เช็กด่วน! คุณมี “ภาษีท้องถิ่น” ที่ต้องเสียบ้างหรือไม่

เช็กด่วน! คุณมี “ภาษีท้องถิ่น” ที่ต้องเสียบ้างหรือไม่

ฤดูกาลเสียภาษีเวียนมาทุกปี แต่ภาษีที่บางคนอาจหลงลืม นั่นคือ “ภาษีท้องถิ่น“ ที่หลักๆ จะประกอบด้วย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” และ “ภาษีป้าย” ซึ่งผู้มีรายได้อาจต้องเสียภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้ หรืออาจเสียแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนใหญ่ผู้มีรายได้จะทราบดีว่า เมื่อถึงรอบระยะเวลาเสียภาษีจะต้องยื่นภาษีกับกรมสรรพากร

นอกจากนี้ก็ยังมีภาษีสรรพสามิต โดยจัดเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท รวมถึงภาษีนำเข้าส่งออกหรือภาษีศุลกากร

แต่ทราบหรือไม่ว่า! ภาษีที่ทุกคนมองข้ามที่สุดคือ "ภาษีท้องถิ่น"

​เนื่องจากภาษีท้องถิ่น เป็นภาษีที่จัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีท้องถิ่นต้องยื่นแก่เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ที่พักอาศัยหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ จึงทำให้หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองต้องเสียภาษีท้องถิ่นด้วยหรือ

ภาษีท้องถิ่นหลักๆ จะประกอบด้วย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” และ “ภาษีป้าย” ซึ่งผู้มีรายได้อาจต้องเสียภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้ หรืออาจเสียแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

สำหรับใครที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของตนเอง เจ้าของโฉนดที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้แจ้งการประเมินภาษีแก่เจ้าของโฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยส่งไปให้ที่บ้านภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
จากนั้นผู้เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีหน้าที่ต้องนำใบประเมินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปยื่นเสียภาษีภายในวันที่ 30 เมษายนของปีนั้น ณ สถานที่ชำระภาษีในพื้นที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ซึ่งประกอบด้วย เทศบาล ชำระที่สำนักงานเทศบาล, อบต. ชำระที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล, กรุงเทพฯ ชำระที่สำนักงานเขต, เมืองพัทยา ชำระที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

หลักการคำนวณภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ​

- กรณีมีแต่ที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง สูตรการคำนวณภาษีที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง คือ

มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี
= ภาษีที่ต้องจ่าย

- กรณีมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย สูตรการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ

(มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี
= ภาษีที่ต้องจ่าย

โดยนำมูลค่าฐานภาษีที่ได้มาคำนวณภาษีตามอัตราภาษีที่จัดเก็บแบ่งตามลักษณะการใช้งาน คือ

- ที่ดินเพื่อการเกษตร 0.01-0.1%
- ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย 0.02-0.1%
- ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม 0.3-0.7%
- ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ 0.3-0.7%

หลักการผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

หากปีใดพบว่ามีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจ่ายสูงเกิน 3,000 บาท ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนี้สามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ แต่จะต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในเดือนเมษายน และกำหนดระยะเวลาในการผ่อนแบ่งได้เป็น 3 งวดๆ ละเท่าๆ กัน คือ

งวดที่ 1 ชำระภายในเดือนเมษายน
​งวดที่ 2 ชำระภายในเดือนพฤษภาคม
​งวดที่ 3 ชำระภายในเดือนมิถุนายน

ระวัง! เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม หากไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

หลังจากที่เจ้าของโฉนดที่ดินได้รับใบประเมินภาษีแล้ว หากละเลยไม่ไปชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเสียภาษีค้างชำระ รวมทั้งเบี้ยปรับละเงินเพิ่มด้วย ดังนี้

1.กรณีไม่ได้มาชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด และต่อมาได้มาชำระภาษีก่อนที่จะได้รับหนังสือแจ้งเตือน จะเสียเบี้ยปรับ 10% ของจำนวนภาษีค้างชำระ

2.กรณีผู้เสียภาษีมาชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือน จะเสียเบี้ยปรับ 20% ของจำนวนภาษีค้างชำระ

3.กรณีผู้เสียภาษีมาชำระภาษีภายหลังจากที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือน จะเสียเบี้ยปรับ 40% ของจำนวนภาษีค้างชำระ

4.กรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1% ต่อเดือนของจำนวนภาษีที่ค้างชำระ เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน โดยให้เริ่มนับตั้งแต่พ้นกำหนดเวลาชำระภาษีจนถึงวันที่มีการชำระภาษี แต่ไม่ให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

5.กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้ให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษี และได้มีการชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น จะเสียเงินเพิ่มลดลงเหลือ 0.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือน

6.เบี้ยปรับอาจงดได้ หากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกยึดหรืออายัดตามกฎหมาย โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อของดเบี้ยปรับของภาษีที่ค้างชำระ และให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจสั่งงดเบี้ยปรับนับแต่วันที่ศาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายมีคำสั่งให้ยึด อายัดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแล้วแต่กรณี

ภาษีป้าย

นอกจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีท้องถิ่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลแล้ว หากผู้มีรายได้เปิดกิจการและมีการติดป้ายไว้ในพื้นที่ที่เห็นชัดเจน มีผู้คนเดินพลุกพล่านไปมา ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย โดยเมื่อได้มีการทำป้ายขึ้นมาพร้อมใช้งานแล้ว ต้องไปขออนุญาตติดตั้งป้ายก่อนที่สำนักงานเขต เทศบาล สุขาภิบาล หรือ อบต. ที่ดูแลพื้นที่ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่ โดยมีรายละเอียดอัตราภาษีที่ต้องเสียคือ

  • 1. ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน

1.1 ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตร.ซม.

1.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 1.1 อัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

  • 2. ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น

2.1 ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

2.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 2.1 อัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

  • 3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ

3.1 ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

3.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 3.1 อัตราภาษีป้าย 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

สรุป

เมื่อมาถึงตรงนี้คงพอทราบกันแล้วว่า ใครบ้างที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีท้องถิ่นกันบ้าง ดังนั้น อย่าลืมไปเสียภาษีท้องถิ่นให้ตรงตามรอบระยะเวลาเสียภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา ทำให้เสียเงินไปโดยไม่จำเป็น

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting