สำนักวิจัย แห่ปรับ ‘จีดีพี‘ปี 67ดิ่ง ‘เคเคพี’ชี้ยอดปิดโรงงานพุ่ง 1,700 แห่ง
“นักเศรษฐศาสตร์” ประสานเสียงหั่น “จีดีพี” ลงระนาว ชี้ “เศรษฐกิจไทย” ยังมีความเปราะบางสูง ล่าสุด “อีไอซี”ปรับเหลือ 2.5% จาก 2.7% หลังมองเศรษฐกิจมีสัญญาณแผ่วลง “เคเคพี” ชี้เศรษฐกิจที่เติบโต “แตกต่าง” กัน ส่งผลกระทบต่อ “โรงงานอุตสาหกรรม” ปิดตัวแล้ว 1,700 แห่ง
หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาปรับคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปี 2567 ลดลง จากที่เคยมองไว้ที่ 2.2-3.2% มาอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ 2-3% มาจากปัจจัยเรื่องสงครามการค้า และปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นเป็นหลัก ส่งผลให้ “สำนักวิจัยเศรษฐกิจ” ออกมาปรับจีดีพีกันเป็นทิศทางเดียวกัน
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ล่าสุดสำนักวิจัยเศรษฐกิจ Krungthai COMPASS ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลง มาอยู่ที่ 2.3% จากเดิมที่คาดการณ์ขยายตัว 2.7% แม้ไตรมาสแรกจีดีพีของเศรษฐกิจไทย จะออกมาเติบโตกว่าที่ประเมินไว้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่หายไป 0.4% หลักๆ มาจากส่งออกที่กรุงไทยมีการปรับลดลงเหลือ 0.5% จาก 1.8% เนื่องจากส่งออกมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยถึง 60% ทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจหายไปค่อนข้างมาก
รวมถึงประเด็นสงครามการค้า และสงครามจริงที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนปีนี้ให้ลดลง และรวมถึงการแข่งขันของจีนที่เข้ามาแข่งด้านราคา และส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ที่เป็นประเทศส่งออกของประเทศไทยมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อส่งออกไทย
SCB EIC หั่น ‘จีดีพี’ เหลือ 2.5%
สำนักวิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ Economic Intelligence Center (SCB EIC) มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 (ไม่รวมดิจิทัล วอลเล็ต) เหลือ 2.5% เดิม 2.7% แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกออกมาขยายตัวดีกว่าคาด
โดยมองไปข้างหน้าภาพรวมองค์ประกอบเศรษฐกิจส่วนใหญ่แผ่วลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง และการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าจะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้
สำหรับ ในช่วงที่เหลือของปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นหลายด้าน ได้แก่ การส่งออกขยายตัวจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล รถยนต์และส่วนประกอบ
รวมถึง ภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง และส่วนหนึ่งจะถูกสินค้าจีนตีตลาดจากปัญหา Overcapacity ของภาคอุตสาหกรรมจีน
ด้านการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากที่เคยขยายตัวได้ดีใน 2 ปีที่ผ่านมา ผลจากรายได้ฟื้นช้าทำให้ครัวเรือนมีความเปราะบางสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เริ่มมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย
‘เคเคพี’ มองเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ
KKP Research หรือสำนักวิจัยเศรษฐกิจเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ล่าสุดคงประมาณการเศรษฐกิจที่ 2.6% โดยคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอและถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต
โดยไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ามากที่สุดในภูมิภาค หลังเศรษฐกิจโตติดลบ 6.1% ในปี 2020 เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้เพียง 1.6%, 2.5%, และ 1.9% ในปี 2021, 2022 และ 2023 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพเดิมของไทยที่ 3-3.5% แม้การท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ดีแล้วก็ตาม
3 ปัจจัยโครงสร้างฉุดเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้ต่ำกว่า 3% นับตั้งแต่หลังโควิด-19 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นับว่าต่ำกว่าศักยภาพเดิมของเศรษฐกิจอย่างมาก KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยถูกฉุดรั้งจาก 3 ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้สัญญาณทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป
ทั้งจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัจจัยฉุดสำคัญต่อเศรษฐกิจ ด้านมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เพราะแม้ตัวเลขการส่งออกไทยจะฟื้นตัวขึ้นได้ แต่เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้ประโยชน์มากเท่าเดิมจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก
ขณะที่ เศรษฐกิจไทยอาจกำลังเข้าสู่วัฏจักรการจ่ายหนี้คืน (Deleveraging Cycle) สะท้อนจากยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่หดตัวลงต่อเนื่อง เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากในปัจจุบัน และรายได้ครัวเรือนที่เติบโตช้า ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) เข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการชะลอตัวส่งผลให้แม้การบริโภคในภาพรวมขยายตัวได้ดีขึ้นจากภาคบริการ แต่การบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะการบริโภครถยนต์เติบโตติดลบอย่างหนัก และยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว
ผลกระทบกระจาย‘ยอดโรงงานปิดตัวพุ่ง’
ทั้งนี้ จากการเติบโตที่แตกต่างกันมากในแต่ละภาคเศรษฐกิจ กำลังชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขจีดีพีไทยที่พอเติบโตได้เป็นภาพที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในหลายภาคส่วนยังคงอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวแย่ลง
ในปัจจุบันข้อมูลสะท้อนผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากสัญญาณการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นมาก โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบันมีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีโรงงานปิดตัวประมาณ 1,100 แห่ง
โดยยอดการปิดตัวเร่งขึ้นนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 สอดคล้องกับดัชนีการผลิตที่อ่อนแอลง นอกจากนี้ ข้อมูลยังสะท้อนการจ้างงานที่ชะลอตัวลงในเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรมหากเปรียบเทียบกับการจ้างงานในช่วงก่อนโควิด-19 โดยผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงที่เริ่มเห็นได้ชัดขึ้น
สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยในหลายกลุ่มโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ และตอกย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิตให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือ 2.6% จาก 2.8% โดยคาดเศรษฐกิจไทยมีทิศทางชะลอตัวกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งจากส่งออกที่คาดเติบโตต่ำกว่าคาด และภาคการผลิตมีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและอุปสงค์นอกประเทศที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน
รวมถึงผลผลิตภาคการเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบมากขึ้น จากสภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะไตรมาสสอง ที่คาดว่าภาวะลานีญาอาจส่งผลให้เกิดฝนตกชุกและอุณหภูมิปรับลดลง แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังได้ในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้
มองความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารยังคงไม่ปรับ จีดีพีไทย แต่มีการปรับไส้ในบางเครื่องจักรเศรษฐกิจลดลง เนื่องจากมองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือปี 2567 มีมากขึ้น ทั้งการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ยังไม่เห็นมาตรการขนาดใหญ่ และความเสี่ยงด้านต่างประเทศที่จะผ่านการส่งออก และการผลิตของประเทศไทย ดังนั้น อาจโตต่ำกว่าคาดได้ ส่วนเครื่องจักรตัวที่ปรับดีขึ้นคือ การบริโภคเอกชนที่ดีกว่าคาด ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“สิ่งที่เราจะปรับมุมมองครั้งนี้ คือดอกเบี้ยนโยบาย จากเดิมมองลดดอกเบี้ยสองครั้ง เป็น 1 ครั้งปีนี้ในช่วงปลายปีแทน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรับคือ ส่งออก การผลิต ที่มีโอกาสปรับลดลง”