ทิศทางดอกเบี้ยขาลงพลิก REIT กลับมาน่าสนใจ

ทิศทางดอกเบี้ยขาลงพลิก REIT กลับมาน่าสนใจ

กลยุทธ์ลงทุนเดือนกันยายน ยังอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง แต่ภาพใหญ่ในระดับโลกดูมีพัฒนาการที่ดีมีโอกาสที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยน่าจะปรับลดในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งแรงกดดันด้านการใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยของไทยก็มีทิศทางผ่อนคลายลงเช่นกัน

เดือนสิงหาคม นี้ ถือได้ว่าเป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เป็นระดับโลก เลย ที่แน่ๆ ก็คือ ประเด็นทางการเมืองในประเทศไทย ที่เดินมาจนถึงจุดสิ้นสุด ในหลายเรื่องแต่ก็อาจจะเป็นประกายไฟหรือแค่ประกายไม้ขีดไฟ ท่ามกลางภาวะการที่ขุ่นมัวเช่นนี้ ตามมาด้วยปัจจัยสำคัญทางด้านฝั่งตะวันตก โดยสหรัฐอเมริกา ที่ได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบตึงตัวมายาวนานก็ต้องมีวันผ่อนคลายกันบ้าง วันนั้นก็กำลังจะมาถึงละครับ

เริ่มจากการประชุม Fed ครั้งล่าสุดบ่งชี้ว่าจุดสนใจของ Fed ได้เปลี่ยนไปจากครั้งก่อนที่เน้นย้ำถึงเฉพาะเรื่องอัตราเงินเฟ้อ โดยหันมาเพิ่มน้ำหนักเรื่องการจ้างงาน ขึ้นมาอยู่ในระดับความสำคัญเดียวกัน ก็ทำให้การคาดการณ์ของนักลงทุนก็เริ่มพุ่งประเด็นมาสู่เรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งสูงขึ้นเกินคาด และทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี 

นอกจากนั้น รายงานตัวเลข ISM ภาคการผลิตประจำเดือนกรกฎาคม ยังออกมาน่าผิดหวัง โดยอยู่ที่ระดับ 46.8 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ทำให้ดัชนี Global PMI ภาคการผลิตในเดือนเดียวกันหลุดระดับ 50.0 ลงมาอีกครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มเป็นกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะหดตัวมากขึ้น 

ตอกย้ำด้วย รายงานตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาน่าผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.14 แสนตำแหน่ง หรืออัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 4.3% สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย 

แต่ในช่วงสัปดาห์ก่อนสุดท้ายของเดือนสิงหาคม ประธาน Fed ได้กล่าวในการประชุมที่เมือง Jackson Hole ว่า ตนมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะกลับไปสู่ระดับยั่งยืนที่ 2% ได้ พร้อมกับการรักษาตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และจะไม่ยินดีนัก หากตลาดแรงงานสหรัฐมีการอ่อนตัวเพิ่มเติมต่อจากนี้ อีกทั้ง ยังบ่งชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่นโยบาย Fed จะต้องปรับตัว เพราะระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันมี Policy space ที่เหลือเฟือเพียงพอแล้ว ทำให้ภาพการลงทุนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นทั่วโลก และผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวของสหรัฐก็ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ถือได้ว่าเป็นการจุดประกายการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และยังมีโอกาสที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ 

คราวนี้ก็หันมามองประเทศไทยบ้าง เดือนนี้เป็นเดือนแห่งความชัดเจน เรื่องแรกก็เป็นเรื่องผลการวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลทำให้ต้องยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งก็ไม่ได้มีสถานการณ์รุนแรงแต่อย่างใด แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้วินิจฉัยประเด็นของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในกรณีแต่งตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ทำให้ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะหลุดออกจากตำแหน่งทั้งหมด และผลจากประเด็นนี้ได้นำมาสู่การส่งผ่านอำนาจทางการเมืองกลับไปสู่ ตระกูลชินวัตร 

อีกครั้งคือ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของประเทศไทย ภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปแบบไม่สะดุดประกอบกับทิศทางเรื่องอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ส่งสัญญาณชัดเจนขึ้น ทั้งปัจจัยการเมืองบวกกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศส่งผลดีให้ตลาดหุ้นไทยพลิกกลับเป็นบวกขึ้นมาอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้น ในเดือนกันยายน สิ่งที่เราต้องตามดูอย่างใกล้ชิดคือ หน้าตาของรัฐบาลใหม่ ใครคือ รัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นยังไง งบประมาณใหม่สำหรับปีหน้าจะเป็นอย่างไร ในขณะที่งบประมาณปีนี้ที่รอจะไปใช้กับ Digital wallet ก็ไม่น่าจะทัน หรือต้องเปลี่ยนเป็นแบบไหน ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย

สำหรับ กลยุทธ์การลงทุนในเดือนกันยายน คงจะยังต้องอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง แต่ภาพใหญ่ในระดับโลกดูมีพัฒนาการที่ดีมีโอกาสที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยน่าจะปรับลดในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งแรงกดดันด้านการใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยของไทยก็มีทิศทางผ่อนคลายลงเช่นกัน ดังนั้น กองทุนทางเลือกอย่าง REIT เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง จากปัจจัยหนุนด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต ซึ่งจะส่งผลมีให้ส่วนต่างระหว่างเงินปันผล และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี มี Valuation น่าสนใจขึ้น ซึ่งสัดส่วนที่ผมแนะนำในการจัดพอร์ตกองทุนทางเลือก ประมาณ 10% ของพอร์ต ซึ่งรวมสินทรัพย์ทองคำ และ น้ำมัน ด้วยนะครับ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์