‘อมรเทพ - ศุภวุฒิ’ ชี้กำลังซื้อล่างทรุด ห่วงเกิดโดมิโน ลามธุรกิจขนาดใหญ่

‘อมรเทพ - ศุภวุฒิ’ ชี้กำลังซื้อล่างทรุด ห่วงเกิดโดมิโน ลามธุรกิจขนาดใหญ่

“อมรเทพ” ห่วงกำลังซื้อระดับล่างลามฉุด “ธุรกิจกลาง - บน” กระทบสภาพคล่องหด หนี้เสียเพิ่ม ชี้หาก “หนี้เสีย” ลามสู่ ธุรกิจขนาดใหญ่ โอกาสอาจเป็น “โดมิโน” ลามสู่ภาคการเงิน “ศุภวุฒิ” รับห่วง “นโยบายการเงินตึงตัว” เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง - ปีหน้า

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย สิ่งที่ห่วงคือ กำลังซื้อระดับซึมยาว เริ่มจากซึมตัวจากระดับล่างที่ขาดกำลังซื้ออาจลามไปสู่ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ให้ขาดสภาพคล่องตามมา

ดังนั้น มองว่าครั้งนี้ แก้ยากกว่าวิกฤติปี 40 เพราะจากปัญหาซึมยาวจากปัญหาระดับล่างทั้งภาคเกษตร คนมีรายได้น้อยเอสเอ็มอีต่างจังหวัด และปัจจุบันกำลังลามสู่ภาคแรงงานภาคผลิต ดังนั้น สิ่งที่กังวลคือ เริ่มเห็นธุรกิจขนาดกลาง หรือแม้แต่ขนาดใหญ่ร้านค้าปลีก และสินค้าภาคการผลิตเริ่มมียอดขายลดลง สะท้อนกำลังซื้อของคนในประเทศที่อ่อนแอ 

หวั่นโดมิโนกำลังซื้อล่างลามสู่การเงิน

อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่วิกฤติที่รุนแรงแต่เศรษฐกิจไทยกำลังทรุด จากกำลังซื้อระดับล่าง - ระดับกลาง - ระดับบน ธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจมีรายได้จากต่างประเทศเริ่มมีรายได้ลดลง แต่ภาพใหญ่จีดีพียังโต เพราะท่องเที่ยวประคองอยู่ 

ทว่า สิ่งที่ห่วงคือ ปัญหาที่ลามมากระทบสู่สถาบันการเงิน ปัจจุบันสินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง บริโภคเติบโตต่ำ มีเพียงธุรกิจใหญ่ที่เติบโตได้ แต่หากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีปัญหา อาจกระทบต่อภาคการเงินให้เริ่มอ่อนแอ โดยเฉพาะหากเห็นภาพหนี้เสียที่ลามสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ผลกระทบอาจลามสู่ภาคการเงินได้

“วันนี้ภาพหนี้เสียของภาคธนาคารสูง ทั้งรถยนต์ บ้าน ทุกคนกังวลเรื่องหนี้เสีย ดังนั้น แบงก์จึงขันนอตโดยเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ แต่สิ่งที่กังวลคือ ลามไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ หากมีเรื่องกระทบความเชื่อมั่น ทั้งเกี่ยวกับหุ้นกู้ ตลาดทุน เหล่านี้จะลามมาสู่ภาคการเงินเร็วขึ้นเป็นจุดหนึ่งที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ ไม่เช่นนั้นถ้ากระทบโดมิโนตัวสุดท้ายเมื่อไหร่ เศรษฐกิจจะทรุดกว่านี้แน่นอน”

นอกจากนี้ สิ่งที่ตามมาคือ การย้ายฐานผลิตจากไทย โรงงานปิดตัวที่อาจเห็นมากขึ้นในระยะข้างหน้า สุดท้ายพนักงานจะถูกเลย์ออฟมากขึ้นเป็นภาพที่ไม่อยากเห็น และหวังว่าจุดนี้จะถูกแก้ไขหรือประคองให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ 

ห่วงนโยบายการเงินตึงตัวฉุด ศก.ไทยโตต่ำ 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า คาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ครึ่งปีหลัง และต่อเนื่องปี 2568 ไม่น่าเพิ่มขึ้นได้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เอาไว้สาเหตุจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องปีนี้ เริ่มส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับบุคคล และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้กู้ยืม

สถานการณ์นี้ส่งผลให้กำลังซื้อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจการเติบโตจีดีพีประเทศลดลง และปัจจุบันกำลังกระทบลามสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ต้นปี และน่าเป็นห่วงว่า ธุรกิจจำนวนมากในไทยทั้งในประเทศ และต่างประเทศยังคงปิดตัวต่อเนื่อง สาเหตุต้นทุนที่สูง และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซา แนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี และในปีหน้า

นอกจากนี้ คุณภาพสินทรัพย์ของเอสเอ็มอีในท้องถิ่น และบุคคลทั่วไป ยังคงอ่อนแอลงต่อเนื่อง สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สำหรับผู้กู้ยืมเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วน 20% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดในอุตสาหกรรมการธนาคาร มีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นในปีหน้า

สศช. ปรับลดจีดีพีไทยปีนี้โต 2.5%จาก 2.7% 

ทั้งนี้ สศช. ปรับลดจีดีพีปีนี้จากโต 2.7% เหลือโต 2.5% หลังจากจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ โตแค่ 1.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ธปท.คาดการณ์การเติบโตจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2% ในไตรมาส 2 , 3% ในไตรมาส 3 และ 4% ในไตรมาส 4 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม นายศุภวุฒิ กล่าวว่า จีดีพีไม่สามารถโตแตะ 3% และ 4% ในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ตามที่ธปท.คาดไว้เป็นผลจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ ธปท. กดดันการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศ หลังการแพร่ระบาดโควิด-19

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า ธปท. ควรปรับลดลงดอกเบี้ยนโยบายในปีที่แล้ว แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ส่งผลให้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นส่งผลให้การเติบโตจีดีพีไทยน่าจะเห็นต่ำกว่าที่คาดไว้ปีนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% สูงเกินไป และยังไม่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย 

เนื่องจาก หากลองพิจารณาช่วง 5 ปีก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ 1.2% มีอัตราการเติบโต จีดีพีของไทยที่ 3% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.36% แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ 2% มีการเติบโตจีดีพีของไทย (ไตรมาส 1 ปี 67) ที่ 1.5% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.6% ดังนั้น ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อหนุนการเติบโตเศรษฐกิจ

เงินในกระเป๋าน้อยลงกระทบต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นายสมหวัง เดชศิริอุดม กรรมการผู้จัดการ เล้งเส็ง กรุ๊ป ค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ภาพรวมการใช้จ่ายลูกค้าในต่างจังหวัดอยู่ในภาวะตึงตัวมาก จากเงินในกระเป๋าลูกค้าลดลง ทำให้ผู้ประกอบการร้าน ค้าปลีก-ค้าส่ง ต่างได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ต้นน้ำที่เป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ จนถึงปลายน้ำ ที่เป็นร้านค้าโชห่วย

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเรื่องเครดิตสินค้าที่เก็บเงินได้ช้าลง จากการที่ร้านค้าในต่างจังหวัดขายสินค้าได้น้อย มีสต๊อกค้างมากขึ้นเป็นปัญหาที่พบในร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ต้องพยายามดูแลเรื่องการให้เครดิตแก่ร้านค้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ผลจากหลายปัจจัยเข้ามากระทบธุรกิจในต่างจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งวางยุทธศาสตร์นำเทคโนโลยีมาร่วมบริหาร การลงลึกไปในพื้นที่เพื่อพบร้านค้าโชห่วยโดยตรงมากขึ้น เพื่อบริหารต้นทุนให้มีราคาต่ำลง พร้อมร่วมกับ ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ที่อยู่ในสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย จัดกิจกรรมการตลาด โลคอล โลว์คอสต์ ร่วมมือซัพพลายเออร์ลดราคาสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั่วประเทศมาร่วมจัดงาน 40-50 ราย และมีซัพพลายเออร์มาร่วมด้วย 20-30 ราย ผลักดันให้ค้าปลีก-ค้าส่ง ร้านค้าโชห่วย ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อในต่างจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง

“การร่วมมือผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง จัดกิจกรรมการตลาด โลคอล โลว์คอสต์ มีขึ้น 40-50 ราย หรือใน 40-50 จังหวัดทั่วประเทศ ผู้ประกอบการต่างร่วมมือกัน เพื่อสร้างค้าปลีกในต่างจังหวัดให้แข็งแกร่ง และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ระหว่างกัน ผู้ประกอบการต่างร่วมมือกัน ทำให้ธุรกิจในต่างจังหวัดสามารถขยายตัวไปได้ต่อเนื่อง”

สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการคือ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาไม่มีนโยบายใหม่ๆ สนับสนุนเศรษฐกิจ ตลอดจน ดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างจังหวัด เพิ่มกำลังซื้อฐานรากให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

“ท่องเที่ยว” กระอักพิษกำลังซื้อถดถอย

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ตลาดนักท่องเที่ยวไทยกำลังประสบปัญหากำลังซื้อถดถอย สะท้อนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไตรมาส 2 ปี 2567 ระบุผลสำรวจค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างจังหวัด (ไม่รวมค่าเดินทาง) ในไตรมาสดังกล่าว พบว่าคนไทยใช้จ่ายประมาณ 2,683 บาท/คน/ทริปลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในไตรมาส 1/2567 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6,856 บาท/คน/ทริป

“ภาคเอกชนท่องเที่ยวอยากให้ภาครัฐเร่งหาวิธี ออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการกระตุ้นกับเรียลเซกเตอร์โดยตรง กระจายคนไปเที่ยวทั้งเมืองหลัก และเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) อย่ารอให้เกิดวิกฤติแล้วค่อยมากระตุ้นทีหลัง”

ครึ่งปีหลังทุกหมวดสินค้าชะลอเปย์งบ

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป จำกัด หรือ หรือเอ็มไอ กรุ๊ป (MI GROUP) กล่าวว่า แนวโน้มครึ่งปีหลัง แบรนด์สินค้าต่างๆ ส่งสัญญาณชะลอใช้จ่ายงบโฆษณาทุกหมวดหมู่ เนื่องจากครึ่งปีแรกมีปัญหายอดขายทั้งสินค้าที่ต้องไตร่ตรองการซื้อ เช่น ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เพราะมีสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด รวมถึงกำลังซื้อผู้บริโภคมีจำกัด เป็นปัจจัยเปราะบาง 2 เด้ง

“ครึ่งปีหลังภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาสื่อดั้งเดิมทั้งทีวี สิ่งพิมพ์ ฯลฯ ยังซึมๆ และหดตัว จากแบรนด์สินค้าเกือบทุกแคทกอรีซึม และชะลอใช้จ่าย เพราะเศรษฐกิจ ธุรกิจไม่ดี”

นางสาวจรินี วงศ์กำทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT กล่าวว่า หลังผ่านโควิด-19 ระบาด ผู้คนออกมาใช้ชีวิต สังสรรค์นอกบ้านมากขึ้น แต่ยอมรับว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเภทวิสกี้ปีนี้เซกเมนต์ระดับบน หรือพรีเมียมมีโอกาสทางการตลาด ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่เศรษฐกิจ กำลังซื้อผู้บริโภคเปราะบาง อาจมีผลต่อตลาดระดับทั่วไปหรือแมสซึ่งเป็นสินค้าราคาต่ำ(Trade down)

“การทำตลาดห้วงเวลานี้ ต้องใช้งบอย่างชาญฉลาด และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำตลาดยังต้องวางแผนงานระยะสั้นมากขึ้น และมีความยืดหยุ่น”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์