วยบรรเทาภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั้ง SMEs และครัวเรือนที่การกู้ยืมส่วนใหญ่อ้างอิง MRR และเอื้อให้รายได้ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวมาช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น

(2) ธพ. ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากน้อยกว่าอดีต โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจาก ธพ. ไม่มีความจำเป็นในการระดมเงินฝากเพิ่มเติมมากนัก จากสภาพคล่องในระบบ ธพ. ที่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากปริมาณเงินฝากที่ยังขยายตัวร้อยละ 3 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด

ขณะที่อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 90.6 ณ มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2559 สะท้อนว่า ธพ. มีสภาพคล่องเพียงพอให้สามารถปล่อยกู้ได้

ประการที่สอง ธพ. ใหญ่ และ ธพ. อื่น ๆ มีพฤติกรรมการปรับดอกเบี้ยแตกต่างกัน (ตาราง 2) ด้านดอกเบี้ยเงินกู้ พบว่า ธพ. ใหญ่ปรับขึ้น MLR โดยเฉลี่ยมากกว่า ธพ. อื่น ๆ (ร้อยละ 76 เทียบกับร้อยละ 59)

ขณะที่ปรับขึ้น MRR น้อยกว่า (ร้อยละ 47 เทียบกับร้อยละ 49) โดยเร่งปรับขึ้น MLR ในช่วงแรก แต่ทยอยปรับขึ้น MRR สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก พบว่า ธพ. ใหญ่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า ธพ. อื่น ๆ โดยเฉพาะเงินฝากประจำ

จากดอกเบี้ยนโยบายสู่ \'ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์\' ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม

พฤติกรรมที่ต่างกันนี้มาจากหลายปัจจัย ได้แก่

(1) โครงสร้างทางการเงินที่ต่างกัน (ตาราง 3) โดย ธพ. ใหญ่มีสินเชื่อที่อ้างอิง MLR กว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนมากเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ ธพ. จึงสามารถปรับขึ้น MLR ได้เร็ว และทยอยปรับขึ้น MRR ได้

นอกจากนี้ ธพ. ใหญ่มีสัดส่วนเงินฝากกว่าร้อยละ 88 ของยอดคงค้าง ธพ. ไทยทั้งหมด โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 76 เป็นเงินฝากออมทรัพย์ ในช่วงที่ผ่านมา ธพ. ใหญ่จึงปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากประจำในอัตราที่มาก ทำให้ครัวเรือนเคลื่อนย้ายเงินฝากจากเงินฝากออมทรัพย์มาเงินฝากประจำมากขึ้น 

(2) ดอกเบี้ยของ ธพ. อื่น ๆ อยู่ในระดับที่สูงกว่า ธพ. ใหญ่อยู่ก่อนแล้ว โดยดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธพ. อื่น ๆ อยู่สูงกว่า ธพ. ใหญ่โดยเฉลี่ยร้อยละ 1 เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ธพ. อื่น ๆ จึงปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่มาก

ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากของ ธพ. อื่น ๆ ก็อยู่ในระดับสูงกว่าเช่นกัน อีกทั้งยังมีสัดส่วนเงินฝากประจำที่มากกว่า ธพ. ใหญ่เกือบ 2 เท่า ทำให้ ธพ. อื่น ๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำได้น้อยกว่า

แม้พฤติกรรมการปรับดอกเบี้ยของ ธพ. จะเปลี่ยนไปจากอดีตบ้าง แต่การเพิ่มความระมัดระวังในการส่งผ่านผลกระทบไปยังกลุ่มเปราะบางนั้นสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องการสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

ในระยะต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะติดตามผลจากการดำเนินการนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท. ทั้งนี้ การกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง และอ้างอิงถึงผู้เขียนชัดแจ้ง

คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นลิน หนูขวัญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ

จากดอกเบี้ยนโยบายสู่ \'ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์\' ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม

รวิภา ไวยาวัจกร เศรษฐกร

จากดอกเบี้ยนโยบายสู่ \'ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์\' ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม