เจาะลึกดีลซื้อ ‘ปีศาจแดง’ แมนยู ของแรตคลิฟฟ์ หุ้น-อำนาจ-เงื่อนไขเทคโอเวอร์

เจาะลึกดีลซื้อ ‘ปีศาจแดง’ แมนยู ของแรตคลิฟฟ์ หุ้น-อำนาจ-เงื่อนไขเทคโอเวอร์

วิเคราะห์เจาะลึกดีลซื้อ ‘ปีศาจแดง’ แมนยู ของแรตคลิฟฟ์ จำนวนหุ้นที่ได้มาจริง-อำนาจการตัดสินใจ-เงื่อนไขเทคโอเวอร์

Key Points

• จำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ถือในปัจจุบันจะอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ตามรายงานข่าว ขณะที่ตระกูลเกลเซอร์นั้นทั้ง 6 พี่น้องจะเหลือหุ้นอยู่ที่ 49 เปอร์เซ็นต์

• มีข้อตกลงกันในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ว่าหากตระกูลเกลเซอร์ตัดสินใจที่จะขายหุ้นสโมสรทั้งหมด (Full sale) ภายในระยะเวลา 18 เดือนนับจากนี้ พวกเขามีสิทธิ์จะบังคับให้แรตคลิฟฟ์ขายหุ้นคืนให้ในราคาหุ้นละ 33 ดอลลาร์

• ตระกูลเกลเซอร์จะได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้จำนวน 1.3 พันล้านปอนด์ หรือราว 5.6 หมื่นล้านบาท


หลังการเจรจามายาวนานกว่า 13 เดือนในที่สุดตระกูลเกลเซอร์ผู้เป็นเจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ตกลงที่จะขายหุ้นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ให้แก่เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทพลังงาน INEOS ผู้ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษ

เจาะลึกดีลซื้อ ‘ปีศาจแดง’ แมนยู ของแรตคลิฟฟ์ หุ้น-อำนาจ-เงื่อนไขเทคโอเวอร์

แต่การซื้อขายหุ้นครั้งนี้ไม่ได้เป็นการซื้อขายธรรมดา เพราะมีความสลับซับซ้อนในเงื่อนไขอยู่มากพอสมควรชนิดที่ต้อง “อ่าน” เงื่อนไขกันอย่างละเอียด

เริ่มต้นจากจำนวนหุ้นของสโมสรที่ตามรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศระบุว่ามีการซื้อขายกันที่ 25 เปอร์เซ็นต์นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วจำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ได้ในมือก็ไม่ใช่ 25 เปอร์เซ็นต์แต่อย่างใด และหุ้นของเกลเซอร์ก็ไม่ได้เหลือ 75 เปอร์เซ็นต์ด้วย
 

จำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ได้มาครอง?

เนื่องจากแมนฯ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (MANU) หุ้นของสโมสรจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก Class A คือหุ้นส่วนที่มีการเปิดให้ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ อีกส่วนคือ Class B ซึ่งเป็นหุ้นที่ครอบครัวเกลเซอร์ถือครองเป็นหลักและมีอำนาจในการโหวตสูงกว่าหุ้น Class A ถึง 10 เท่า

เจาะลึกดีลซื้อ ‘ปีศาจแดง’ แมนยู ของแรตคลิฟฟ์ หุ้น-อำนาจ-เงื่อนไขเทคโอเวอร์

การเข้าซื้อหุ้นของแรตคลิฟฟ์นั้นเป็นการซื้อหุ้นทั้ง Class A และ Class B จาก 6 พี่น้องตระกูลเกลเซอร์ที่จำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ (ตามรายงานข่าว) ด้วยราคา 1.03 พันล้านปอนด์ หรือราว 4.4 หมื่นล้านบาท

แต่มหาเศรษฐีผู้เป็นแฟนบอลปีศาจแดงมาตั้งแต่เด็กได้ซื้อหุ้นในส่วน Class A ด้วยอีก 4 เปอร์เซ็นต์ผ่านการลงทุนในการปรับปรุงสโมสรอีก 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแบ่งเป็นการจ่ายเงินตอนนี้เลย 200 ล้านดอลลาร์ และจ่ายภายในปี 2024 อีก 100 ล้านดอลลาร์

นั่นหมายความว่าจำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ถือในปัจจุบันจะอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ตามรายงานข่าว

ขณะที่ตระกูลเกลเซอร์นั้นทั้ง 6 พี่น้องจะเหลือหุ้นอยู่ที่ 49 เปอร์เซ็นต์ และหุ้นส่วนที่เหลือในตลาดหลักทรัพย์อีก 22 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดีคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 6-8 สัปดาห์กว่าที่กระบวนการตรวจสอบทุกอย่างจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์

มีกิมมิกเล็กๆอีกอย่างคือแรตคลิฟฟ์ ตั้งบริษัทที่ชื่อว่า “Thrawler Party” ซึ่งมาจากคำพูดของเอริค คันโตนา อดีตตำนานราชาแห่งแมนฯ ยูไนเต็ด มาจัดการเรื่องการซื้อขายหุ้นทั้งหมด 
 

อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่แรตคลิฟฟ์?

ในเรื่องอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารสโมสรนั้น ในจำนวนหุ้นที่แรตคลิฟฟ์ได้จะทำให้พวกเขามีอำนาจในการโหวตทั้งหมด 24 เปอร์เซ็นต์ (จากหุ้นทั้ง Class A และ B) 

แต่กระนั้นทั้งสองฝ่ายได้มีการทำข้อตกลงในการส่งมอบอำนาจในการบริหารให้แก่ INEOS Sport เข้ามาดูแลในส่วนของการบริหารด้านฟุตบอล (Football operations) โดยจะดูแล 3 แผนกด้วยกัน ได้แก่

1. ทีมฟุตบอลชาย
2. ทีมฟุตบอลหญิง
3. ทีมฟุตบอลเยาวชน

ในการนี้ทำให้จะมีผู้บริหารระดับสูงที่ใกล้ชิดกับแรตคลิฟฟ์ อาทิ เซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด และฌอง-โคลด บลองก์ เข้ามานั่งในตำแหน่งบอร์ดบริหารของสโมสรด้วย

โดยเบรลส์ฟอร์ด คือมือขวาของแรตคลิฟฟ์ที่เป็นดัง “มันสมอง” จะมาดูแลในส่วนของการกำหนดกลยุทธ์และได้เป็นตัวแทนมานั่งชมเกมสุดมันที่แมนฯ ยูไนเต็ดพลิกชนะแอสตัน วิลลาได้ 3-2 ในเกม “บ๊อกซิ่งเดย์” ด้วย

เจาะลึกดีลซื้อ ‘ปีศาจแดง’ แมนยู ของแรตคลิฟฟ์ หุ้น-อำนาจ-เงื่อนไขเทคโอเวอร์

ส่วนบลองก์ที่เคยผ่านการบริหารงานสโมสรระดับชั้นนำอย่างยูเวนตุส และปารีส แซงต์-แชร์กแมง คาดว่าจะได้รับตำแหน่งซีอีโอต่อจากริชาร์ด อาร์โนลด์ที่เตรียมอำลาตำแหน่งในช่วงสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ INEOS ที่เป็นเจ้าของทีมกีฬามากมายรวมถึงสโมสรฟุตบอลอย่าง นีซ ในลีกเอิง ฝรั่งเศส เตรียมที่จะหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาให้แมนฯ ยูไนเต็ดทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงการหาผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายกีฬา (Sporting director) เข้ามาแทนที่จอห์น เมอร์เทอห์ ผู้อำนวยการคนปัจจุบันที่ผลงานเลวร้ายและถูกสื่ออย่าง The Athletic เปิดโปงความไร้ฝีมือในการบริหารจนยับเยิน

ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวเชื่อมโยงระหว่างแมนฯ ยูไนเต็ดกับคนเก่งในวงการหลายคน อาทิ พอล มิตเชลล์ (โมนาโก) , แดน แอชเวิร์ธ (นิวคาสเซิล) และจูเลียน วอร์ด (อดีตผอ.ลิเวอร์พูล)

อีกเงื่อนไขหนึ่งที่น่าสนใจคือในระหว่างที่กระบวนการซื้อขายหุ้นกันถูกตรวจสอบจากพรีเมียร์ลีก แมนฯยูไนเต็ดมี “หน้าที่” จะต้องแจ้งทุกเรื่องให้กับฝ่ายของ INEOS ทราบและได้รับการอนุมัติก่อน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาซื้อ/ขายผู้เล่น การต่อสัญญา/การยกเลิกสัญญา ผู้เล่น ผู้จัดการทีม รวมถึงผู้อำนวยการสโมสร
 

Drag-along rights แต้มต่อของเกลเซอร์?

การขายหุ้นแค่บางส่วนแต่ยกอำนาจในการบริหารให้อีกฝ่ายที่มีความชำนาญจากการบริหารทีมกีฬารวมถึงสโมสรฟุตบอลไม่ได้แปลว่าตระกูลเกลเซอร์จะยกสโมสรให้แรตคลิฟฟ์ง่ายๆ

ในทางตรงกันข้ามเงื่อนไขสำคัญที่มีการตกลงกันคือเงื่อนไข “Drag-along rights” หรือการบังคับให้เข้าร่วมขายหุ้น

โดยมีข้อตกลงกันในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ว่าหากตระกูลเกลเซอร์ตัดสินใจที่จะขายหุ้นสโมสรทั้งหมด (Full sale) ภายในระยะเวลา 18 เดือนนับจากนี้ พวกเขามีสิทธิ์จะบังคับให้แรตคลิฟฟ์ขายหุ้นคืนให้ในราคาหุ้นละ 33 ดอลลาร์

แต่ในทางกลับกันทางด้านแรตคลิฟฟ์ก็มีสิทธิ์ที่จะคัดค้านการขายหุ้น Class B ของเกลเซอร์ในช่วงระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้เช่นกัน หรือพูดง่ายๆคือหากเกลเซอร์คิดจะขายขึ้นมา แรตคลิฟฟ์มีสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นเป็นคนแรกนั่นเอง

ในประเด็นนี้ถูกจับตามองว่าเป็นการเปิดช่องสำหรับการเทคโอเวอร์สโมสรทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพียงแต่ ณ เข็มนาฬิกาเดินไปยังไม่มีสัญญาณว่าสมาชิกทั้ง 6 คนของตระกูลเกลเซอร์คิดจะปล่อยขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่พวกเขาได้มาครอบครองตั้งแต่ปี 2005 แต่อย่างใด

เจาะลึกดีลซื้อ ‘ปีศาจแดง’ แมนยู ของแรตคลิฟฟ์ หุ้น-อำนาจ-เงื่อนไขเทคโอเวอร์

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอื่นๆอีก อาทิ

• ตระกูลเกลเซอร์จะได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้จำนวน 1.3 พันล้านปอนด์ หรือราว 5.6 หมื่นล้านบาท 

• จำนวนเงินดังกล่าวมาจากการขายหุ้น Class B 715 ล้านปอนด์ และในหุ้น Class A 465 ล้านปอนด์ รวมถึงเงินปันผลอีก 150 ล้านปอนด์

• แต่ภายหลังจากนี้ตระกูลเกลเซอร์จะไม่ได้รับเงินปันผลจากสโมสรอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี

• จำนวนเงิน 300 ล้านดอลลาร์ (232 ล้านปอนด์) ที่แรตคลิฟฟ์อัดฉีดเข้ามาจะใช้สำหรับการปรับปรุงสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด และศูนย์ฝึกซ้อมที่แคร์ริงตัน 

• ตามแผนแล้วแรตคลิฟฟ์หวังจะปรับปรุงสนามใหม่ทั้งหมดและเพิ่มความจุให้เป็น 90,000 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินอีก 800 ล้านปอนด์ 

• แต่ผู้รับเหมาเจ้าดังอย่าง Populous ที่มีผลงานสร้างสนามใหม่ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียมม ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลในระดับโลกแนะนำว่าควรลงทุนสร้างสนามใหม่ในบริเวณที่ดินของสโมสรที่คาดว่าจะใช้งบ 2 พันล้านปอนด์ แล้วจึงค่อยทุบโอลด์ แทรฟฟอร์ดที่มีอายุปัจจุบัน 113 ปีทิ้ง

เรียกได้ว่าเป็นดีลการซื้อขายหุ้นสโมสรฟุตบอลที่มีความสลับซับซ้อนอยู่พอสมควร ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นสิ่งที่แฟนปีศาจแดงคาดหวังว่าเจ้าของสโมสรที่พวกเขามองว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างตระกูลเกลเซอร์จะถูกขับไล่ออกไป แต่อย่างน้อยก็เหมือนการเริ่มต้นใหม่เล็กๆ

ที่เพียงแค่มีข่าวยืนยันการขายหุ้นทีมก็โชว์พลังฮึดพลิกชนะทีมแกร่งอย่างแอสตัน วิลลา โดยได้ประตูชัยจากกองหน้าที่ยิงในพรีเมียร์ลีกไม่ได้เลยอย่างราสมุส ฮอยลุนด์ได้เลยทีเดียว!

...

อ้างอิง - telegraph 1, telegraph 2 , telegraph