เปิดมุมมอง Digital Assets และ Sustainability ในกลุ่ม EU มีพัฒนาการที่น่าสนใจอย่างไร ?

เปิดมุมมอง Digital Assets และ Sustainability ในกลุ่ม EU มีพัฒนาการที่น่าสนใจอย่างไร ?

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความ SET SOURCE เปิดมุมมองพัฒนาการด้าน Digital Assets และด้าน Sustainability ในกลุ่มประเทศ EU มีความน่าสนใจอย่างไร ?

เทรนด์ตลาดทุนที่สำคัญ

  • เทรนด์สินทรัพย์ดิจิทัล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger technology: DLT) นับเป็นวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกการเงินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการต่อยอดการให้บริการจาก programmability 

นอกจากนี้ การเข้ามามีบทบาทของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ในกลุ่มประเทศ EU ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินและมีการพัฒนาเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ก้าวหน้ากว่าประเทศในกลุ่มอื่นๆ ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นประเทศสหพันธรัฐ คล้ายคลึงกับแนวคิด Decentralize ของ Blockchain ทำให้มีการรวมตัวกันแบบหลวม ๆ กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์จึงดูเป็นกฎหมายที่เขียนออกเป็นแบบกว้างๆ 

ทำให้เมื่อเกิดสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา รัฐบาลจึงเลือกที่จะปรับปรุงกฎหมายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้เรื่องของBlockchain และ DLT สามารถถูกนำมาใช้ได้ และมีกฎหมายรองรับ โดยประเทศเลือกที่จะเปิดกว้างให้มีการออกSandbox ให้ผู้สนใจได้ทดลองใช้ 

ในขณะที่ประเทศเยอรมนี มีการออกกฎหมายในปี 2020 เพื่อให้สามารถบันทึกการถือสินทรัพย์ (โดยเฉพาะ bond) ลงบน blockchain และออกกฎให้กองทุนสามารถออกหน่วยลงทุนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ภายหลังจากการล่มสลายของ Luna และ FTX ทำให้หน่วยงานกำกับของเยอรมนีได้มีแนวโน้มที่จะกำกับดูแลคริปโทให้เข้มงวดมากขึ้น

จากประสบการณ์ในทั้งสองประเทศ  ทำให้เห็นชัดเจนว่า ทั้งสองประเทศค่อนข้างมีความชัดเจนในการกำกับดูแล และพยายามไม่เปิดช่องให้มีการทำ regulatory arbitrage และช่วยสนับสนุนให้มีการประกอบธุรกิจที่มีประโยชน์ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความมั่นใจ จึงเป็นเรื่องที่ดูไม่น่าแปลกใจเลยที่ประเทศทั้งสองมีธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น SIX Digital Exchange (SDX) ที่เคยประกอบธุรกิจตลาดหลักทรัพย์มาก่อน และขยายตัวเองมาทำสินทรัพย์ดิจิทัล 

โดยแนวทางของ SDX เชื่อว่าทั้ง Traditional Exchange และ Digital Asset Exchange จะยังดำเนินการควบคู่กันไปSDX จึงลงทุนในการสร้างโลกใหม่ในลักษณะโลกเก่า คือ แยก issuance, listing, trading, settlement และcustody ออกมา โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยตนเอง

 ในขณะที่ Deutsche Borse Group ในประเทศเยอรมนีที่ใช้กลยุทธ์เข้าไป take over บริษัทที่ทำธุรกิจนี้อยู่ และได้ลงทุนด้านธุรกิจสินทรัพย์อย่างหนักในช่วงปี2017-2018 โดยกระจายความเสี่ยงไปในหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากธุรกิจสินทรัพย์สินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นมาจริงบริษัทก็จะไม่พลาดโอกาส

  • เทรนด์ด้านความยั่งยืน

ในส่วนของพัฒนาการด้าน Sustainability ในปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการ Environmental, Social, and Governance (ESG) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม หลายประเทศได้ผลักดันนโยบายหรือกฎหมายที่จะลดหรือจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse Gas) สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) หรือในด้านผู้ลงทุนให้ความสำคัญการลงทุนที่เกี่ยวกับ ESG เพิ่มขึ้น 

เห็นได้จากมูลค่าการลงทุนในพันธบัตร Green Bond, Weather Derivatives (อนุพันธ์ที่เกี่ยวกับภูมิอากาศ) และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ได้รับความสนใจลงทุนมากขึ้น เป็นจุดกำเนิดของการประเมินมูลค่าของคาร์บอนเครดิตที่มีหน่วยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) จำนวน 1 ตัน เป็นตัวเงินเพื่อซื้อขายระหว่างบริษัท จนเกิดเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและธุรกิจการตรวจสอบมาตรฐานคาร์บอนเครดิตทั่วโลกสำหรับประเทศไทย บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกเข้ามาขึ้นทะเบียน 

รวมทั้งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง และมีการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนและระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตของตนเอง แต่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังเป็นการซื้อขายโดยสมัครใจ การซื้อขายจึงจำกัดอยู่ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่

ปัจจุบันมีตลาดที่เปิดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในกลุ่มประเทศยุโรป เช่น ตลาด EEX (European Energy Exchange) ในประเทศเยอรมนี ซึ่งสามารถซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคาร์บอนได้ทั้งในรูปแบบ Options, Futures, Spot Trading และ Spot Auction นอกจากนี้ ธุรกิจการตรวจสอบมาตรฐานคาร์บอนเครดิตที่สำคัญอย่าง Gold Standard ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรตั้งอยู่ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2003 

โดย Worldwide Fund for Nature (WWF) และองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับนานาชาติอื่นๆ (NGOs) ในการสร้างมาตรฐาน (best practice standard) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงด้านสภาพอากาศ โดยจัดให้มีระบบการรับรองและการตรวจสอบที่เชื่อถือได้ 

ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมผลประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจสำหรับชุมชน เช่น การออกใบรับรองคาร์บอนเครดิตมาตรฐาน สร้างกรอบมาตรฐานสำหรับผู้พัฒนา การรับรองโครงการและการให้คำแนะนำกับธุรกิจ โดยการทำงานของ Gold Standard ครอบคลุมผู้พัฒนาโครงการมากกว่า 350 โครงการ คิดเป็นกว่า 2,900 โครงการในมากกว่า 100 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ผู้นำเทรนด์ด้าน Digital Assets และด้าน Sustainability

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเห็นความสำคัญของทั้งสองด้านนี้จึงจัดให้มีการศึกษาดูงานด้าน Digital Assets และ Sustainability ในต่างประเทศของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนีในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

โดยเป็นการประชุมหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ครอบคลุมผู้เล่นต่างๆ ในEcosystem อาทิ กลุ่มธุรกิจเกี่ยวโยงกับด้าน Digital Assets เช่น SIX Digital Exchange, Deutsche Borse Group, Taurus, CV Venture Capital, Digital Asset Holdings, Instimatch Global และกลุ่มที่เกี่ยวกับเรื่องSustainability และการกำกับดูแล เช่น Gold Standard, European Energy Exchange, Swiss National Bank จากการศึกษาดูงานข้างต้น สามารถสรุปเป็นบทเรียนทั้งสองด้านได้ ดังต่อไปนี้

บทเรียนจากการไปดูงานในด้าน Digital Assets

• เน้นความสำคัญในด้านการกำหนดวัตถุประสงค์และการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจก่อน จากนั้นจึงค่อยสรรหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะตอบโจทย์วัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ (Business first, technology later) โดยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งอาจมีประโยชน์เรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่อาจไม่เหมาะกับทุกกรณี อาทิธุรกรรมที่ต้องการความเร็วสูงอย่างการซื้อขาย เป็นต้น

• ภาพรวมของกลุ่มตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่เป็น Traditional Assets รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มียังเน้น Use Case ที่ไม่ใช่ Traditional Products เพื่อเสนอขายในตลาดแรกเป็นหลัก (Primary Markets)

• สภาพคล่องในตลาดรองของสินทรัพย์ดิจิทัล (Secondary Markets) ยังมีน้อยมาก และผู้เล่นปัจจุบันส่วนใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี ยังคงเป็นตัวกลางที่เป็นกลุ่มสถาบัน หรือผู้ลงทุนที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ

• ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล อาจเป็นทางเลือกในบางธุรกิจเพื่อระดมทุนด้วยตราสารที่อาจไม่มีอยู่ใน Traditional Exchange ในปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างการเข้าระดมทุนและเพิ่มสภาพคล่อง เช่น บริษัทขนาดเล็ก หรือ Private Equity ที่นำมาจัดทำในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ซื้อขายได้ในตลาดรอง และมีสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ที่อยู่ในช่วง pre-IPO

• บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลและความชัดเจนของกฎหมาย มีความสำคัญต่อพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ดังเช่นในกรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี กฎหมายจะออกแบบมาเพื่อให้มีความยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว โดยไม่คำนึงถึงเทคโนโลยีเฉพาะหรือแพลตฟอร์มที่อาจกำหนดให้ใช้งานในขณะที่กฎหมายถูกสร้างขึ้น และยึดหลัก Technology-neutral Regulation การกำกับดูแลในสวิตเซอร์แลนด์ จะมุ่งเน้นที่ substance และการ approach กับผู้ลงทุนเป็นหลัก โดยหากมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับนักลงทุน ก็จะต้องถูกกำกับดูแล

• Traditional Exchange ในทั้งสองประเทศที่ไปศึกษาดูงาน ยังคงดำเนินการทั้ง Traditional Exchange และ Digital Asset Exchange ควบคู่กัน โดยในกลุ่ม Digital Asset Exchange จะเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่อยู่ใน Traditional Exchange เช่น STO และ Non-bankable Assets

• แพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลหลายแห่ง มุ่งส่งเสริมให้พัฒนาควบคู่ไปกับแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นและสินทรัพย์อื่นเพื่อให้เชื่อมถึงกันได้ เช่น Taurus (บริษัทที่ให้บริการinfrastructure solution สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล) มุ่งเน้นเชื่อมโยงให้สินทรัพย์หรือตราสารหนี้มาทำ repo ในอีกที่ได้หรือ Digital Assets ที่ได้เชื่อมโยงแพลตฟอร์มกับหลายภูมิภาค เป็นต้น

• ธนาคารกลางประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใด้อนุญาตให้ SIX Digital Exchange (SDX) เป็นคนแจกจ่าย CBDC และได้ริเริ่มการ tokenize เงินฝากหรือการสร้าง stablecoin เพื่อประโยชน์ในการทำ atomic swap (การแลกเปลี่ยนแบบข้ามค่าย ผ่านเทคโนโลยี Smart contract)

• ปัจจุบัน โมเดลธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ยังไม่มุ่งเน้นในการสร้างรายได้ แต่จะเน้นความครอบคลุม ผ่านการออกสินทรัพย์ที่หลากหลาย และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม มากกว่าความสนใจต่อปริมาณการซื้อขายของสินทรัพยดิจิทัล

บทเรียนจากการไปดูงานในด้าน Sustainability

• สังคมโลกให้ความสำคัญกับการจัดการด้านคาร์บอนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยตลาดคาร์บอนเติบโตจากตลาดที่เป็น compliance market ซึ่งพึ่งการกำกับดูแลการปล่อยคาร์บอนโดยภาครัฐ ซึ่งเป็นแบบ mandatory ในขณะที่ตลาดที่เป็น voluntary ยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้น

• ปัจจุบัน Carbon Credit Project ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ยังเลือกใช้มาตรฐานของไทยเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยที่เลือกขึ้นทะเบียนกับ Gold Standard หรือองค์กรอื่นในระดับสากล โดยเฉพาะคาร์บอนเครดิตที่เกี่ยวกับการปลูกป่า

• ค่าใช้จ่ายในการ Validation และ Verification เป็นอุปสรรคสำคัญในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต อีกทั้งต้องมีValidation and Verification Body (VVB) ที่สามารถทำหน้าที่เป็น Validator และ Verifier ตามมาตรฐานสากล

• มีแนวโน้มที่ผู้ทำธุรกิจอาจต้องการบริหารความเสี่ยงในอนาคต ทำให้เกิดรูปแบบตลาดอนุพันธ์ เช่น Forwards และFutures Contract ขึ้นมา นอกเหนือจากตลาด Spots ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

• ความสำคัญของการประยุกต์แนวคิดด้าน ESG ในทุกกระบวนการทางธุรกิจ เช่น กรณี Deutsche Borse มีทั้ง ESG index, ESG data , ESG exchange (spot and derivatives), ESG registrar, ESG post trade ฯลฯ

แผนงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะดำเนินการต่อยอดจากบทเรียนในทั้งสองด้าน

จากการศึกษาดูงานทางด้าน Digital Assets และ Sustainability ในทั้งสองประเทศ อาจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผนงานทั้งสองด้านของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ดังต่อไปนี้

ด้าน Sustainability

• ในส่วนของการดำเนินงานร่วมกับ Gold Standard ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือเรื่องอุปสงค์และอุปทานของคาร์บอนเครดิตมาตรฐานสากล ซึ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นของการใช้คาร์บอนเครดิตดังกล่าวของภาคธุรกิจไทย และอยู่ระหว่างพิจารณาทางเลือกในการสนับสนุนให้ บจ. สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตมาตรฐานสากล เช่น การเชื่อมต่อกับตลาดคาร์บอนในต่างประเทศ

• นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานของ Gold Standard เพิ่มขึ้น โดยกำลังพิจารณาข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง Gold Standard และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งความร่วมมือจะเริ่มจากการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตในระดับสากล และสนับสนุนให้ Project Developer สามารถขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของ Gold Standard ได้มากขึ้นในอนาคต

• ในส่วนของการเตรียมความพร้อมบริษัทจดทะเบียนในการปรับตัวสู่ Low Carbon Economy และการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (National Determined Contribution) ตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและเครื่องมือในการช่วยให้ บจ. สามารถระบุและคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงสนับสนุนให้ บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยข้อมูลผ่าน ESG Data Platform ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาและเปิดให้บริการแก่บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งมาตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินงานด้าน ESG และส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไป

• ทั้งนี้ การจัดการก๊าซเรือนกระจกเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญในการประเมินการดำเนินงานด้าน ESG ที่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงดำเนินการประเมินบริษัทจดทะเบียนในหัวข้อดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในการคัดเลือกหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) ซึ่งจะมีการประกาศผลการคัดเลือกรายชื่อหุ้นยั่งยืนในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

ด้าน Digital Assets

• การกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิด use case แรกใน Thai Digital Assets Exchange (TDX) เพื่อเป็น showcase ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี และสามารถต่อยอดการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยได้ต่อไป

• การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในกระบวนการออกโทเคน ยังสามารถประยุกต์ใช้ในลักษณะอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น การนำมาใช้เพื่อลดขั้นตอน ความยุ่งยากในการออกผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกองทุน ซึ่งสามารถลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย ช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

• ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเพิ่มช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะโทเคนเพื่อการลงทุนหรือ Investment Token ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ที่สำนักงานก.ล.ต. ได้ส่งเสริมเพื่อลดบทบาทของ Cryptocurrency จึงมีแผนในการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลเช่น สำนักงานก.ล.ต. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ICO Portal Digital Asset Broker เพื่อร่วมผลักดันการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นและตอบโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้ประสบการณ์จากการดูงานในต่างประเทศและการร่วมลงทุนใน Platform ต่างประเทศ

• การศึกษาดูงานทั้งสองประเทศ แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในการแยกการกำกับดูแลระหว่าง Cryptocurrency และ Investment Token ซึ่งทำให้เห็นความคล่องตัว ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีBlockchain ยกตัวอย่างเช่น การนำเอากองทุน หรือ Private Equity ที่มีความน่าสนใจแต่จำกัดการลงทุนเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันมาแปลงเป็นโทเคนเพื่อให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้

ทิศทางการพัฒนาตลาดทุนทั้งในด้าน Digital Assets และในด้าน Sustainability ได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดทุนไทยและในหลายๆ ตลาดทุนในต่างประเทศ  ซึ่งมีบริบทและระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันไป การแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง ประสบการณ์และทิศทางการพัฒนาตลาดทุนจากหลายๆ ประเทศ จึงเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในการเร่งรัดการพัฒนาตลาดทุนไทยให้ได้ก้าวทันและพร้อมรับมือกับทิศทางและสถานการณ์ในตลาดทุนโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว