เส้นทางแห่งความมั่งคั่ง เริ่มจากการกินลูกชิ้นเนื้อวัว
ความสามารถในการอดทนต่อสิ่งยั่วเย้าในปัจจุบัน เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคตนั้น เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความสำเร็จ
เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่อง “การอดทนต่อสิ่งล่อใจ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต” หรือในภาษาอังกฤษคือ “Delayed gratification” ซึ่งนำเสนอโดย ศาสตราจารย์ Walter Mischel และผ่านการทดลองที่มีชื่อเสียงติดอันดับสูงสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการทดลองทางด้านจิตวิทยาที่เรียกว่า “The Marshmallow Test” เป็นทฤษฎีที่นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ควรที่จะรู้ไว้ เพราะทฤษฎีนี้ อาจจะมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จและความมั่งคั่งเท่า ๆ กับทฤษฎีการลงทุนและการเลือกหุ้นโดยตรง
การทดลองทำโดยใช้แมชแมลโลว์มา “ล่อ” เด็กอายุประมาณ 4 ขวบ ซึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด โดยเสนอว่าถ้ากินเลย จะได้กินเพียง 1 ชิ้น แต่ถ้ารอ “สักครู่” เช่นประมาณ 15 นาที ก็จะได้กิน 2 ชิ้น นี่เป็นการทดลองเพื่อดู “ความอดทน” ในจิตใจของเด็กซึ่งทุกคนนั้นอยากกินแมชแมลโลว์เป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว
ผลก็คือ เด็กส่วนใหญ่นั้น “ทนไม่ไหว” บางคนเพียง 2-3 นาทีก็กินแล้ว มีบางคนก็รอได้ถึง 5 หรือ 10 นาที และหลายคนก็รอจนถึงเวลา 15 นาทีที่ผู้ทำการทดลองกำหนดและได้กินขนม 2 ชิ้น ผลตอบแทนของการรอ ถ้าคิดว่าเป็น “การลงทุน” ก็คือขนมที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้น หรือ 100% ในเวลาเพียง 15 นาที
ข้อมูลการทดลองนั้นถูกเก็บไว้เป็นเวลาอาจจะ 10 ปี 20 ปี และต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะนำมาศึกษาว่า เด็กที่สามารถ “รอ” สิ่งล่อใจหรือสิ่งเย้ายวนได้นานกับเด็กที่รอไม่ไหวหรือรอได้ไม่นาน เมื่อโตขึ้นจะมีความแตกต่างของ “ความสำเร็จ” ในชีวิตไหม และมากน้อยแค่ไหน
ผลก็คือ เด็กที่รอได้นานที่สุดและได้กินขนม 2 ชิ้น ประสบความสำเร็จสูงกว่าเด็กที่รอไม่ไหว ยิ่งรีบกินเร็วก็จะประสบความสำเร็จน้อยกว่าและมีความสุขน้อยกว่า การวัดความสำเร็จก็เช่น คะแนนสอบ SAT ซึ่งเด็กทุกคนต้องใช้สมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ระดับการเรียนถึงปริญญาตรีหรือไม่ เงินเดือนหรือรายได้เป็นอย่างไร ส่วนความสุขก็อาจจะเป็นการถามเจ้าตัวหรือพ่อแม่ เป็นต้น นอกจากนั้นบางการศึกษาก็ดูว่าน้ำหนักตัวคือดัชนีมวลกายเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว คนที่ได้ “คะแนนการรอ” สูง มักมีรูปร่างหรือสุขภาพหรือดัชนีมวลกายดีกว่า คือไม่อ้วนหรืออ้วนน้อยกว่า เป็นต้น
ข้อสรุปของการศึกษาก็คือ “ความสามารถในการอดทนต่อสิ่งยั่วเย้าในปัจจุบัน เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคตนั้น เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความสำเร็จ” ในชีวิต ฟังดูแล้วก็เหมือนกับ “การลงทุน” ที่เราอดทน “เลื่อน” การบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ล่อใจหรือเย้ายวนมนุษย์ทุกคน เพื่อหวังที่จะได้สิ่งที่ดีกว่าหรือการบริโภคที่มากกว่าในอนาคต นั่นก็คือ ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมีเงินมากขึ้นและสามารถบริโภคได้มากกว่าในอนาคต
และถ้ามองตามนี้ คนที่มีความสามารถในการเลื่อนการใช้จ่ายเงินได้มากกว่า ก็น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนมากกว่าคนที่ชอบบริโภคเป็นชีวิตจิตใจ พูดง่าย ๆ คนที่เป็น “นักออม” นั้น มีคุณสมบัติที่จะ “รวย” หรือมีความมั่งคั่งมากกว่าคนที่ไม่ออมและใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
เช่นเดียวกัน คนที่ลงทุนได้ยาวนานกว่า และไม่ค่อยยอมขายทำกำไรเพื่อนำมาบริโภคก็ย่อมที่จะมีความมั่งคั่งสูงกว่าคนที่เน้นการลงทุนระยะสั้น ที่พอเห็นราคาหุ้นขึ้นก็มักจะรีบขายทำกำไรอย่างรวดเร็วและก็พลาดได้ผลตอบแทนที่สูงกว่ามากในอนาคตที่ไกลออกไป
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครทำการศึกษาแบบ แมชแมลโลว์ที่เน้นมาทางด้านการลงทุนประเภทว่าใครพอร์ตใหญ่กว่ากันระหว่างเด็กที่ทำคะแนนความอดทนต่ำกับคนที่ได้คะแนนสูง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พอร์ตใหญ่หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างน้อย 3 เรื่องคือ เงินต้น ระยะเวลาที่ลงทุน และผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้น ซึ่งคงจะยากที่จะหาข้อมูลแบบนั้นได้ในกลุ่มคนที่ทำการทดสอบ
แต่ข้อมูลเชิงคุณภาพจากที่เราก็พอจะทราบก็คือ เซียนหุ้น “VI พันธุ์แท้” ระดับโลกหลายคน เช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เป็นคนที่ “ใช้เงินน้อยมาก” ประเภท กินแฮมเบอร์เกอร์เกือบทุกวัน กับโค๊ก ขับรถเก่าและอยู่บ้านแบบคนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กก็ไม่เคยใช้จ่ายอะไรเป็นเรื่องเป็นราว แต่เน้นหาเงินมาลงทุน เช่นเดียวกับคนอย่างป้าแอนน์ ไชเบอร์ นักลงทุน VI พันธุ์แท้แบบ “บ้าน ๆ” ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก มีพอร์ตเป็น “พันล้าน” ก่อนตายทั้ง ๆ ที่มีรายได้จากการทำงานน้อยมาก แต่เป็นคนประหยัดสุด ๆ ซึ่งทำให้สามารถออมเงินและนำมาลงทุนจนรวยได้
ทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผมระลึกถึงชีวิตตนเองตั้งแต่เด็กที่เริ่มจำความได้ เนื่องจากครอบครัวยากจน ผมก็แทบจะไม่เคยได้ใช้จ่ายหรือบริโภคอะไรที่ไม่จำเป็นจริง ๆ เลย เสื้อผ้าก็น่าจะมีเพียง 2 ชุดและใส่ตลอดทั้งปี ซึ่งก็จะมีช่วงที่ผ้าขาดและมีการปะชุน ของเล่นไม่เคยซื้อเลยแต่ก็ไม่ได้ขาดเพราะทำของเล่นเองมาตลอดจากวัสดุธรรมชาติและที่ถูกทิ้งเป็นขยะไปแล้ว ว่าที่จริงผมน่าจะไม่มีเงินติดกระเป๋าหรือขอเงินพ่อแม่เลยจนถึงวันที่เข้าเรียนในโรงเรียนที่ต้องมีเงินซื้ออาหารกลางวัน ซึ่งสำหรับผมแล้วก็คือสิ่งที่ “หรูหรา” เพราะมันเลือกได้
อาหารอร่อยมากที่สุดที่ยังจำได้ก็คือ เส้นหมี่แห้งลูกชิ้นเนื้อวัวที่ต้องเป็นลูกชิ้นเอ็นเหนียวที่เคี้ยวอร่อย และโดยปกติเด็กก็จะล้อมวงกันกิน ประเด็นสำคัญก็คือ เด็กอายุ 7-8 ขวบนั้น บางครั้งก็ด้วยความคะนอง ก็จะแย่งลูกชิ้นจากชามเพื่อนที่นั่งกินด้วยกัน ส่วนตัวผมเองยังจำได้ว่า เด็กแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนพอเริ่มกินก็กินลูกชิ้นที่ “โอชะ” ที่สุดก่อนเลย บางคนก็กินระหว่างกลาง หลายคนรวมถึงผมก็มักจะกินทีหลังและตอนสุดท้ายเมื่อเส้นหมดแล้ว
นั่นสำหรับผมก็คือแมชแมลโลว์เทสแบบธรรมชาติ ผมทำแบบนั้นเพราะผมคิดว่า ของดีของอร่อย ต้องเก็บไว้กินทีหลัง เพราะมันให้อารมณ์สุดยอดกว่า ผมเลื่อนการกินลูกชิ้นออกไปเพื่อที่ว่าผมจะได้กินของดีที่ “อร่อยกว่า” แม้ว่ามันจะเป็นลูกเดียวกัน แต่มันเป็นความรู้สึกที่ผมคิดว่ามันเป็นผลตอบแทน ทั้ง ๆ ที่ผมต้อง “เสี่ยง” ว่าจะถูกเพื่อนแย่งกิน บางคนถึงขนาดที่ต้องอมลูกชิ้นก่อนเพื่อให้เปื้อนน้ำลายเพื่อที่จะทำให้เพื่อนไม่สนใจที่จะแย่งไปกิน
แน่นอนว่าผมไม่รู้และจำไม่ได้ว่าเพื่อนคนไหนที่ชอบกินลูกชิ้นหลังสุด และก็ไม่รู้ว่าเขาคนนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ชอบกินลูกชิ้นก่อนหรือไม่ แต่ส่วนตัวผมเองนั้น ตลอดชีวิตที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วก็ชอบที่จะเลื่อนเวลาที่จะมีความสุขจากการบริโภคออกไปเพื่อหวังที่จะได้บริโภคสิ่งที่ดีกว่าหรือมากกว่าเสมอโดยเฉพาะในช่วงที่ยังมีความมั่งคั่งน้อย
การประหยัดและใช้เฉพาะในสิ่งที่จำเป็นนั้น ติดอยู่ในใจเสมอ และมาก่อนที่จะรู้เรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นมาก พูดง่าย ๆ เป็นนักอดออมมากว่าครึ่งชีวิตจนถึงอายุ 44 ปี ก่อนที่จะเริ่มลงทุนเป็นเรื่องเป็นราว
เริ่มตั้งแต่หาเงินเลี้ยงตัวเองได้เมื่อจบปริญญาตรี ผมก็ไปทำงานโรงงานต่างจังหวัดที่เป็นชนบทที่มีที่พักในโรงงานพร้อมอาหาร 3 มื้อ สิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวันก็คือพวกสบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายหลักก็จะเป็นการเดินทางเข้ากรุงเทพสัปดาห์ละหนด้วยรถประจำทาง ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็ไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากพบปะเพื่อนและอาจจะดูหนังบ้างเป็นบางครั้ง ผมแทบไม่ได้ซื้อของอะไรรวมถึงเสื้อผ้าที่มักจะใส่ชุดพนักงานของบริษัท
เงินรายได้จากการทำงานในช่วง 6-7 ปีแรกนั้น รายจ่ายที่สูงที่สุดก็คือการส่งให้พ่อแม่ทางบ้าน ที่เหลือแทบทั้งหมดเป็นเงินที่ผมเก็บออมไว้ “เพื่ออนาคต” โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร เหตุผลก็อาจจะเป็นว่า “ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร” เพราะมันยังไม่มากพอ สุดท้ายผมก็ใช้มัน “ลงทุนในการศึกษา” จนจบปริญญาโทและเตรียมไปเรียนต่อปริญญาเอกในต่างประเทศ
และก็อีกเช่นกัน ชีวิตที่อเมริกาของผมนั้น ก็เป็นชีวิตที่ “ประหยัดอดออม” ส่วนใหญ่นอกจากค่าเล่าเรียนที่เสียเพียงครึ่งเดียวของอัตราปกติแล้วก็คือเรื่องของที่อยู่และอาหาร ซึ่งก็ไม่แพงเลยถ้าเราทำกินเอง เพราะในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สิ่งที่แพงจริง ๆ ก็คือค่าแรง ค่าวัตถุดิบอย่างเนื้อสัตว์นั้นถูกพอ ๆ กับเมืองไทย ในส่วนของเครื่องใช้เช่นเสื้อผ้านั้นผมแทบจะไม่เคยซื้อ แม้แต่รถยนต์ที่เป็นสิ่งที่จำเป็น ผมก็ได้มาฟรีจากเพื่อนคนไทยที่กลับบ้าน แอร์ที่ใช้ก็ซื้อของเก่าราคาไม่กี่ร้อยบาท การตัดผมที่ใช้แรงงานซึ่ง “แพง” ผมก็ตัดเองด้วยใบมีด การกินอาหารภัตตาคารรวมถึงร้านพิสซ่าหรือไอศครีมนั้น นาน ๆ ผมถึงจะไปกินสักครั้งหนึ่ง และนั่นก็คือความสุขที่เพิ่มสูงขึ้นมากหลังจากการ “รอ” หรือ “เลื่อน” ความอยากบริโภคออกไป
กลับสู่ประเทศไทยหลังเรียนจบปริญญาเอก ผมก็ยังไม่เคยใช้อะไรที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมาก กินข้าวที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ใช้รถเก่ามือสอง ไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองจนอายุกว่า 50 ปีและมีเงินจำนวนมากแล้วจากการลงทุน จนถึงอายุ 60 ปี ที่ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเริ่มมีครอบครัวของตัวเองรวมถึงมีหลานแล้วที่ผมเพิ่งจะรู้สึกเปลี่ยนไป ที่เริ่มรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเลื่อนการบริโภคออกไปอีกต่อไปแล้ว อยากจะทำอะไรก็ทำ แต่ส่วนมากแล้วก็ทำตามลูก ตามครอบครัวที่ขยายใหญ่ขึ้น แทบไม่ได้คิดว่าตนเองอยากทำอะไรหรือบริโภคอะไรเมื่อมีเงินและเลือกได้
และสุดท้ายก็สรุปกับตนเองว่า ที่อดออมและเลื่อนทุกอย่างที่ทำได้เพื่อที่จะได้สิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้านั้น สุดท้ายวันข้างหน้านั้นก็ไม่มีจริง หรือถึงจะมีจริง เราก็ไม่ได้อยากใช้มัน และเมื่อหวนย้อนคิดกลับไปก็ตระหนักว่า สิ่งที่ทำในตอนนั้น คือการอดออมและเลื่อนเวลาแห่งความสุขออกไปก็คือความสุขในตัวของมันเอง และนั่นก็คงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม วอเร็น บัฟเฟตต์ เองถึงยังขับรถเก่าไปซื้อแฮมเบอเกอร์เองทุกวันเป็นอาหารเช้าในวัยกว่า 90 ปีแล้ว