เปิดศึกชิง ‘เวอร์ชวลแบงก์’ กรุงเทพ-กรุงไทย แข่งเจาะ underserved
“กรุงไทย” รับยื่นขอไลเซนส์ ธปท. แล้ว พร้อมจับมือ “กรุงไทย-เอไอเอส-โออาร์” มั่นใจพาร์ตเนอร์ 3 รายแกร่ง ชี้ “จุดแข็ง” เอื้อเข้าถึงลูกค้า “กลุ่มอันเดอร์เซิร์ฟ” “แบงก์กรุงเทพ” รับอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับกลุ่ม “บีทีเอส” ขอไลเซนส์เวอร์ชวลแบงก์ ชี้อีก 2 วันชัดเจน
“กลุ่มทุนใหญ่” เดินหน้าขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ เวอร์ชวลแบงก์ (Virtual Bank) ล่าสุด กลุ่มธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) ออกมายอมรับ ยื่นขอไลเซนส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ล่าสุด กลุ่มธนาคารกรุงไทยได้ยื่นขอใบอนุญาต หรือไลเซนส์ เวอร์ชวลแบงก์ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว โดยยื่นภายใต้กลุ่มพันธมิตร 3 ราย โดยมี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ส่งให้บริษัทในเครืออย่าง บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ดำเนินการ และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นไม่แตกต่างกันมาก ในการร่วมมือกันยื่นขอใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว
“พันธมิตร” แกร่งตอบโจทย์อันเดอร์เซิร์ฟ
ทั้งนี้ ในส่วนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน จำเป็นต้องรอความชัดเจนการใบอนุญาต จาก ธปท. ที่ชัดเจนก่อน ถึงจะดำเนินจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ อย่างไรก็ตาม มองว่า “จุดแข็ง” ของกลุ่มนี้ เป็นกิจการค้าร่วม (Consortium) ที่มีความแข็งแกร่ง และสามารถตอบโจทย์เป้าประสงค์ของนโยบายรัฐบาลในการจัดตั้ง เวอร์ชวลแบงก์
และตอบโจทย์เรื่องการบูรณาการโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่สามารถตอบโจทย์ ผู้ให้บริการทางการเงินในระบบ แต่อาจยังได้รับบริการที่ไม่เพียงพอ (underserved) และ กลุ่มที่เข้าไม่ถึงผู้ให้บริการในระบบเพราะติดอุปสรรค (unserved) ที่กลุ่มนี้ จำเป็นที่ต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี และ Beyond Banking และอีโคซิสเต็ม ในการเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
“เรามองว่า พันธมิตรทั้ง 3 ราย เป็นจุดแข็งในเชิงโครงสร้าง แต่พันธมิตรก็สามารถมี “บิสเนส พาร์ตเนอร์ชิพ” ได้ต่อจากนี้ โดยทั้งสามรายมีทั้งความแข็งแกร่ง และความสามารถในการตอบโจทย์เป้าประสงค์ของนโยบายนี้ได้”
เอื้อเกิดรายใหม่-เกิดแข่งขันเพิ่ม
ทั้งนี้ มองว่าการมาของ เวอร์ชวลแบงก์จะเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจการเงินรูปแบบดั้งเดิม และเพิ่มการแข่งขันให้กับระบบการเงินมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นมากขึ้น อยู่ที่ในยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไปจากเดิม เพราะการที่มีของใหม่ ไม่ได้หมายความว่าต้องทำแบบเก่า ต้องมีระบบนิเวศใหม่ ฐานข้อมูลใหม่ กลไกใหม่ๆ มากขึ้น
“เวอร์ชวลแบงก์ ที่เกิดขึ้นแล้วในโลกวันนี้มีทั้ง Success และไม่ Success ฉะนั้นบางประเทศที่เอาหลักคิดนี้ไป ไม่ Success เลยก็มี ฉะนั้นตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องมาดู และโครงสร้างของไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบสูงมาก ฉะนั้นคำถามคือ การที่มีระบบนิเวศใหม่เข้าไป เราจะได้มาซึ่งข้อมูลที่ปฏิสัมพันธ์ความรู้สึก รู้จักกับ Underserved และ unserved ได้จากโครงสร้างเดิมที่เราไม่มีโอกาสคอนเนคหรือไม่อันนี้ก็เป็นหัวใจหลัก”
“แบงก์กรุงเทพ” รับพิจารณาร่วม “บีทีเอส”
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวถึงกรณีที่มีคำถามว่า ธนาคารกรุงเทพ จะร่วมมือกับกลุ่ม “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” (BTS) ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง “บมจ. วีจีไอ” หรือ VGI ในการยื่นขอใบอนุญาต หรือ ไลเซนส์ เวอร์ชวลแบงก์ หรือไม่
นายชาติศิริ กล่าวว่า “อยู่ระหว่างการพิจารณา” ดังนั้นให้ติดตามความชัดเจนภายในวันที่ 19 ก.ย.2567 ที่จะถึงกำหนดในการปิดยื่นขอใบอนุญาต เวอร์ชวลแบงก์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“ให้ถึง 19 ก.ย.67 นี้ก่อนแล้วกัน ถึงจะบอกชัดเจนได้ อีกสองวันก็รู้แล้ว ซึ่งวันนี้เราก็อยู่ระหว่างพิจารณาอยู่”
ทั้งนี้ มองว่า การมาของ เวอร์ชวลแบงก์ ถือเป็นเป้าหมายของ ธปท. ที่ต้องการให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ซึ่งก็มองว่า เวอร์ชวลแบงก์ ก็มีประโยชน์
ส่วน เวอร์ชวลแบงก์ ถือเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับที่ธนาคารกรุงเทพดูแลอยู่ ส่วนนี้เขามองว่า สามารถมองได้ทั้งสองมุม เพราะการเข้าถึงความรู้ทางการเงิน และดิจิทัลเป็นพื้นฐาน และเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ด้วย ดังนั้น ถือเป็นทั้งกลุ่มเป้าหมายของธนาคารที่ต้องปรับปรุงตัวเอง และทรานส์ฟอร์มธนาคารในการทำสิ่งเหล่านี้มากขึ้น
ส่วนการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับธนาคารในการให้บริการบนดิจิทัล ปัจจุบันธนาคารก็มีการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยออกมาแล้ว ถึงกลุ่มทุนที่จะยื่นขอไลเซนส์ “เวอร์ชวลแบงก์” ซึ่งเบื้องต้นมี 4 ทุนใหญ่ ดังนั้น อีก 2 กลุ่มทุนที่เปิดเผยออกมาคือ
เอสซีบี เอกซ์ผนึก WeBank KakaoBank
“บมจ.เอสซีบี เอกซ์” (SCB) ที่มีพันธมิตรใหญ่ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ โดย “เอสซีบี เอกซ์” ถือว่ามีจุดแข็งไม่น้อย และเป็นอีกรายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการประกอบธุรกิจ เวอร์ชวลแบงก์ โดยเฉพาะแล้วยิ่งรวมตัวกับ “KAKAO Bank” และ WeBank ธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งในจีน ยิ่งทำให้ “เอสซีบี เอกซ์” มีความได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้
ทั้งนี้ “เอสซีบี เอกซ์” ถือเป็นบริษัทแม่ของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ที่ถือเป็นสถาบันการเงินอันดับต้นๆ ของไทย ที่มาพร้อมฐานลูกค้า และทรัพยากรที่แข็งแกร่งอย่างมาก ที่มีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจธนาคาร และการเงินในประเทศมาอย่างยาวนาน “เอสซีบี เอกซ์” มีการปรับเปลี่ยนองค์กรมาต่อเนื่องสู่โลกดิจิทัล ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนองค์กรในการตอบสนองความต้องการลูกค้าบนยุคดิจิทัลมากขึ้น
ขณะที่ KaKao Bank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ นอกจากมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ เวอร์ชวลแบงก์ แล้ว ยังมีความเชี่ยวชาญในด้านการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นการให้บริการของ KAKAO Bank ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการธนาคารของเกาหลีใต้มาแล้ว ด้วยการมีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านราย หลังจากเปิดดำเนินไปได้เพียง 5 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างมากที่ทำให้ KAKAO Bank ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในเกาหลีใต้เช่นปัจจุบัน
WeBank ธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งในจีน ก็เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งเช่นเดียวกัน ที่ถือเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนมีบัญชีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีน 362 ล้านบัญชี และคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินทั้งหมดของ WeBank คือ กลุ่มชนชั้นแรงงานกว่า 75% ซึ่งส่วนใหญ่ คือ กลุ่ม Unserved และUnderserved โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้การเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น
ดังนั้นด้วยการผสมผสาน “ความน่าเชื่อถือ” ที่มาจาก “เอสซีบี เอกซ์” บวกฐานลูกค้า และทรัพยากรที่แข็งแกร่ง ผสมผสานกับเทคโนโลยีขั้นสูงจาก Webank และความเชี่ยวชาญในการสร้างประสบการณ์ใช้งานที่เข้าถึงง่ายจาก Kakao Bank ทำให้กลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมากในการแข่งขันในตลาด เวอร์ชวลแบงก์ ครั้งนี้
ซีพี แอสเซนด์มันนี่ จับมือ แอนท์ กรุ๊ป
“กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่” ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” กลุ่มบริษัทในเครือของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์”(ซีพี) จับมือ “แอนท์ กรุ๊ป” (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค เป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Alibaba) จากจีน
โดยการยื่นไลเซนส์ครั้งนี้อาจนำโดย “ทรู” ที่ถือเป็นหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในไทย ด้วยการมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการทั้งผ่านโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เคเบิ้ลทีวี ที่รวมแล้วครองฐานลูกค้าจำนวนมาก ทำให้ “ทรู” มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ได้ไม่ยาก เช่นเดียวกับรายก่อนๆ หน้านี้
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันทรูเอง ยังให้บริการบนดิจิทัลผ่าน “True Money ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย ที่มีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านราย ภายใต้ “ทรู” เอง ยังอุดมไปด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทั้งจากใน และต่างประเทศ ที่ในอนาคต “ทรู” อาจดึงเข้ามาร่วมวงในการทำ เวอร์ชวลแบงก์ ได้ ดังนั้น หากดูด้านความพร้อมกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองอย่างมาก ที่มีทั้งความพร้อมในการทำระบบชำระเงินออนไลน์ และมีอีโคซิสเต็มทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างมาก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์