ชาวบูมเมอร์ในสหรัฐจะ 'เกษียณ' จำนวนมากแต่ส่วนใหญ่ 'เงินเก็บ' ไม่พอใช้
ปี 2024 คนรุ่น “บูมเมอร์” ในสหรัฐทยอย “เกษียณ” จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาพร้อมกับ “เงินเก็บไม่เพียงพอ” ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤติทางสังคมและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แถมค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงวัยก็พุ่งสูง ด้านญี่ปุ่น-ไทย ก็เผชิญปัญหาแบบเดียวกัน
Key Points:
- คนรุ่น BabyBoomer ในสหรัฐจำนวนมากกำลังจะ “เกษียณอายุ” พร้อมกับ “เงินออมที่ไม่เพียงพออย่างร้ายแรง”
- 43% ของคนอเมริกันที่มีอายุ 55-64 ปี ไม่มีเงินออมเพื่อการเกษียณเลยในปี 2022 ที่ผ่านมา และมีการประเมินว่าชาวอเมริกันอายุเกิน 65 ปี (17 ล้านคน) เป็นผู้ที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ
- เมื่อคนรุ่นบูมเมอร์มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะสร้างความตึงเครียดให้กับระบบการดูแลสุขภาพของรัฐบาล และเศรษฐกิจโดยรวม อาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
เมื่อไม่กี่วันก่อนมีข้อมูลเชิงวิเคราะห์จากทั้ง Nasdaq และ Business Insider ต่างรายงานอ้างความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ที่ระบุว่า มีวิกฤติทางสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐ เนื่องจากคนรุ่น BabyBoomer จำนวนมากกำลังจะ “เกษียณอายุ” พร้อมกับ “เงินออมที่ไม่เพียงพออย่างร้ายแรง” ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อคนรุ่นลูกหลานรุ่น Gen Y และ Gen Z ที่ต้องเข้ามาดูแลกลุ่มคนวัยเกษียณ
สำหรับชาวอเมริกันที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัวและทำงานเต็มเวลาอยู่แล้ว หากวันหนึ่งต้องเข้ามารับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุด้วย นั่นถือเป็นเหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะผลักให้พวกเขากลายเป็นกลุ่ม Sandwich Generation ที่แบกภาระมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาระทางการเงินของคนรุ่นลูก และกระทบลุกลามไปถึงระดับเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย
- 43% ของคนอเมริกันที่อายุ 55-64 ปี ไม่มีเงินออมเพื่อเกษียณ
ข้อมูลของ “ธนาคารกลางสหรัฐ” แสดงให้เห็นว่า 43% ของคนอเมริกันที่มีอายุ 55-64 ปี ไม่มีเงินออมเพื่อการเกษียณเลยในปี 2022 ที่ผ่านมา ด้าน “สภาผู้สูงอายุแห่งชาติสหรัฐ” ก็ประเมินพบว่าชาวอเมริกัน 17 ล้านคนที่มีอายุเกิน 65 ปี ถือว่าเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ข้อมูลการการวิจัยของ TransAmerica Center for Retirement Studies ชี้ว่า เงินออมเพื่อการเกษียณอายุเฉลี่ยของชาวบูมเมอร์ในสหรัฐอยู่ที่ 202,000 ดอลลาร์เท่านั้น ทั้งๆ ที่มีรายจ่ายสูงถึง 78,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งจริงๆ แล้วควรมีเงินเก็บก่อนเกษียณประมาณ 2 ล้านดอลลาร์เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายต่อปีในระดับนี้
นักเศรษฐศาสตร์ยังสะท้อนความเห็นอีกว่า เมื่อคนรุ่นบูมเมอร์มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ นานวันเข้าก็จะสร้างความตึงเครียดให้กับระบบการดูแลสุขภาพของรัฐบาล และเศรษฐกิจโดยรวม นั่นหมายความว่า มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นที่จะต้องรับผิดชอบทางการเงินสำหรับพ่อแม่ของพวกเขา การใช้จ่ายของรัฐบาลจะถูกจัดสรรให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น และส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง
- ระบบการเงินวัยเกษียณจะล้มเหลว คนรุ่นลูกจะแบกภาระหนัก
ริตา ชูลา ผู้อำนวยการอาวุโสของสถาบันนโยบายสาธารณะของกลุ่มวัยเกษียณ (American Association of Retired Persons: AARP) กล่าวว่า “หากดูจากมุมมองในระยะยาว ระบบด้านการเงินต่างๆ ของวัยเกษียณกำลังจะล้มเหลว และความล้มเหลวนั้นจะตกเป็นภาระของคนวัยหนุ่มสาว”
สอดคล้องกับรายงานของผู้ดูแลผลประโยชน์ประกันสังคม เมื่อปี 2022 ของสหรัฐที่คาดการณ์ว่า “กองทุนทรัสต์” จะหมดลงภายในปี 2034 และ รายงานจาก Medicare เมื่อปี 2019 คาดการณ์ว่า “กองทุนประกันโรงพยาบาล” จะหมดลงภายในปี 2026 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ คือ อัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งหมายความว่ามีคนในระบบแรงงานที่จ่ายเงินเข้ากองทุนทรัสต์เหล่านี้จำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ในที่สุดสิ่งนี้จะส่งผลต่อจำนวนเงินที่มีอยู่สำหรับผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นกลุ่มวัยเกษียณ
นี่ยังไม่นับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพระยะยาวของกลุ่มผู้สูงวัยในปัจจุบัน ที่มีราคาสูงและกำลังขาดแคลนบุคลากร มีผลการศึกษาโดย Genworth รายงานว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของสถานสงเคราะห์อยู่ในขณะนี้อยู่ที่ 4,500 ดอลลาร์ต่อเดือน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ช่วยด้านสุขภาพที่บ้านอยู่ที่ 5,148 ดอลลาร์ต่อเดือน
อีกทั้งสถานพยาบาลระยะยาวในสหรัฐ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 15,000 แห่ง ตอนนี้กำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน ตามรายงานของ American Health Care Association ในเดือนมิถุนายนปี 2023 ระบุว่า 55% ของบ้านพักคนชรากำลังปฏิเสธผู้ที่ต้องการเข้าพักอาศัย
- ไม่ใช่แค่ในสหรัฐ แต่ญี่ปุ่น-ไทย ก็กำลังจะเผชิญวิกฤติเดียวกัน
จากสถานการณ์ทั้งหมดดังกล่าว อนุมานได้ว่าแม้แต่สหรัฐเองก็อาจหนีไม่พ้น “วิกฤติสังคมสูงวัย” ที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงไปถึงมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งหลายๆ ประเทศก็กำลังเผชิญกับวิกฤตินี้ รวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่ก่อนหน้านี้มีรายงานหลายชิ้นเปิดเผยว่า คนวัยเกษียณในญี่ปุ่นไม่พร้อมหยุดทำงาน และเลือกที่จะต่ออายุงานหลังเกษียณไปอีก โดยสาเหตุหลักคือ พวกเขามีภาระค่าใช้จ่ายสูง แต่มีเงินเก็บไม่เพียงพอ
ยกตัวอย่างผลสำรวจจาก Meiji Yasuda Research Institute Inc. (ณ ธันวาคม 2023) เผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่า พวกเขาอยากทำงานต่อหลังเกษียณอายุ โดยเหตุผลหลักๆ ก็เพราะว่า เงินออมและเงินบำนาญไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าครองชีพ (37.7%) และ อยากมีช่องทางทางการเงินเพิ่ม (กำลังคิดจะทำงานอีกครั้ง) เพราะกังวลเรื่องค่าครองชีพในอนาคต (38.9%)
ขณะที่ประเทศไทยเองก็ไม่ต่างกัน โดยมีผลสำรวจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ณ ปี 2023) ระบุว่า มีคนไทยเพียง 25% เท่านั้นที่วางแผนการออมเพื่อการเกษียณและสามารถทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ 34.3% มีการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณแต่ไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ 21% ได้แต่คิด แต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ และ 19.7% ยังไม่ได้เตรียมการเพื่อเกษียณอายุเลย
ปรากฏการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ยิ่งตอกย้ำว่า “วิกฤติสังคมสูงวัย” กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ หากประชากรมีเงินออมไม่เพียงพอในวัยเกษียณ สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลา รอปะทุในวันที่ชาวบูมเมอร์ไม่มีงาน ไม่มีเงินเก็บ จนต้องพึ่งพิงลูกหลานที่ส่วนมากมีภาระครอบครัวอยู่แล้ว และต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงวัยเพิ่ม (อาจเกิดหนี้ครั้วเรือนสูงขึ้น) จนส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อๆ กันเป็นลูกโซ่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่รายงานต่างๆ ข้างต้นเป็นภาพย้ำเตือนว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของหลายแต่ละประเทศ ต้องหาวิธีรับมือให้ทันก่อนที่จะสายเกินไป