“ดอกเบี้ยสูงเงินบาทแข็ง นำเข้ากับส่งออก ใครได้ใครเสีย?”

“ดอกเบี้ยสูงเงินบาทแข็ง นำเข้ากับส่งออก ใครได้ใครเสีย?”

การนำเข้าสินค้า การชำระหนี้ในต่างประเทศ หรือผู้ที่ส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอก ก็กำลังได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งในปัจจุบัน น้ำมันดิบที่ไทยนำเข้าโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 875,000 บาเรลล์เป็นวัตถุดิบที่นำมากลั่นเป็นพลังงาน มีผลกระทบโดยตรงกับต้นทุนแทบทุกอุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่ง

“ดอกเบี้ยยังคงไว้สูงขณะที่เงินบาทแข็งขึ้นมาโดยตลอด” เป็นหัวข่าวในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียมากในระยะนี้ หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจผสมการเมืองในยุคสื่อสารคล่องแคล่ว กระแสเชียร์แบงค์ชาติกับรัฐบาลแบ่งเป็นสองฝ่ายเสมือนเป็นกีฬาประเภทใหม่ยอดฮิต

นักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองบางคนบอกว่าแบงค์ชาติอย่ารอช้าจนเศรษฐกิจพัง รีบจัดการลดดอกเบี้ยด่วน ส่วนแบงค์ชาติออกมายืนยันสม่ำเสมอและชัดเจนว่า “ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและรอบคอบโดยพิจารณาจากทุกด้านทุกมิติ เรื่องอัตราการแลกเปลี่ยนของเงินบาทกับสกุลหลักของโลกนั้นต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของตลาดซึ่งรู้ดีที่สุดว่าอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้นอยู่ในอัตราที่เหมาะควรแล้ว แต่พร้อมจะปรับเปลี่ยนหากมีเหตุผลเพียงพอ”

การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศเป็นวัฏจักรปกติ เงินบาทแข็งในช่วงนี้เป็นสิ่งชั่วคราว ปีนี้กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมาประชุมอีกสองครั้ง ในวันที่ 16 ตุลาคม และ 18 ธันวาคม คาดว่าจะใช้มาตรการเช่นอัตราดอกเบี้ยสร้างเงื่อนไขให้การแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อสกุลหลักของโลกโดยเฉพาะอเมริกันดอลล่าร์อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ส่งสัญญาณจะลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงปลายปีประมาณ 1.25% ซึ่งน่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้แบงค์ชาติของไทยนำมาพิจารณาอย่างแน่นอน

เงินบาทแข็งแล้วใครได้หรือเสียเปรียบ?

การนำเข้าสินค้า การชำระหนี้ในต่างประเทศ หรือผู้ที่ส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอก ก็กำลังได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งในปัจจุบัน

น้ำมันดิบที่ไทยนำเข้าโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 875,000 บาเรลล์เป็นวัตถุดิบที่นำมากลั่นเป็นพลังงาน มีผลกระทบโดยตรงกับต้นทุนแทบทุกอุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่ง

เปรียบเทียบระหว่างปี 2566 ราคาน้ำมันดิบบาร์เรลละ 77.64 เหรียญดอลล่าร์อเมริกัน อัตราเงินบาทอยู่เฉลี่ยที่ 34.78 บาทต่อเหรียญ เพราะฉะนั้นต้นทุนนำเข้าต่อวันคือ 2,362,779,000 บาท

เข้ามาปีนี้พ.ศ. 2567 ราคาน้ำมันเฉลี่ยบาร์เรลละ 79.54 เหรียญ ขณะที่เงินเฉลี่ย 35.76 บาทต่อเหรียญ คำนวณต้นทุนน้ำมันดิบต่อวันคือ 2,488,806,000 บาท

มาถึงวันที่ 26 กันยายน ราคาน้ำมันดิบร่วงหนักลงมาอีกเหลือ 67.21 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 32.65 บาทต่อเหรียญ ต้นทุนน้ำมันดิบต่อวันคือ 1,920,105,000 บาท

สรุปได้ว่าการนำเข้าน้ำมันดิบในปัจจุบันประหยัดเงินต่อวันประมาณ 442,674,000 บาทเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (การทำสัญญาซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ทำล่วงหน้าหรือมีกรณีพิเศษ)

เมื่อน้ำมันมีต้นทุนสูงภาครัฐก็มักจะชดเชยโดยใช้เงินกองทุน แต่เมื่อต้นทุนลดลงก็ควรจะเติมเงินส่วนที่ประหยัดได้เข้าไปเก็บไว้ในคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพในอนาคต และที่สำคัญคือส่วนหนึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนของทุกอุตสาหกรรมรวมทั้งเกษตรกรรมลดลง ผู้ซื้อน้ำมันที่ปั๊มควรเห็นราคาที่ต่ำลงในปัจจุบันด้วย

ในทางตรงกันข้ามวงการส่งออกมีความวิตกว่าเงินบาทแข็งจะทำให้ยอดขายลดลง เนื่องจากต้นทุนของผู้ซื้อในต่างประเทศจะสูงขึ้นกว่าเมื่อปีที่แล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกรงว่าต่างชาติจะงดเดินทางเพราะต้นทุนแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นคำกล่าวที่มีเหตุผล

การสั่งสินค้าไทยจากผู้ซื้อต่างประเทศลดลงหรือยัง เรื่องนี้แบงค์ชาติจับตามองอย่างใกล้ชิด

ผู้ซื้อรายใหญ่ระดับโลกมีวิธีการเตรียมรับมือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว เงินบาทอ่อนที่สุดในวันที่ 30 เมษายน 2567 ที่ 37.20 บาทต่อ 1 เหรียญดอลลาร์ เฉลี่ยทั้งปี พ.ศ. 2567 อยู่ที่ 35.76 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ 32.65 บาท จึงถัวเฉลี่ยกำไรมากน้อยกันไป ส่วนผู้ค้ารายย่อยก็อาจมีการกระทบกระเทือนบ้าง หากไม่ได้กระจายความเสี่ยงหรือเตรียมตัวไม่พร้อม

ไทยนำเข้ามากกว่าส่งออก ดูจากตัวเลขของปี 2566 และ 2567 เป็นตัวอย่าง

ปี 2566 ไทยส่งออก 312,000 ล้านดอลลาร์ นำเข้า 337,000 ล้านดอลลาร์ หมายถึงขาดดุล 25,000 ล้านดอลลาร์ ปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2567 ส่งออกแล้วรวม 197,000 ล้านดอลลาร์ นำเข้า 204,000 ล้านเหรียญ แปลว่าไทยขาดดุลใน 8 เดือนแรกของปีนี้ 7,000 ล้านดอลลาร์ 

เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาจากการนำเข้าซึ่งมากกว่าการส่งออก เราจะเห็นได้ว่า“การที่เงินบาทเข้มแข็งเป็นผลลัพธ์สุทธิในทางบวกต่อเศรษฐกิจของไทย”

ประเทศที่เราได้เปรียบดุลการค้า เช่น สหรัฐอเมริกาที่ใช้เงินดอลล่าร์ซื้อสินค้าไทยนั้น คาดว่าจะไม่กระทบกระเทือนกำลังการซื้อมากนัก เนื่องจากดอกเบี้ยสหรัฐลดลงทำให้สภาพคล่องของการเงินเพิ่มขึ้น ชาวอเมริกันมีรายได้มากขึ้นทำให้การซื้อสินค้าไทยที่แพงขึ้นอยู่ในสัดส่วนที่ ไม่น่าจะแตกต่างจากเดิมมากนักเช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ชาวอเมริกันจะไม่ยกเลิกหรือลังเลเพราะอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน ความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อคุณภาพของสินค้าและการบริการของไทยเป็นปัจจัยสำคัญมาก การเปลี่ยนแปลงราคาขึ้นลงชั่วคราวเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันปรับตัวได้ ขณะเดียวกันประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งของไทยด้านสินค้าและบริการก็มีค่าของเงินเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

เศรษฐกิจไทยนั้นมองได้หลายมุมขึ้นอยู่กับว่าใครอยู่ในสถานะใดและมีฐานยืนที่มั่นคงเพียงใด ตัวอย่างเรื่องการนำเข้าและส่งออกเป็นการมองจากสองด้าน อัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นลงตลอดเวลา ในตลาดเสรีมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

ความสามารถในการวางแผนล่วงหน้าและปรับตัวให้ได้กับสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้การประกอบอาชีพประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม

เงินบาทจะแข็งหรืออ่อน ดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำ ใครได้ใครเสียในแต่ละกาลเทศะนั้น เป็นสิ่งที่เราช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้ผ่านไปได้มาแล้วหลายครั้ง

ไทยโชคดีมากที่พรรคฝ่ายค้านย้ายเข้าบ้านใหม่โดยความสงบ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลโดยมีนายกคนใหม่ทำได้อย่างรวดเร็วและมีภาพลักษณ์การต่อเนื่องของนโยบาย

สิ่งท้าทายหลายอย่างไม่เกินความสามารถที่เราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยเฉพาะหนี้สินของคนกลุ่มเปราะบางและโครงสร้างหนี้ทั้งประเทศ

เศรษฐกิจไทยกำลังเดินไปถูกทางแล้วและจะดีขึ้นจากนี้ไปจนถึงปลายปี ผมมั่นใจครับ