ความหลากหลายผลิตภัณฑ์ตลาดทุนไทย เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของทุกคน

ความหลากหลายผลิตภัณฑ์ตลาดทุนไทย เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของทุกคน

ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนไทย เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของทุกคน โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ใน “ตลาดทุนไทย” มีผลิตภัณฑ์การลงทุนหลากหลายประเภท สามารถรองรับความต้องการทางการเงินของผู้คนได้แทบทุกกลุ่ม ทั้งผู้ต้องการระดมทุน เช่น บริษัทต้องการระดมทุนเพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจ ขยายกำลังการผลิต หรือนำไปใช้บุกตลาดใหม่เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของกิจการ และผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลายหลายเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงิน เช่น การสะสมทุนไว้รองรับวัยเกษียณ หรือการเก็บออมเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ

บริษัทขนาดใหญ่สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) และล่าสุดคือ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ของกิจการ SME/Starup

LiVEx เกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงทุนได้ง่ายของสำหรับกิจการขนาดย่อม โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเข้าระดมทุนของธุรกิจขนาดย่อมไม่ให้เป็นภาระกับกิจการ เช่น ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตและไม่กำหนดให้มีที่ปรึกษาทางการเงิน แต่เน้นหลักการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน มีอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียนต่ำกว่ากลุ่มบริษัทจดทะเบียนใน mai เป็นต้น
 
อีกทางเลือกในการระดมทุนในวงจำกัดที่มีความน่าสนใจสำหรับกิจการ SME/Starup คือ การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement) ที่เปิดให้บริษัทจำกัดสามารถออกหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ เพื่อขายให้กับผู้ลงทุนในวงจำกัดได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตหรือแบบแสดงรายการข้อมูล และการระดมทุนด้วยวิธีคราวด์ฟันดิงผ่านผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง (funding portal)

โดยกิจการ SME/Starup ที่สนใจระดมทุนด้วยการออกหุ้นหรือหุ้นกู้ผ่านช่องทางนี้สามารถนำโครงการ หรือแผนการระดมทุนไปเสนอต่อ Funding Portal ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่คัดกรองและเปิดเผยข้อมูลการเสนอขายผ่านเว็บไซต์ของ funding portal ต่อผู้ลงทุน

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขาย หากบริษัทสามารถระดมเงินทุนได้ตามเป้าหมาย ก็จะได้รับเงินทุนไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ผู้ลงทุนจะได้หุ้น หรือหุ้นกู้ของบริษัทตามสัดส่วนเงินที่ลงทุน โดยมีเงื่อนไข 2 กรณีคือ 

1. กรณีหุ้นคราวด์ฟันดิง หากบริษัทระดมทุนไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือว่าการระดมทุนไม่สำเร็จ ผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินค่าจองซื้อกลับคืนไป โดยลักษณะนี้เรียกว่า “all-or-nothing"

2. กรณีหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง หากสามารถระดมทุนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนเงินที่เสนอขาย ก็ไม่ต้องยกเลิกการเสนอขาย ข้อดีคือ บริษัทจะยังได้รับเงินและสามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดย funding portal ต้องเปิดเผยและแจ้งเงื่อนไขดังกล่าวให้ผู้ลงทุนรับทราบก่อนการจองซื้อด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การระดมทุนผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลรวมสะสมการระดมทุนไปแล้วกว่า 8,741.78 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566) 

นอกจากนี้ ในตลาดทุนไทยยังมีช่องทางการระดมทุนผ่านตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยการเปิดให้บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดสามารถออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Initial Coin Offering: ICO) ต่อประชาชนได้ โดยมายื่นขออนุญาตจาก ก.ล.ต. และสามารถนำโทเคนดิจิทัลดังกล่าวไปซื้อขายเปลี่ยนมือผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ โทเคนดิจิทัลที่เสนอขายกำหนดให้สิทธิ หรือผลประโยชน์ต่าง ๆ ต่อผู้ลงทุน เช่น ส่วนแบ่งกำไรหรือรายได้จากโครงการ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า หรือบริการที่เฉพาะเจาะจง โดยกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วยสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ตามที่ระบุในเอกสารประกอบการเสนอขาย ICO ที่เรียกว่า White Paper ของแต่ละเหรียญ ซึ่งที่ผ่านมามีการระดมทุนไปแล้ว 2,665.23 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566)

สำหรับในฝั่งผู้ลงทุน สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอยู่หลากหลายในตลาด ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวม สินทรัพย์ดิจิทัล ฯลฯ ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดทุนไทยผ่านการออกเกณฑ์ และกำกับดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ตลาดทุนไทยมีความโปร่งใสเป็นธรรม

โดยมีมาตรการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น เช่น การดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอ การคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น ดูแลผู้ประกอบธุรกิจให้ปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม น่าเชื่อถือ ตลอดจนการให้ความรู้และคำเตือนแก่ผู้ลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ก.ล.ต. ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ลงทุน เช่น “SEC Fund Check” เพื่อช่วยค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลกองทุน และ “SEC Bond Check” เพื่อช่วยค้นหาข้อมูลตราสารหนี้ได้ง่ายและสะดวก รวมทั้ง “SEC Check First” ที่ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลบุคคล นิติบุคคล และผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนได้ว่า ได้รับการอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้วหรือไม่

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนไทยทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนตามหลักศาสนาอิสลามที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมุสลิมใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นเครื่องมือในการออมอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา 

ประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนรวมอิสลามมาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันมีกองทุนรวมอิสลาม 6 กองทุน และ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนมุสลิมว่าการลงทุนในกองทุนรวมอิสลามเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง และยังเป็นทางเลือกในการออมเงิน รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมอิสลาม RMF หรือ SSF ที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนอีกด้วย

การที่ตลาดทุนไทยมีผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนหลากหลาย นอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของประชาชนใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสะสมความมั่งคั่งแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ผู้ประกอบการนำทุนที่ได้ไปใช้พัฒนากิจการให้เติบโตเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศในระยะยาวต่อไป
**********************************