ความเสี่ยงการเมืองฉุดไทยรั้งท้าย ต่างชาติลงทุนตราสารหนี้ไทยต่ำสุดในภูมิภาค
ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ฉุดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ไทยรั้งท้าย ต่ำสุดในภูมิภาค กระทบค่าเงินบาท-อัตราดอกเบี้ย
KEY
POINTS
- ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลฉุดรั้งนักลงทุนต่างชาติ กังวลต่อการกู้ยืมเงินจำนวนมากของรัฐบาล
- ต่างชาติซื้อตราสารหนี้ไทยน้อยที่สุดในภูมิภาค ส่งผลต่อค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ย
- ความตึงเครียดระหว่างธนาคารกลางกับรัฐบาลสร้างความกังวลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศไทยฉุดรั้งตลาดตราสารหนี้ไทยให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ แม้ว่าจะมีเงินทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้าเข้าสู่ตลาดอีกครั้งในรอบ 6 เดือน คิดเป็นมูลค่า 560 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 หมื่นล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม แต่นับว่ายอดซื้อสุทธิยังอยู่ในระดับต่ำ
เมื่อเดือนที่แล้ว กองทุนต่างชาติซื้อตราสารหนี้ไทยราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ดัชนีชี้วัดการลงทุนของต่างชาติเมื่อเทียบกับแนวโน้มในอดีต ยังชี้ให้เห็นว่าไทยอยู่อันดับ “สุดท้าย”ในภูมิภาคอีกด้วย
ความเสี่ยงทางการเมืองทำตลาดทุนไทยไร้เสน่ห์
ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่าง"ธนาคารกลาง”กับ "รัฐบาล”ส่งผลต่อความเสี่ยงในตลาดเงินภายในประเทศ เกี่ยวกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” และความกังวลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจำนวนมากของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยและค่าเงินบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองระยะสั้นนี้ทำให้ตลาดผันผวน ซึ่งอาจส่งผลต่อการที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม แม้ว่าหุ้นและตราสารหนี้บางตัวจะมีราคาที่น่าสนใจก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้ไทยไม่ได้รับประโยชน์มากนักจากแนวโน้มที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ ส่งผลให้ตราสารหนี้และสกุลเงินของตลาดเอเชียเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนตราสารหนี้อ้างอิงของไทยกลับปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.06% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.82% ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในปีนี้
แต่การเทขายเงินบาทสุทธิในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การถือครองเงินบาทโดยนักลงทุนต่างชาติยังคงเบาบาง โดยอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากตลาดตราสารหนี้ของอินโดนีเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ที่มีการถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างมาก
การเมืองตึงเครียด กระทบเชื่อมั่นตลาดทุนไทย
ความตึงเครียดทางการเมืองกำลังปะทุขึ้นในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของกลุ่มวุฒิสภา 40 คน ที่ต้องการให้ปลดนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันออกจากตำแหน่งด้วยการขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบีติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลไทยกำลังหารือวิธีการเพื่อควบคุมธนาคารกลางของประเทศมากขึ้น ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับอิสระภาพของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย
รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาล ยิ่งส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจของตราสารหนี้ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวช้าที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสแรกที่ต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติม นำไปสู่การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมปี 2567 (งบกลางปี 2567)วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล
ขณะที่ Goldman Sachs ยังคงมองแนวโน้มดอกเบี้ยและสกุลเงินของไทยในแง่ร้าย โดยมองว่าการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อความต้องการเงินทุนในปีนี้และปีหน้า
นักกลยุทธ์นำโดย แดนนี่ สุวรรณพฤติ และ แอนดรูว์ ทิลตัน ระบุว่า ธนาคารยังคาดการณ์ว่าความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐที่มีช่องว่างในระดับสูง และปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท