กนง.ส่องเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ถึงปีหน้า เริ่มฟื้นตัวสู่ ‘ระดับศักยภาพ‘

กนง.ส่องเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ถึงปีหน้า เริ่มฟื้นตัวสู่ ‘ระดับศักยภาพ‘

กนง. เปิดภาพรวม “เศรษฐกิจไทย” ครึ่งปีหลัง คาดมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง แรงหนุน “ท่องเที่ยว-ส่งออก-การบริโภคเอกชน-การลงทุนภาครัฐ” ที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลทั้งปีเศรษฐกิจไทยโตตามคาด 2.6% รับห่วงปรับกรอบ “เงินเฟ้อ” หวั่นซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง

ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Monetary Policy Forum” ครั้งที่ 2/2024 ว่า หากดูย้อนดูภาพเศรษฐกิจไทย จุดตั้งต้นปลายปีก่อนถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าหลายฝ่ายคาด โดยมีแรงฉุดจากหลายประการ ทั้งภาคการคลังและการส่งออก แต่ช่วงที่สองนี้ เป็นช่วง “สปีด” หรือเห็นการรีบาวนด์ของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวมาได้ระดับหนึ่ง 

โดยในไตรมาสแรก และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว “เร่งขึ้น” จากฐานที่ต่ำ ส่วนช่วงที่ 3 หรือปลายปีนี้ จนถึงต้นปีหน้า เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่จะเห็นเศรษฐกิจโน้มเข้าสู่ “ระดับศักยภาพ” ในหลายมิติ ทั้งอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และภาวะการเงิน

โดยรวมของเศรษฐกิจไทย พบว่ามีความแตกต่างกันในหลายมิติ ทั้งจากสาขาเศรษฐกิจ กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มผู้ประกอบการ ขนาดกลางขนาดเล็ก

แต่ภาพใหญ่สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยมีจุดตั้งต้นต่ำ เร่งตัวขึ้น และโน้มเข้าสู่ศักยภาพ ในภาพรวมกนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยข้างหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มองว่า เศรษฐกิจดีในภาพใหญ่นัก เพราะปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยก็ยังมีอยู่ จากปัจจัยเชิงโครงสร้างการกระจายรายได้ก็เป็นประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขต่อเนื่อง

คาดเศรษฐกิจไทยไปต่อปีนี้โต 2.6%  

นางสาวปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า โดยรวม ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2.6% หลักๆ มีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ​และภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวไปได้ต่อเนื่อง และมีสัญญาณบวก ที่น่าดีใจคือ เริ่มเห็นการฟื้นตัวจากภาคการผลิต และภาคการส่งออกในบางหมวด โดยภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 35.5 ล้านคน และ 39.5 ล้านคนในปีหน้า รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยว ยังเป็นแรงส่งสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชนให้ปรับดีขึ้น

“ถ้ามองไปข้างหน้า แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจก็จะสมดุล เครื่องยนต์ต่างๆ ก็จะสมดุลขึ้น ทั้งจากการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกสินค้าที่จะกลับมาเป็นบวก ด้วยฐานที่ต่ำปีก่อน ทำให้กนง. คาดว่าในไตรมาส 2-3 และ 4 ปีนี้ ตัวเลขจีดีพีจะค่อยๆ ดีขึ้น โดยไตรมาส 2 จะขยายตัวอยู่ที่ 2% ไตรมาส 3 ใกล้ 3% และไตรมาสสุดท้ายใกล้ 4% และปีหน้าขยายตัว 3% ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย”

ดังนั้นโดยรวมคณะกรรมการมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีความเสี่ยงลดลง สะท้อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่สูงว่าคาดในไตรมาสแรก การเบิกจ่ายภาครัฐที่เร่งกลับมาในไตรมาส 2 รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง

แต่ยอมรับว่า กนง. ยังมีความเป็นห่วง และความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัว ที่แตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน K-shaped recovery โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่ยังขยายตัวได้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงต้องเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้น จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาจากปัจจัยภายนอก และห่วงเกี่ยวกับการฟื้นตัวของครัวเรือนไทย โดยเฉพาะกลุ่มมีรายได้น้อย เปราะบาง ที่อาจถูกฉุดรั้งด้วยภาระหนี้ขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ดังนั้น กนง.จึงควรให้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวใกล้ชิด

โดย กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพ และช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวได้ จึงเห็นควรคงดอกเบี้ยที่ 5 ต่อ 1 ที่ 2.50%

เตือนปรับกรอบ “เงินเฟ้อ” เสี่ยงเศรษฐกิจสะดุด

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ส่วนอัตราเงินเฟ้อ มองว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ปัจจุบันได้ทำหน้าที่ได้ดีอย่างดีแล้ว และเหมาะสมและสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการปรับกรอบเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมองว่า เป็นสิ่งที่พึงระวัง เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงเกินไป อาจกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา และทำให้เกิดความผันผวนตามมาได้ โดยเฉพาะกระทบต่อด้านรายได้ สำหรับกลุ่มเปราะบางที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลทำให้เศรษฐกิจสะดุด หรือฟื้นตัวอย่างไม่สมูทได้

โดยหากดูเงินเฟ้อในปัจจุบัน มีแนวโน้มปรับตัวเข้ากรอบได้ ภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ดังนั้นแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไป กนง.ยังประเมินว่า ยังสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย 1-3% และมองว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวในระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย

“ระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันถือว่าสอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มเข้ากรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาส4 เป็นต้นไป ดังนั้นดอกเบี้ยปัจจุบันน่าจะเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวด้วย”

ดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยจะอยู่ระดับสูง โดยกนง.พบว่า ครัวเรือนเป็นปัญหาหนี้สูงในบางกลุ่ม ขณะที่บางธุรกิจไม่ได้เป็นหนี้สูง แต่กลไกการจัดสรรสินเชื่อ การเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีมีปัญหา ดังนั้นการแก้ปัญหาของธปท.ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ปัญหาแย่ลง เพราะตระหนักดีกว่า หนี้เป็นจุดเปราะบางกับครัวเรือนค่อนข้างมาก แต่หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ ปัญหามาจาก มูลหนี้ที่ค่อนข้างสูง แต่ปัญหาก็มาจากดอกเบี้ยที่เป็นหนึ่งเช่นเดียวกัน

“เราไม่ได้มองว่านโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือไม่มีเป้าว่าต้องเซทดอกเบี้ยที่ระดับใด เพื่อให้หนี้ครัวเรือนลดลง แต่ก็ยอมรับว่า ดอกเบี้ยก็เป็นส่วนในการทำให้การเปลี่ยนแปลงของหนี้ ดังนั้นสิ่งที่ธปท.ทำมาโดยตลอดคือ การพยายามทำไม่ให้หนี้ครัวเรือนแย่ลง โดยการใช้มาตรการแก้เฉพาะจุดไปบางส่วนแล้ว”

ห่วงภาครถยนต์ยอดปฏิเสธพุ่ง-ราคาดิ่ง

สำหรับ ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ยอมรับว่า เผชิญความท้าทายที่ค่อนข้างหนักหน่วงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากยอดขายที่ปรับลดลง สินเชื่อรถยนต์ปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มียอดปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น แต่เหล่านี้พบว่า ในด้านมาตรฐานสินเชื่อไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ที่เปลี่ยนแปลง คือ คุณภาพผู้กู้ที่เข้ามาขอกู้ ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพราะเกิดจาก Credit Risk หรือความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ราคาของรถยนต์มือสองถูกกดดันอย่างมาก ทำให้ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจซื้อรถ เพราะไม่มั่นใจว่า เมื่อมีซื้อรถ และขายในระยะต่อไป ยังได้ราคาดีหรือไม่ นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เข้ามาดิสรัปชัน ที่ทำให้การแข่งขัน และราคาปรับลดลงอย่างมาก

นายปิติ กล่าวต่อว่า สำหรับ มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ถือเป็นสิ่งที่ ธปท. ทบทวนมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่า มาตรการปัจจุบัน เป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะหากพิจารณาดูถึงการปล่อยสินเชื่อพบว่า การซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 10ล้านบาท ยังมีการให้สินเชื่อสูงถึง 110% ขณะที่ราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท หรือสัญญาที่สอง LTV ยังอยู่ที่ 80-90% ดังนั้น LTV ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาคอสังหาเจอปัญหาในปัจจุบัน