‘ผู้ว่าการ แบงก์ชาติ‘ ชี้ เสถียรภาพการเงิน เป็นจุดเปลี่ยน ปรับ ‘ดอกเบี้ยนโยบาย‘

‘ผู้ว่าการ แบงก์ชาติ‘ ชี้ เสถียรภาพการเงิน เป็นจุดเปลี่ยน ปรับ ‘ดอกเบี้ยนโยบาย‘

“ผู้ว่าการ แบงก์ชาติ” ย้ำพร้อมปรับ “ดอกเบี้ย” หากผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงิน มีผลกระทบแรงกว่าคาด ชี้เหตุแบงก์ปล่อยกู้ลดลง เผยมองความเสี่ยงลูกหนี้พุ่ง ชี้ข้อเสนอปรับลดเงินนำส่ง “FIDF - แฮร์คัตหนี้” ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ‘ผู้ว่าการ แบงก์ชาติ‘ กล่าวว่า ในด้านการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการพิจารณาดอกเบี้ยหลักๆ ขึ้นอยู่กับ Outlook Dependent หรือ 3 ส่วนที่ กนง. ใช้พิจารณาคือ การเติบโตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน

โดยหากดูการเติบโตเศรษฐกิจ จากข้อมูลที่ออกมาล่าสุดในไตรมาส 2 ภาพรวมยังเป็นไปตามที่กนง.ประเมินไว้ และการฟื้นตัวโดยรวมเป็นการค่อยๆ ฟื้นตัวไปสู่ระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่มีการเปลี่ยนมุมมอง แต่ยอมรับว่า มี Downside Risk หรือความเสี่ยงในบางมิติที่มากขึ้นจากตัวเลขไตรมาส 2 ที่ออกมา เช่น การลงทุนเอกชนที่ลดลง ดังนั้น ในระยะข้างหน้าธปท. จะอัปเดตภาพประมาณการจีดีพีปี 2567 แต่โดยรวมประมาณการเศรษฐกิจที่ออกมายังใกล้เคียงกับที่ กนง.ประเมินไว้

ด้านเงินเฟ้อ ถือว่าต่ำกว่ากรอบล่าง และมีแนวโน้มค่อยๆ เข้าสู่กรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่าคือ การรักษาการคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และยังไม่เห็นภาพเงินเฟ้อที่ต่ำลงจนนำไปสู่เงินฝืด หรือทำให้การบริโภคชะลอตัวลงต่อเนื่อง

ผลการเงิน “ตึงตัว” กระทบแรงกว่าคาด

สุดท้าย เรื่องเสถียรภาพการเงิน ที่ กนง. พยายามจะสื่อมากขึ้น จากความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจกับภาคการเงินที่ดูเหมือนว่ามีผลกระทบแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ภาวะทางการเงิน “ตึงตัว” ซึ่งหากตึงตัวมากๆ หรือเกินไป อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่จะ trigger ทำให้ กนง.ตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้ “เหมาะสม” ตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลง หากผลกระทบจากต่อภาคการเงินแรงกว่าที่คิด

“โทนการคุยกันของกรรมการในประชุมของ กนง. สิ่งที่อยากให้ Reflect หรือสะท้อนผ่านที่ประชุมออกไปคือ อยาก reflect ว่าเรา more openness ที่จะมีโอกาสปรับดอกเบี้ย เพราะว่า macro financial ที่ออกมาแรงกว่าที่คิด แต่ที่สื่อออกไป และเห็นว่า กนง.พูดถึง financial stability ไปตีความว่า เราคงไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย ผมว่าอันนั้นไม่ได้สะท้อนความคิดของ กนง. ซึ่งเราโอเพ่นมากขึ้นในการปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยต่างๆ ตามสภาวะที่เปลี่ยนไป หากความเชื่อมโยงทางการเงินที่ตึงตัว จนกระทบต่อเครดิตควอลิตี้แรงกว่าควร ก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทนี้”

อย่างไรก็ตาม ในด้านเสถียรภาพการเงิน สิ่งที่ ธปท.พยายามทำต่อเนื่องคือ การทำงานเป็น policy mix เพราะการดำเนินนโยบายการเงินไม่ได้มีเพียงเรื่องดอกเบี้ยเท่านั้น ที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย แต่ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่มี และต้องทำควบคู่กับมาตรการต่างๆ ที่มี เพราะรู้ดีกว่า “ดอกเบี้ย” อย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ดังนั้นต้องเสริมด้วย Policy Mix เข้ามาด้วย

ดังนั้น ขอย้ำว่า กนง.พร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องมือที่ใช้ ใน Policy Mix ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สถานการณ์การเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินที่ออกมาที่มีผลต่อเศรษฐกิจ

“แบงก์” ลดปล่อยกู้เหตุมองความเสี่ยงสูง

อย่างไรก็ตาม ด้านภาคการเงินที่ตึงตัว ส่วนหนึ่งมาจากที่สถาบันการเงินเข้มงวด และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อชะลอตัว จากการที่แบงก์ประเมินความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ แต่สิ่งที่ห่วงคือ กรณีที่สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงสูงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้มีการเหยียบเบรกแรงเกินไป เป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น

“สิ่งที่คนเป็นห่วงคือ ด้านสินเชื่อที่ความรู้สึกของคนคือ จากที่คนมักไปคิดว่า สภาพคล่องเป็นเหมือนน้ำ คิดว่าแบงก์ชาติดูดน้ำเข้าน้ำออก เพื่อรักษาดอกเบี้ยที่ 2.50% และน้ำที่ออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจก็น่าจะหายหดไป แต่สิ่งที่เราอยากเน้นคือ เรื่องสภาพคล่องที่คนแคร์ คือ คนได้หรือไม่ได้สินเชื่อ อันนั้นไม่ได้มาจากที่ ธปท.เอาน้ำใส่หรือไม่ใส่ แต่มาจากแบงก์เองที่มองว่าปล่อยสินเชื่อจะได้กำไร หรือได้ผลตอบแทนคุ้มเสี่ยงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ Credit risk หรือทุนเขาเพียงพอหรือไม่ แต่หากดูด้านทุนวันนี้สถาบันการเงินมีเพียงพอ”

ทั้งนี้ มองว่าปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อส่วนหนึ่งมาจาก ปัญหาด้านโครงสร้างด้วย ดังนั้น หากจะให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างรูปธรรม ก็สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการเปิดให้มีการโอเพ่นดาต้า หรือให้มีข้อมูลลูกหนี้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสพิจารณาสินเชื่อ หรือเปิดโอกาสให้ผู้เล่น ผู้ให้บริการต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

รวมถึงการเปิดให้มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเรื่องค้ำประกันสินเชื่อต่างๆ เช่น ล่าสุดมีการตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติหรือ NaCGA (นากก้า) นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่อยู่ในการแผน ธปท.ที่จะนำมาใช้ในระยะข้างหน้า แต่ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้คือ การปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย (Risk-based pricing) ช่วยให้คนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นบนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ต่ำกว่าหนี้นอกระบบที่จ่ายในปัจจุบัน แต่เกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งข้อดีข้อเสียที่ต้องพิจารณาในการนำมาใช้อย่างรอบคอบ

ส่วนกรณีที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมากล่าวว่า อาจถึงเวลาลดดอกเบี้ยลงนั้น ไม่ใช่แรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายของ กนง. เพราะการดำเนินนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยเป็นหลัก ทั้งเรื่องการเติบโต เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินที่เป็นปัจจัยในประเทศ 

แต่ไม่ได้หมายความว่า กนง.ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยข้างต้น กนง.คำนึงถึงหลายปัจจัยที่มากระทบ หนึ่งในนั้นคือ การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ ที่อาจกระทบผ่านช่องทางตลาดเงินตลาดทุน อัตราแลกเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่ต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกัน 

ดังนั้น การออกมาส่งสัญญาณดังกล่าว ไม่ได้เพิ่มแรงกดดันต่อ กนง.มากนัก เพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่เฟดออกมาส่งสัญญาณในทิศทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือแตกต่างกับที่คาดการณ์ไว้

ลดค่าฟี FIDF - แฮร์คัตหนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป

ทั้งนี้ กรณีที่มีข้อเสนอให้ปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 0.46% ลดลงมาครึ่งหนึ่งให้เหลือ 0.23% เพื่อนำมาแก้หนี้ให้คนไทย รวมถึงการลดหนี้หรือ Hair Cut หนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยนั้น มองว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงประเด็นต่างๆ ในขณะนี้

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเงินนำส่งเพื่อใช้หนี้คืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งมีการเรียกเก็บจากสถาบันการเงิน 0.46% ต่อปี จะอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ จะมีการนำส่งคืนหนี้ แบ่งเป็นปีละ 2 งวด หรืองวดละ 3.5 หมื่นล้านบาท หากดูหนี้ของ FIDF ที่ยังต้องใช้คืนราว 5.8 แสนล้านบาท โดยมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งภายในเดือนกันยายน 2567 ที่จะมีจ่ายหนี้ จะทำให้หนี้จะลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาท ดังนั้น หากลดเงินนำส่ง 0.23% อาจทำให้ไม่มีเงินนำมาชำระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายราว 5 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้เงินต้นลดลงช้าไปอีกครึ่งปีหลังจากนี้

กรณีที่มีคำถามถึง การทำงานร่วมกับรัฐบาลในอนาคต ผู้ว่าการ กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท. ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลตลอดเวลาอยู่แล้ว ที่มีการหารือกันหลายคณะมีการพูดคุยหรือหารือมาตลอด ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เงินเฟ้อต่างๆ และเราพร้อมทำงานกับทุกคน และเรื่องความอิสระ ธปท.ต้องเข้าใจว่า ความอิสระที่พูดถึง คือ การดำเนินนโยบายการเงินว่า จะพิจารณาอย่างไร แต่ไม่ใช่เป็นรัฐอิสระที่สามารถทำอะไรก็ได้ เพราะยังมีหลายด้านที่ไม่ได้อิสระ เช่น การพิจารณาเงินเฟ้อ ที่ต้องร่วมพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์