‘เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง’ จ่อถอนพอร์ตลงทุนใน ‘จีน’ เซ่นเศรษฐกิจซบ
เคแบงก์ไพรเวทแบงกิ้ง รับอยู่ระหว่างพิจารณา "ถอนพอร์ตลงทุน"ในจีน หลังเซ็นติเม้นท์นักลงทุนดิ่ง เศรษฐกิจจีนชะลอตัว มองจีนเจอมรสุมอีกเพียบ จากสงครามกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจจีน อยู่ในภาวะอึมครึม เศรษฐกิจโดยภาพรวมยังอยู่ในโหมดชะลอตัว ส่งผลให้ทาง “เคแบงก์ไพรเวทแบงกิ้ง” อยู่ระหว่างการพิจารณา ในการถอนพอร์ตลงทุนในจีนออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การลงทุน หรือเศรษฐกิจจีนจะกลับมาสู่ระดับปกติมากขึ้น
โดยในมุมมองของนักลงทุน มองว่า “จีน”ยังไม่ใช่เป้าหมาย หรือเรดาร์ สำหรับการลงทุนในขณะนี้ อีกทั้งจีนยังเผชิญแรงกดดันอีกมาก จากสถานการณ์การกีดกันทางการค้าของโลก ส่งผลให้การลงทุนใจจีนถูกลดความสำคัญลง
อย่างไรก็ตาม หากดูพอร์ตการลงทุนในจีน ทั้งในกองทุน หุ้น พันธบัตรฯลฯ เคแบงก์ไพรเวทแบงกิ้ง มีพอร์ตการลงทุนอยู่เพียง 3% เท่านั้นหากเทียบกับพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ดังนั้นขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าจะถอนพอร์ตการลงทุนทั้งหมดออกไปหรือไม่ หรือจะค่อยๆลดสัดส่วนการลงทุนในจีนลง โดยจะขอพิจารณาจาก ข้อมูลใหม่ๆ ที่จะออกมาในช่วง 2สัปดาห์ข้างหน้าก่อน จะสามารถให้ความชัดเจนได้
“ที่ผ่านมา ลูกค้าชอบลงทุนจีน และมีการเข้าไปถือสินทรัพย์การทุนค่อนข้างมาก และขาดทุนอยู่เยอะ และก็ไม่อยากขาย บางรายขาดทุน 20-30% หรือหนักสุดขาดทุนไปถึง 50% ดังนั้นเราคงต้องแนะนำ การถือต่อไปอาจไม่มีประโยชน์ อาจต้องทำใจหาแนวโน้มการลงทุนใหม่ ถอนออกมาดีกว่า หรือหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ในช่วงที่รอเศรษฐกิจจีนชัดเจน เพื่อสร้างผลตอบแทนไปก่อนในระยะข้างหน้านี้”
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจโลกของ Lombard Odier ในปี 2567
มองว่า
1.เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง – โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถเลี่ยงภาวะถดถอยและขยายตัวช้าลงแบบ Soft landing ด้านเศรษฐกิจยุโรปจะยังคงขยายตัวได้ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังมีความท้าทาย จำเป็นต้องอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจให้กลับมาเป็นปกติ
2. เงินเฟ้อจะลดลงต่อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนเงินเฟ้อจีนจะทรงตัวในระดับใกล้เคียง 1%
3. ธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป ได้หยุดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วในปี 2566 และจะเริ่มลดดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2567 แต่จะไม่ลดลงไปต่ำเท่าระดับก่อนโควิด ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นจะขึ้นดอกเบี้ยและออกจากยุคดอกเบี้ยติดลบในช่วงไตรมาส 2 ส่วนจีนจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
4.ตลาดจะจับตาเรื่องการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและประเทศคู่ค้า รวมทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
5. เงินลงทุนจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้มากขึ้นเพราะดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและจะลดลงในปี 2567 ตลาดหุ้นยังมีความท้าทายเพราะผลตอบแทนเทียบกับดอกเบี้ยไม่น่าดึงดูดเท่ายุคดอกเบี้ยต่ำ การหาผลตอบแทนต้องเน้นไปที่การคัดเลือกหุ้นที่โดดเด่น
กลยุทธ์การลงทุน ปี 2567 โดย KBank Private Banking แนะนำ ให้แบ่งเงินลงทุนเพื่อสะสมและต่อยอดความมั่งคั่งในระยะยาว ออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกประมาณ 50-70% ให้ลงทุนเป็นพอร์ตหลัก (Core portfolio) โดยเลือกกองทุนผสมแบบ Risk-based approach ที่กระจายความเสี่ยงทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ โภคภัณฑ์ รวมทั้งค่าความผันผวน (VIX Index) ที่ใช้หลักการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ขึ้นกับการคาดการณ์ของตลาดหรือผู้จัดการกองทุน ด้วยกลยุทธ์หลักที่บริหารเชิงรุกและยืดหยุ่นสูง ตามวัฏจักรเศรษฐกิจและดัชนีตลาดที่สำคัญ เพื่อให้พอร์ตโฟลิโอมีความยืดหยุ่น แนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่มีการบริหารเชิงรุกในการจัดดสรรสินทรัพย์และการบริหารความเสี่ยง อย่างกองทุน All Roads Series
ส่วนที่ 2 ประมาณ 30-50% เป็นพอร์ตเสริม (Satellite portfolio) โดยแบ่งการลงทุนใน ตราสารหนี้ เช่น
(1) พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยมีความน่าสนใจ และยังมีโอกาสได้กำไรจากส่วนต่างราคาเมื่อ FED ปรับลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน K-GDBOND และ TUSBOND
(2) หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดี ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว: ให้เน้นลงทุนใน หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตระดับลงทุนได้ (Investment Grade, IG) ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ประเภท CoCo Bond ที่ออกโดยสถาบันการเงินที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และให้ผลตอบแทนน่าสนใจ หลังดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา สำหรับหุ้นกู้กลุ่ม High Yield (HY) อาจมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจชะลอตัวและมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องหลังต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน UPINCM-N
หุ้น เช่น
(1) หุ้นกลุ่ม Growth ทั่วโลก: หลังดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดและจะเข้าสู่วัฎจักรดอกเบี้ยขาลงย่อมเป็นประโยชน์ต่อหุ้นกลุ่มเติบโตสูง โดยแนะนำกระจายลงทุนทั่วโลก เนื่องจากหุ้นเทคฯ ใน
สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากในปี 2566 โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน K-CHANGE
(2) หุ้นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market): นอกจากจะได้ประโยชน์จากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นแล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนที่จะไหลเข้า หลัง FED ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ทำให้ดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า เป็นบวกต่อการลงทุนในตลาด เกิดใหม่ โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน PRINCIPAL VNEQ และ K-INDIA
การลงทุนทางเลือก เช่น
(1) กลยุทธ์เฮดจ์ฟันด์ เช่น กลยุทธ์มหภาค (และเทรดตามแนวโน้ม (Trend following) ช่วยสร้างผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยง จากความสามารถในการใช้หลากหลาย Indicators รวมทั้ง Long/Short ในสินทรัพย์หลัก ทั้งหุ้น และตราสารหนี้ โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน ASP-LEGACY-UI และ LHMCMULTIUI
(2) กลยุทธ์ซื้อขายสกุลเงินหลักของโลก: ลงทุนในสกุลเงินหลักที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น จากปัจจัยด้านพื้นฐาน เช่น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย แนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อดุลการชาระเงิน รวมทั้งกระแสเงินไหลเข้า – ออก โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน DAOL-FXALPHA-UI