ต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรไทยในรอบ 6 เดือน หนีตลาดสหรัฐโยกเงินเข้าเอเชีย
กองทุนทั่วโลกทยอยลงทุนพันธบัตรตลาดเกิดใหม่เอเชีย หลังผลตอบแทนดีกว่าพันธบัตรสหรัฐ ดันต่างชาติเข้าซื้อสุทธิ พันธบัตรไทยครั้งแรกในรอบ 6 เดือนมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท ในเดือนพ.ค.
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าพันธบัตรตลาดเกิดใหม่เอเชีย (Emerging Asia bonds) มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรทั่วโลก เนื่องจากพันธบัตรของภูมิภาคเอเชียมีส่วนต่างที่แคบกว่าเมื่อเทียบกับพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ เนื่องจากสหรัฐมีแรงกดดันจากตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไป
นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กได้คำนวณผลตอบแทนของพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ นำโดยพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ อายุ 10 ปี มีส่วนต่างต่ำกว่าพันธบัตรสหรัฐอยู่ 1% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี มากกว่า 2 เท่า รวมถึงพันธบัตรอินเดีย ,มาเลเซีย และจีน ก็มีส่วนต่างแคบลง ในขณะที่พันธบัตรของฮังการี, โคลอมเบีย,โปแลนด์ และ เม็กซิโก กลับมีสัญญาณว่ามีส่วนต่างที่กว้างกว่า
ต่างชาติลงทุนพันธบัตรไทย 2 หมื่นล้านบาท
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมด้วยดอลลาร์สหรัฐลดลงตามไปด้วย ซึ่งทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะ "พันธบัตร" น่าสนใจมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กองทุนทั่วโลกทยอยลงทุนในพันธบัตรไทยซึ่งมีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน คิดเป็นมูลค่า 560 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 หมื่นล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกันพันธบัตรอินโดนีเซียก็ได้รับเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิเป็นครั้งแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่า 944 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท
ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนเมษายน ของมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ล้วนต่ำกว่าประมาณการของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าภูมิภาคนี้กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อผลตอบแทนพันธบัตรภายในประเทศ
หากในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน FOMC กลางเดือนมิถุนายน นี้ มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจผ่อนคลายนโยบาย ก็อาจเปิดทางให้ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชีย สามารถเริ่มลดดอกเบี้ยได้
เอเชียอาจลดดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐ
ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียกำลังรอให้เฟดลดดอกเบี้ย ก่อนที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยในประเทศของตัวเอง แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเงินเฟ้อที่ลดลงในบางประเทศเหล่านี้อาจทำให้พวกเขาสามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น
ยูจีน เลียว นักกลยุทธ์อาวุโสด้านอัตราดอกเบี้ยประจำสิงคโปร์ จากธนาคารดีบีเอส กล่าวว่า ส่วนต่างของพันธบัตรตลาดเกิดใหม่เอเชียเมื่อเทียบกับพันธบัตรคลังสหรัฐที่ค่อนข้างแคบนั้น เกิดขึ้นเพราะภูมิภาคนี้ไม่ได้เผชิญกับ "แรงกดดันด้านราคา (เงินเฟ้อ) ในระดับเดียวกันกับสหรัฐ" เมื่อธนาคารกลางสหรัฐปรับลดดอกเบี้ยลงในที่สุด ข้อจำกัดภายนอกสำหรับธนาคารกลางในเอเชียตะวันออกน่าจะคลายลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดดอกเบี้ยได้หากจำเป็น
เลียวชี้ว่า ตลาดสหรัฐเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาที่รุนแรงจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟด ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรคลังสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามธนาคารกลางในเอเชียตะวันออกเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาที่น้อยกว่า เนื่องจากเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
ด้วยเหตุนี้ เลียวคาดการณ์ว่า ส่วนต่างของพันธบัตรตลาดเกิดใหม่เอเชียกับพันธบัตรคลังสหรัฐน่าจะแคบลงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเฟดเริ่มปรับลดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามธนาคารกลางในเอเชียยังคงเผชิญข้อจำกัดที่สำคัญนั้นคือ “ค่าเงินดอลลาร์” ที่แข็งค่า ซึ่งเป็นข้อจำกัดความสามารถของธนาคารกลางเหล่านี้ในการลดดอกเบี้ยแต่ข้อจำกัดเหล่านี้จะคลี่คลายลงในที่สุด หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจะช่วยให้ธนาคารกลางในเอเชียมีโอกาสลดดอกเบี้ยมากขึ้น
ทั้งนี้บลูมเบิร์กเผยรายงานชี้ว่า ผลตอบแทนพันธบัตรคลังสหรัฐ อายุ 10 ปี ลดลง 0.07% ในเดือนพฤษภาคม ในขณะเดียวกัน ผลตอบแทนเฉลี่ยของ พันธบัตรเอเชียตลาดเกิดใหม่อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงถึง 1.1% เทียบกับพันธบัตร 10 ปี ของยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มีผลตอบแทนที่ ลดลงเพียง 0.04% ส่วนพันธบัตรลาตินอเมริกา กลับมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อ้างอิง bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์