การออกหุ้นกู้ที่เป็นโมฆะ และการโอนหุ้นกู้
บริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบริษัทมหาชนจำกัดตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด มีหุ้นสองชนิด คือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ นอกจากนี้ ยังมีตราสารที่อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าหุ้นเช่นเดียวกัน คือ หุ้นกู้
เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ออกใช้บังคับในปี2521 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งลักษณะหุ้นส่วนบริษัท โดยแก้ไข มาตรา1229 เป็น บริษัทจะออกหุ้นกู้มิได้ และยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับหุ้นกู้มาตราอื่นทั้ง 6 มาตรา จึงเป็นอันว่าบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์จะ ออกหุ้นกู้มิได้
สำหรับบริษัทมหาชนจำกัด ตาม ตามพระราชบัญญัติรู้จักมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับหุ้นกู้ไว้ตามมาตรา 145 ซึ่งบัญญัติว่า การกู้เงินของบริษัทโดยออกหุ้นกู้ เพื่อเสนอขายต่อประชาชน นั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และให้นำมาตรา 25 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
บริษัทมหาชนจำกัดจะออกหุ้นกู้ได้จะต้องได้รับอนุมัติโดย มติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ด้วยคะแนนเสียงมาน้อยกว่าสามในสี่ของจำนวน เสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท และพระราชบัญญัติบริษัท บริษัทมหาชนจำกัด มิได้ให้ความหมายของหุ้นกู้ไว้ แต่จากบทบัญญัติของมาตรา 145 ดังกล่าว ก็อาจสรุปได้ว่า การออกหุ้นกู้ของบริษัทคือการกู้เงินจากประชาชน โดยแบ่งเงินกู้เป็นหุ้น ตามจำนวนเงินที่กำหนดในหุ้นกู้
ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสถานะเป็นเจ้าของบริษัท แต่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ไม่มีสิทธิเข้าประชุมและออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล แต่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด ไม่ว่าบริษัทจะมีกำไรหรือขาดทุน
อย่างไรก็ตามแม้ตามมาตรา1229 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะบัญญัติว่า บริษัทจะออกหุ้นกู้มิได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ออกหุ้นกู้ได้ตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติมาตรา1229แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ
ส่วนการออกหุ้นกู้ของบริษัทมหาชนจำกัดที่กระทำได้ตามกฎหมาย ก็ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2535 คือต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต.ตามที่บัญญัติในมาตรา35 และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้
ใบหุ้นกู้ถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565 โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานและขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกต้นฉบับใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองเอกสาร ทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้รับเพียงสำเนาใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1
พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ต้นฉบับใบหุ้นกู้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคสาม (2) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานชอบแล้ว การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65
กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่า สำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานได้ ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารเมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป
ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์
การโอนหุ้นกู้
. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2564 โจทก์เป็นผู้ซื้อหุ้นกู้โดยชำระเงินค่าหุ้นกู้ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ ค. ครบถ้วนแล้ว และบริษัทดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อสลักหลังใบหุ้นกู้พร้อมส่งมอบใบหุ้นกู้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอน แม้โจทก์จะไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้รับโอนในใบหุ้นกู้ในขณะยื่นฟ้อง
การโอนหุ้นกู้ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 51 แล้ว พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 53 มิได้มุ่งประสงค์บังคับโดยเด็ดขาดว่าหากไม่ลงทะเบียนการโอนแล้วจะโอนหุ้นกู้กันไม่ได้
หากผู้รับโอนหุ้นกู้ไม่ประสงค์จะลงทะเบียนการโอนก็ไม่จำต้องดำเนินการดังกล่าว การไม่ลงทะเบียนการโอนมีผลเพียงมิให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนใด หรือเงินปันผลแก่บุคคลที่มิได้ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหลักทรัพย์เท่านั้น เมื่อการโอนหุ้นกู้ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ ค. กับโจทก์ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลสมบูรณ์ย่อมมีผลผูกพันจำเลย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามใบหุ้นกู้