เฟดลดดอกเบี้ย ใกล้ถึงหรือช้าไป | บัณฑิต นิจถาวร
วันพุธที่แล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50 ตรงกับการคาดการณ์ของตลาด
และชี้นําว่าถ้าตัวเลขเศรษฐกิจก่อนการประชุมคราวหน้าออกมาดี ก็มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปเดือนกันยายน เป็นการชี้นำที่ไม่ต่างจากสัญญาณที่เคยให้ไว้
แต่หลังจากนั้นเพียงหนึ่งวันตลาดก็ตั้งคำถามว่าเฟดลดดอกเบี้ยช้าไปหรือไม่ เพราะข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาหลังการประชุมชี้ถึงความอ่อนแอที่มีมากขึ้นทั้งการผลิตและตลาดแรงงาน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในความเห็นของเฟด เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเข้มแข็ง จีดีพีไตรมาสสองขยายตัวร้อยละ 2.8 สูงกว่าที่ตลาดการเงินคาด ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 2.1 นําโดยการบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกระเตื้อง ส่งผลให้การจ้างงานดีต่อเนื่อง
โดยตลาดการเงินประเมินว่ามีการจ้างงานใหม่ 175,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม และค่าจ้างเพิ่มในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.1
สําหรับเงินเฟ้อเป็นขาลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 3.0 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และเงินเฟ้อคํานวนจากดัชนีราคาของการใช้จ่ายของครัวเรือนตามตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6
ทั้งหมดชี้ภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวพร้อมอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและตลาดแรงงานที่สมดุลมากขึ้น เป็นภาพที่ธนาคารกลางสหรัฐอยากเห็น คืออัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมาย โดยไม่กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานมากเกินไป
แต่แม้เศรษฐกิจดูดีในทุกด้าน คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐก็ตัดสินใจไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันพุธ เป็นการตัดสินใจแบบเอกฉันท์ ที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้เข้าใกล้จุดที่สามาหรถลดดอกเบี้ยได้ แต่ยังไม่ถึง และคณะกรรมการอยากรอดูตัวเลขต่อเพื่อให้มั่นใจ
ซึ่งถ้าตัวเลขสองเดือนข้างหน้าออกมาดี ทั้งเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน การลดดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นได้เร็วสุดในการประชุมคราวหน้า เป็นสัญญาณที่ตลาดหุ้นปรับสูงขึ้นตอบรับข่าวและสรุปว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนในการประชุมคราวหน้ากลางเดือนกันยายน
ผมไม่แปลกใจที่เฟดตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ย เพราะอย่างที่เขียนในคอลัมน์นี้เมื่อสามอาทิตย์ก่อน ข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดมีวันพุธที่แล้ว ไม่มีอะไรใหม่มากที่จะสําคัญต่อการลดดอกเบี้ย ยกเว้นตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองและเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีการใช้จ่ายของครัวเรือนในไตรมาสสอง ที่ยืนยันภาวะเศรษฐกิจที่เข้มแข็งช่วงครึ่งปีแรกและอัตราเงินเฟ้อที่กําลังโน้มลดลง
ซึ่งถ้าตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมทั้ง เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน ออกมาดีในแนวเดียวกัน เฟดก็จะยิ่งมั่นใจที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน นี่คือสื่งที่เฟดคิดและรออยู่
แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน หลังการประชุมเฟดเพียงหนึ่งวันคือในวันพฤหัสบดีตามด้วยวันศุกร์ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐเดือนกรกฎาคมที่เริ่มทยอยออกมา ก็ชี้ภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงกว่าคาดทั้งการผลิตและตลาดแรงงาน
เริ่มด้วยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือนกรกฎาคมที่ลดลงเป็นระดับ 46.8 ตํ่าสุดในรอบแปดเดือน ตัวเลขจํานวนผู้ขอยื่นรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่เพิ่มเป็น 249,000 รายเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว สูงสุดตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว
และในวันศุกร์ ตัวเลขการจ้างงานใหม่เดือนกรกฎาคมที่ประกาศออกมาก็มีเพียง 114,000 ตําแหน่ง ต่ำกว่า 175,000 ตำแหน่งที่ตลาดการเงินคาดมาก และที่แปลกใจมากสุดคืออัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มเป็นร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 4.1เดือนก่อนหน้า
ตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนลงทําให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลงในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ พร้อมมีคําถามว่า เศรษฐกิจสหรัฐแย่กว่าที่ตัวเลขขณะนี้ชี้หรือไม่ และแย่กว่าที่เฟดประเมินไว้เมื่อวันพุธหรือไม่
และเมื่อเศรษฐกิจดูแย่กว่าคาด ธนาคารกลางสหรัฐคงต้องรีบปรับอัตราดอกเบี้ยลง ทําให้การลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนจึงเป็นสิ่งที่ต้องทําเพื่อประคองการชะลอตัวของเศรษฐกิจ คําถามคือ เฟดลดดอกเบี้ยช้าไปหรือไม่และถ้าสถานการณ์แย่ลงจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น
ในการแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันพุธ ประธานเฟด นาย เจอโรม พาวเวล ก็ถูกผู้สื่อข่าวถามในประเด็นนี้ คือความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะแย่กว่าที่เฟดประเมินทำให้การลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนอาจช้าเกินไป ซึ่งประธานเฟดก็ตอบได้ดี
หนึ่ง ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอ (cooling) มากกว่าที่ตัวเลขแสดงให้เห็นนั้นมีได้ ไม่ปฏิเสธ แต่อาจเป็นความอ่อนแอเฉพาะจุด (spots of weaknesses) เพราะภาพรวมขณะนี้ค่อนข้างเข้มแข็ง และความอ่อนแอที่มาก (Sharp weakening) ยังไม่มีให้เห็นในตัวเลข
พร้อมย้ำว่า เฟดมีพื้นที่ทางนโยบายที่จะเข้าดูแลปัญหา หมายถึง ความอ่อนแอของเศรษฐกิจมากกว่าคาดถ้าเกิดขึ้น
สอง การหาจุดสมดุลของสองเป้าหมายของนโยบายการเงินของเฟด คือ เงินเฟ้อและการจ้างงาน ไม่ใช่เรื่องง่าย คือต้องพยายามบรรลุทั้งสองเป้าหมายและเฟดตอนนี้ก็กําลังหาจุดสมดุล ไม่มีอะไรการันตี เป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้เหตุผลที่ยาก (difficult judgement call) และไม่มีอะไรแน่นอน
เป็นคําตอบที่ชัดเจน สำหรับนักลงทุน ผมคิดว่าตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรจะผันผวนมากขึ้นช่วงสี่อาทิตย์ข้างหน้า แต่จะเป็นความผันผวนระยะสั้นต่อตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่จะออกมา เพื่อประเมินว่าเส้นทางการลดดอกเบี้ยของเฟดจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร จะจัดหนักช่วงแรกหรือเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
แต่ที่แน่ๆ คืออัตราดอกเบี้ยจะเริ่มลดลง แต่จะไม่ลดลงตํ่ามากเหมือนในอดีต เพราะอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกจะไม่ตํ่ามากเหมือนในอดีตเช่นกัน และสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจพลิกผันที่บางคนห่วงกัน ผมคิดว่าเฟดก็คิดเรื่องเหล่านี้ในแง่การบริหารความเสี่ยง และคงมีเตรียมการไว้แล้ว.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล