Topic: Investing Amid Policy Rate Shifts and Global Economic Resilience
อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง ช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนลดลง และเป็นบวกต่อการประเมินมูลค่าของหุ้น เพิ่มความน่าสนใจให้กับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสูง เช่น Microsoft, Nvidia, Amazon, Alphabet และ META เป็นต้น
ภารกิจควบคุมอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ใกล้บรรลุเป้าหมาย นำไปสู่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง นับจากปี 2022 เป็นเวลาราว 3 ปีที่เฟดใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 0.25% ในปี 2022 สู่ระดับ 5.25-5.50% ในเดือน ก.ค. 2023 และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามความหวังในการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มขึ้นหลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณการอ่อนตัว อาทิ ดัชนี PCE หรือ Personal Consumption Expenditures เดือน ก.ค. 2024 ที่ขยายตัว 2.5%YoY เทียบกับเดือน มิ.ย. ที่ 2.6%YoY และเดือน พ.ค. ที่ 2.7%YoY ตามลำดับ ถัดมาคือตัวเลขตลาดแรงงาน โดยอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 4.3% ในเดือน ก.ค. 2024 เทียบกับเดือน มิ.ย. ที่ 4.1% และ 4.0% ในเดือน พ.ค. ซึ่งตัวเลขทั้ง 2 ขยับเข้าใกล้กับกรอบเป้าหมายเฟด อ้างอิงจากประมาณการของคณะกรรมการเฟดในเดือน มิ.ย. 2024
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะเฟดมักจะเป็นธนาคารกลางซึ่งเป็นผู้นำในการปรับนโยบายการเงินซึ่งจะส่งผลต่อดัชนีภาวะการเงิน (Financial Condition Index) ทั่วโลก การที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือลดดอกเบี้ยได้มากขึ้นในระยะถัดไป กล่าวคือ เรากำลังจะเข้าสู่วัฏจักรที่ธนาคารกลางทั่วโลกโดยส่วนใหญ่จะส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพตามมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในบทวิเคราะห์ “World Economic Outlook: The Global Economy in a Sticky Spot” เดือน ก.ค. 2024 ประเมินมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2024-2025 ที่ระดับ 3.2% และ 3.3%YoY ตามลำดับ โดยมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2025 ขึ้น 0.1% เทียบกับการประเมินครั้งก่อนในเดือน เม.ย. 2024
ในมุมมองของ Pine Wealth Solution ประเมินเฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024-2025 ลงราว 1.75%-2.00% และหากพิจารณา Dot plot ในการประชุมเฟดเดือน มิ.ย. 2024 คณะกรรมการมีมุมมองว่าเฟดมีโอกาสจะลดอัตราดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปี 2024 และจะตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในปี 2025 และ 2026 อีกปีละ 1% (อย่างน้อย) จะส่งผลให้ดอกเบี้ย ณ ปี 2026 อยู่ที่ 3.00% - 3.25% ซึ่งเราประเมินว่าการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีเสถียรภาพและคาดว่าจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงหรือ Hard Landing
ตารางที่ 2: The Fed's track record of hard and soft landings
จากตารางที่ 2 แสดงการปรับนโยบายการเงินของเฟดนับตั้งแต่ปี 1966 หากพิจารณาจากการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับมากกว่า 3.0% ทั้ง 8 ครั้ง จะพบว่ามี 2 ครั้งที่ GDP สหรัฐฯ ไม่ชะลอตัวลง และมี 1 ครั้งที่ GDP ชะลอตัวลงเพียง 0.6% ตามลำดับ กล่าวคือจากข้อมูลในอดีตหลังการขึ้นดอกเบี้ยที่สูง (มากว่า 3.0%) ราว 37.5% ที่หลังจากนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เกิดภาวะการหดตัวที่รุนแรง และหากพิจารณาข้อมูลด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราคาดว่า หลังการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ (2022-2024) เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีลักษณะ Soft Landing
ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง ช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนลดลง และเป็นบวกต่อการประเมินมูลค่าของหุ้น เพิ่มความน่าสนใจให้กับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสูง เช่น Microsoft, Nvidia, Amazon, Alphabet และ META เป็นต้น อ้างอิงการประมาณการของ Goldman Sachs จากบทวิเคราะห์ US Market Update ณ วันที่ 17 มิ.ย. 2024 พบว่า หุ้นขนาดใหญ่ที่กล่าวมาจะมีการเติบโตของผลกำไรอยู่ที่ 37% และ 19% ในปี 2024 และ 2025 สูงกว่าดัชนี S&P500 อย่างมีนัยสำคัญที่ 6% และ 11% ตามลำดับ การลดอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นประโยชน์ต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและอาจทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าดัชนี
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลบวกต่อตราสารหนี้เช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลให้ตราสารหนี้มีกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) เนื่องจากตราสารหนี้ที่ออกมาแล้วในปัจจุบันมีแนวโน้มให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตราสารหนี้ที่จะออกในอนาคตหลังจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ในปัจจุบันจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเรามองว่าผลตอบแทนจาก Capital Gain นี้จะไม่สูง เนื่องจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ จะส่งผลให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจึงยังคงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน เราจึงมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้จึงยังคงต้องลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุตราสาร (Duration) สั้น-กลาง โดยมีอายุตราสารไม่เกิน 5 ปี
อย่างไรก็ตามเรามองว่า ตลาดหุ้นในครึ่งหลังของปีจะมีความผันผวนที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของเหตุการณ์สำคัญต่างๆ อาทิ การเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ด้านสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์มีความผันผวนสูงขึ้น แต่ด้วยการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนนำโดยสหรัฐฯ ที่สูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราจึงมองตลาดหุ้นโลกและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วง 2H24 ยังเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีสำหรับการลงทุน แต่ยังคงแนะนำให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงเพื่อลดความผันผวน