นายกฯ วอน กนง.ลดดอกเบี้ย “กูรู”ชี้วิกฤติเกิดบางจุด แนะแก้ด้วยมาตรการ“คลัง“

นายกฯ วอน กนง.ลดดอกเบี้ย “กูรู”ชี้วิกฤติเกิดบางจุด แนะแก้ด้วยมาตรการ“คลัง“

นายกฯ ส่งสัญญาณแรงขอให้ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% หนุนรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ ”พิพัฒน์" ชี้อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ กนง.ไม่ใช้ฝ่ายการเมือง คาดยังคงดอกเบี้ย จนกว่าภาพเศรษฐกิจชัดเจน “อมรเทพ” ชี้เศรษฐกิจวิกฤติบางจุดต้องแก้ด้วยมาตรการทางการคลัง ลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 ก.พ.2567 เป็นนัดสำคัญที่จะชี้ชะตาทิศทางนโยบายการเงินของไทย หลังจากที่ผ่านมามีแรงกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤติ

ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณแรงมากก่อนการประชุม กนง.เพียง 1 วัน เพื่อให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% การประชุมครั้งนี้ส่วนหนึ่งจึงเป็นการชี้วัดว่า ธปท.จะเป็นองค์กรอิสระที่ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่

นายกฯ วอน กนง.ลดดอกเบี้ย “กูรู”ชี้วิกฤติเกิดบางจุด แนะแก้ด้วยมาตรการ“คลัง“

นายเศรษฐา เปิดเผยว่า ฝากถึง กนง.ที่ประชุมวันที่ 7 ก.พ.2567 ว่าถึงเวลาต้องลดดอกเบี้ยจาก 2.50% เหลือ 2.25% เพราะยังมีพื้นที่ลดดอกเบี้ยได้อีกถ้ามีวิกฤติ หรืออะไรเกิดขึ้นยังลดลงไปได้อีกและควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ แต่อย่าลืมว่าเงินเฟ้อที่ติดลบส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดรายจ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจุดนี้ไม่มีประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ โดยถ้าจะเกิดปัญหาต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่เมื่อควบคุมจุดนี้ได้ทำให้ไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น ความเสี่ยงเกือบไม่มีเลยว่าลดดอกเบี้ยแล้วจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อ

“การขึ้นดอกเบี้ยต้องดูที่เงินเฟ้อที่เกิดจาก Demand-pull Inflation คือ ราคาสินค้าแพงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น แต่ตอนนี้ความต้องการนี้ไม่มีแสดงว่าปลอดภัยที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" 

ส่วนกรณีลดดอกเบี้ยแล้วมีปัญหาความต้องการที่จำนวนมากก็อาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อได้ ซึ่งประเด็นนี้ได้พิจารณาข้อมูล Cost-push Inflation หรือเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้าแพงขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเห็นว่าพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยมีอีกเยอะมาก

นอกจากนี้ การหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.มีความชัดเจนอยู่แล้ว และได้หารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะเป็นเรื่องความเห็นต่างหรือทิฐิไม่ทราบ แต่ชัดเจนอยู่แล้วที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 4 เดือน มาจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล และมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถใช้งบประมาณได้ถึงเดือน พ.ค.2567 

“ตอนนี้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือประชาชนได้จากนโยบายอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายวีซ่าฟรี การกระตุ้นการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติที่จะมาลงทุน ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ” นายเศรษฐา กล่าว

ชี้ กนง.มีอิสระพิจารณาดอกเบี้ย

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ความเห็นจากทั้งจากภาครัฐ กระทรวงการคลัง หรือนักวิชาการ หรือนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้ความคิดเห็นได้ ในเรื่องการดำเนินนโยบายการเงิน โดยควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เป็นปกติ 

แต่การตัดสินใจสุดท้ายในการดำเนินนโยบายการเงินจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ กนง.ทั้ง 7 คน ภายใต้การดำเนินนโยบายบน Independent หรือความเป็นอิสระในตัดสินนโยบายการเงิน โดยปลอดปัจจัยการเมืองในการนำมาตัดสินนโยบาย

ทั้งนี้ จึงเป็นเหตุว่าการตัดสินใจว่าการลดดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ย จะต้องไม่ได้มาจากคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมาจาก คณะกรรมการทั้ง 7 ท่าน เพื่อให้การพิจารณามีความรอบด้าน บนความรับผิดต่อการดำเนินนโยบายการเงินอย่างโปร่งใส อิสระ

“ผมมองว่าความเห็นต่างๆที่ออกมา หรือนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่สามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจก็จะกลับไปที่คณะกรรมการกนง.ในการถ่วงดุล ปัจจัยต่างๆอย่างรอบด้านมากกว่าการคำนึงถึงปัจจัยทางการเมือง”

คาด กนง.คงดอกเบี้ย 7 ก.พ.นี้ 

สำหรับการประเมินว่าจากภาพเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวมากกว่าคาด เหล่านี้เปิดโอกาสในการนำไปสู่การลดดอกเบี้ยมากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะลดดอกเบี้ยเมื่อใดถึงจะเหมาะสม 

ทั้งนี้ แม้มองว่ากนง.มีรูมในการลดดอกเบี้ยมากขึ้น แต่คงไม่ใช่การลดดอกเบี้ย ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เพราะยังมีหลายภาพที่ กนง.รอดูความชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลขจริงของเศรษฐกิจไทยปี 2566 และไตรมาส 4 ที่ออกมาเร็วๆนี้ เพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าให้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อสนับสนุนไม่ให้เกิดการก่อหนี้สูงเกินไป

แต่อย่างไรก็ตามจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อที่ออกมาแผ่วกว่าที่คาด ก็อาจกลับมาสะท้อนว่านโยบายการเงินที่ผ่านมาเข้มไปหรือไม่ บนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่กลับมาบวกแล้ว ดังนั้นการประชุม กนง.รอบนี้ เชื่อว่าคณะกรรมการอาจต้องเชิญความยากลำบากในการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายมากขึ้น

“เรามองว่าการลดดอกเบี้ยของกนง.อาจไม่ใช่ครั้งนี้ แม้ภาพเศรษฐกิจจะออกมาแย่ แม้เรามีรูมลดดอกเบี้ยได้ เพราะการดำเนินนโยบายการเงินมีสองด้าน ที่ต้องพิจารณา คือภายใต้ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้นอีกหรือไม่ ที่ทำให้มีความจำเป็นต้องเก็บดอกเบี้ยไว้"

ส่วนอีกด้านหาก ธปท.มองเงินเฟ้อและเศรษฐกิจผิดคาดมาก ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่การลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งยอมรับว่า วันนี้เราเห็นความเสี่ยงมากขึ้น แต่อาจเป็นครั้งหน้า เพราะการดำเนินนโยบายต้องมีการส่งสัญญาณ เพื่อให้ตลาดรับรู้

ชี้ลดดอกเบี้ยเหวี่ยงแหไม่ตรงจุด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ยังไม่เปลี่ยนความคิดว่า ที่คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ย เนื่องจากมองว่า แรงกดดันทางการเมืองต่างๆรวมถึงเงินเฟ้อที่ติดลบในปัจจุบัน จะเปลี่ยนภาพการดำเนินนโยบายการเงินไปอีกทิศทางได้ แม้จะประเมินว่ามีโอกาสลดดอกเบี้ยมากขึ้นในระยะข้างหน้า ดังนั้นในรอบการประชุมครั้งนี้ เชื่อว่า กนง.จะค่อยๆส่งสัญญาณในการลดดอกเบี้ย เมื่อมีสถานการณ์ที่เหมาะสม

นอกจากนี้ หากดูเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบันมากกว่าคาด เป็นวิกฤติเฉพาะบางจุด โดยเฉพาะกลุ่มระดับล่าง ภาคนเกษตรที่ได้รับผลกระทบ แต่หากดูกลุ่มระดับกลางบน กลุ่มท่องเที่ยว ส่งออก ยังเติบโตได้ ดังนั้นควรใช้มาตรการการคลังแก้ปัญหาเฉพาะจุด น่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมมากกว่า การ “ลดดอกเบี้ย” เพราะการลดดอกเบี้ย เหมือนการหว่านแห ที่อาจไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกจุด

อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ย อาจนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้ และอาจเกิดเงินทุนไหลออกจากไทยค่อนข้างมาก ทั้งจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ย และดอกเบี้ยสหรัฐ ที่อยู่ระดับสูงขึ้น รวมถึง การมองนโยบายการเงินข้างหน้า ที่นักลงทุนมองว่าอาจไม่ใช่การลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว เนื่องจากหากจะทำให้นโยบายสมฤทธิผล อาจต้องลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเหล่านี้มีผลข้างเคียง หากบริหารจัดการไม่ดี นักลงทุน อาจขาดความเชื่อมั่น และกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ ที่อาจนำไปสู่ เงินบาทที่อ่อนค่าอย่างรุนแรงในระยะข้างหน้า

“เราประเมินว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ ในครึ่งปีหลัง ยิ่งหากดิจิทัลวอลเล็ตไม่มา ก็มีโอกาสที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยได้ ส่วนเสียงแตกหรือไม่ คงไม่เปลี่ยนภาพ แต่จะทำให้ตลาดตีความไปถึงโอกาสในการลดดอกเบี้ยมากขึ้น”

นักวิชาหนุนลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศระบุว่า มี 3 ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศอยู่ระดับติดลบ คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกลดลง การใช้จ่ายในประเทศชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง 

ดังนั้น แนวนโยบายที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับลดเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่าย

“เงินเฟ้อที่ลดลง เพราะคนไม่จับจ่ายใช้สอย อัตราดอกเบี้ยเราก็สูงเกินไป และส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากของไทยก็สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเราอยู่ที่ประมาณ 1 บาท แต่เงินกู้เราอยู่ที่ 7 บาท ส่วนต่างสูงถึง 6 บาท แต่ในอาเซียนต่างกันแค่ 2-3 บาทเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม มองว่า ควรลดดอกเบี้ย เพราะหลายองค์ประกอบเอื้อให้ปรับลด เมื่อปรับลดดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้เกิดการบริโภคในประเทศมากขึ้น นักลงทุนก็อยากลงทุนมากขึ้น

กรณีที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะกระทบต่อค่าเงินบาทนั้น เขากล่าวว่า ถ้าเราสามารถบริหารเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็ถือว่า ดี แต่อย่าให้มีความผันผวนมาก และต้องเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินของประเทศอื่นในอาเซียน ไม่เช่นนั้น จะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน

“การเงินการคลัง”ควรเล่นคนละบทบาท

รศ.ดร.พรชนก คัมภีรยส คูเวนเบิร์ค อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า หากสหรัฐฯ หรือชาติตะวันตกลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่เราไม่ลด ส่วนต่างของดอกเบี้ยนโยบายจะแคบลง แต่ถ้ารอบนี้เราลดขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่ลด ส่วนต่างของดอกเบี้ยนโยบายจะกว้างขึ้น เงินทุนไหลออก เงินบาทอ่อนค่าไปอีกก็เป็นได้

ทั้งนี้ ภายใต้การแทรกแซงทางการเมืองทำให้ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติยิ่งต้องชัดเจน รัฐบาลมีนโยบายการคลัง มีการใช้จ่ายภาครัฐ แบงก์ชาติมีนโยบายการเงิน เพิ่มลดดอกเบี้ย เพิ่มลดสภาพคล่อง สองฝ่ายมีจุดมุ่งหมายเดียวกันให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต แต่ต้องเล่นคนละบทบาท อย่าก้าวก่ายกัน

“ขณะที่นโยบายการคลังใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดกว่าและเห็นผลเร็วกว่านโยบายการเงิน แต่มาพร้อมกับต้นทุนของคนทั้งประเทศ นโยบายการเงินควรทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้การเติบโตเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ คือตบให้อยู่ในร่องในรอย เพราะการเติบโตหวือหวา ร้อนแรงเกินควร อาจดูดีในระยะสั้นแต่อาจส่งผลร้ายต่อระบบในท้ายที่สุด”

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเสมอไปและถ้าทำได้อาจใช้เวลาเป็นปี เช่นวิกฤติซับไพรม์ที่ผ่ามา ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศใช้ดอกเบี้ยติดลบ แต่ก็ใช้ระยะเวลานานกว่าเศรษฐกิจฟื้น